ข่าวเชิงวิเคราะห์ขอดเกล็ดประชานิยม “กองทุนหมู่บ้าน” (ตอนที่ 1)
ศูนย์ข่าวภูมิภาค/ผู้จัดการรายวัน – “กองทุนหมู่บ้าน” ผลักชาวบ้านติดบ่วงหนี้อุบาทว์ สร้างวงจร “หนี้หมุน” ไม่สิ้นสุด ดันหนี้ครัวเรือนพุ่งกระฉูด ซ้ำทำลายระบบออมทรัพย์ชุมชนพังทลาย สวนทางภาครัฐโอ่ประสบผลสำเร็จดีเยี่ยม ชาวประชาปลื้มสุดๆ แท้จริงสร้างภาพลวงตากลบเกลื่อนความล้มเหลวที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลัง
“ศูนย์ข่าวภูมิภาค ผู้จัดการรายวัน” สำรวจตรวจสอบโครงการกองทุนหมู่บ้าน (กทบ.) ทั่วประเทศ หลังรัฐบาลอ้างว่าประสบผลสำเร็จดีเยี่ยมในทุกด้าน และยกระดับกองทุนหมู่บ้านบางแห่งเป็นนิติบุคคลพร้อมจับมือสถาบันการเงินจัดตั้ง “ธนาคารหมู่บ้าน” พบว่า แท้จริงแล้วเป็นเพียงการสร้างภาพลวงตา กลบเกลื่อนปัญหาและความล้มเหลวที่อยู่เบื้องหลัง เพราะนอกจากจะไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน แก้จนได้จริงแล้ว ยังเป็นแรงผลักดันให้ชาวบ้านเข้าสู่วงจรหนี้สินไม่มีที่สิ้นสุดอีกต่างหาก
นายภูมิพัฒน์ คงวารินทร์ ประธานเครือข่ายชุมชน/องค์กรชุมชนแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เปิดเผยว่า ทุกวันนี้กองทุนหมู่บ้านหลายแห่งยังมีปัญหาแทรกซ้อนอยู่ภายใน โดยเฉพาะแนวปฏิบัติที่ไม่ยืดหยุ่นบีบให้สมาชิกคืนหนี้ภายในกำหนด 1 ปี ทำให้ยากที่จะช่วยให้ชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจน มีแต่ขยายวงจรหนี้สินของตนเองและครอบครัวออกไปอีก
นายภูมิพัฒน์ กล่าวว่า จากเดิมชาวบ้านมีหนี้ไม่กี่แหล่ง เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) หรือสถาบันการเงินในระบบ และกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ในชุมชน แต่ขณะนี้ต้องเพิ่ม กทบ.เข้าไปอีก ทำให้วงจรหนี้ของชาวบ้านกลายเป็นลักษณะกู้เงินจาก กทบ.ไปใช้หนี้ ธ.ก.ส./สถาบันการเงินในระบบหรือกลุ่มออมทรัพย์ จากนั้นก็กู้จากสถาบันการเงินเหล่านี้ไปใช้หนี้นอกระบบ แล้วกู้เงินนอกระบบมาปิดบัญชี กทบ. หมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด
ประธานเครือข่ายชุมชนแม่ฟ้าหลวง ให้ข้อมูลว่า ในทุกขั้นตอนของการกู้ ทำให้ “มูลหนี้” ของชาวบ้านเพิ่มขึ้นตลอดเวลา อย่างน้อย กทบ.ก็ต้องจ่ายดอกเบี้ย 6% ต่อปี, ธ.ก.ส./สถาบันการเงินในระบบ/กลุ่มออมทรัพย์ ประมาณ 6-12% ต่อปี, เงินกู้นอกระบบ ดอกเบี้ยเริ่มตั้งแต่ 3, 5, 7, 10, 20% ต่อเดือน เป็นต้น
“ที่ ต.แม่สลองนอก ซึ่งมีอยู่ 11 กองทุน ทุกหมู่บ้านก็เป็นอย่างนี้ แม้ว่าดอยแม่สลอง จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของเชียงรายก็ตาม” ประธานเครือข่ายชุมชนแม่ฟ้าหลวง เล่าสภาพที่เกิดขึ้น
นายเกียรติ คำน้อย สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่พุง ประธานกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 15 บ้านแม่พุงหลวง ต.แม่พุง อ.วังชิ้น จ.แพร่ เล่าว่า สมาชิกกองทุนบ้านแม่พุงหลวงมีทั้งหมด 160 ราย มีไม่ถึง 10% ที่สามารถชำระหนี้ กทบ.ได้ด้วยเงินของ กทบ. เองเมื่อถึงกำหนด ที่เหลือต้องใช้เงินจากแหล่งเงินกู้อื่นๆ มาปิดบัญชีทั้งนั้น
“ถามว่า กทบ.แม่พุงหลวง ปิดบัญชีได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าได้ แต่ถ้าถามว่า ปิดได้เพราะอะไรก็ต้องบอกว่าเพราะแหล่งเงินกู้นอกระบบ ก่อนมีกทบ.มีแหล่งเงินกู้นอกระบบในหมู่บ้านเพียง 2 ราย แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นนับสิบราย เพื่อปล่อยกู้ให้คนในหมู่บ้านนำไปปิดบัญชี กทบ. เมื่อได้เงินกู้จาก กทบ.ก็นำมาชำระคืน ไม่นับบริษัทลีสซิ่ง ไฟแนนซ์ จากนอกชุมชนที่เริ่มตามมาถึงหมู่บ้านกันมากขึ้น
“ก่อนมีกองทุนฯ ชาวบ้านที่นี่รู้จักการกู้หนี้ยืมสินเพียง 20-30% แต่ตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 80% จากจำนวนครัวเรือนทั้งหมดในหมู่บ้านรู้จักการเป็นหนี้หมด” ประธานกองทุนหมู่บ้านแม่พุงหลวง กล่าว
ประธานกองทุนหมู่บ้านแม่พุงหลวง ยังบอกว่า หากมองในแง่ดี กทบ.ก็เพิ่มโอกาสให้ชาวบ้าน ลูกหนี้ กทบ.หลายรายเอาเงินไปสร้างบ้าน ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่เมื่อถามว่าเงินกู้ที่ได้ไปนั้นต่อยอดเป็นเงินเพิ่มหรือไม่ ก็ตอบไม่ได้ แต่หนี้ครัวเรือนเพิ่มหรือไม่ เพิ่มแน่นอน
สำหรับสถานะของกองทุนหมู่บ้านแม่พุงหลวง ในทางเอกสารหรือนิตินัย ต้องยอมรับว่า ประสบผลสำเร็จ ล่าสุดกรรมการกองทุนฯ มีมติกู้เงินจาก ธ.ก.ส.ในอัตราดอกเบี้ย 5% เพิ่มเข้ามาอีก 1 ล้านบาท ทำให้กองทุนมีเงินหมุนเวียนให้สมาชิกกู้เพิ่มเป็น 2 ล้านกว่าบาทแล้ว
ด้านนางบังอร กำเงิน คณะกรรมการเหรัญญิก กองทุนหมู่บ้านบ้านหนองบัวเหนือ หมู่ที่ 4 ต.หนองบัวเหนือ อ.เมือง จ.ตาก เปิดเผยว่า กทบ.มองมุมหนึ่งก็ดี แต่อีกทางหนึ่งก็สร้างหนี้ให้กับประชาชน ชาวบ้านคิดแต่จะกู้เอาไว้ก่อนไม่ได้คิดว่าก็แล้วจะเอาที่ไหนมาคืน เมื่อถึงกำหนดชำระก็ต้องหาเงินกู้หรือขายสมบัติเก่ามาใช้หนี้ ยอมรับว่าชาวบ้านส่วนใหญ่หาเงินกู้นอกระบบมาปิดกองทุน แล้วค่อยกู้เงินกองทุนไปปิดหนี้นอกระบบหรือแหล่งเงินอื่นๆ หมุนกันอยู่อย่างนี้ ตนเองก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน
นายผาย แปลงไธสง ประธานกองทุนหมู่บ้านทุ่งไอ้ตาก หมู่ 13 บ้านทุ่งไอ้ตาก ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ที่ทุ่งไอ้ตากมีสมาชิกขอกู้ กทบ.48 ราย แจ้งวัตถุประสงค์กู้ยืมเพื่อทำนา ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าทั้ง 48 รายนำไปลงทุนทำนาจริงหรือไม่ แต่เท่าที่ทราบส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้นอกระบบกันหมด ตนเองก็กู้ กทบ.1 หมื่นบาทเพื่อไปใช้หนี้นอกระบบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันปิดบัญชี กทบ.ทุกปี ชาวบ้านก็หาเงินมาใช้หนี้คืนได้ครบ
*** เชียงใหม่ หนีไม่พ้นบ่วงหนี้อุบาทว์
สำหรับสถานะของ กทบ.ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะท้องที่ อ.สันกำแพง บ้านเกิดนายก ทุกวันนี้ภาพที่ปรากฏภายนอก ก็คือ ส่วนใหญ่กำลังเดินหน้ายกระดับเป็นธนาคารหมู่บ้าน / ชุมชน ที่มีต้นแบบเกิดขึ้นเมื่อปี 47 ที่ผ่านมาที่บ้านป่าไผ่ หมู่ 7 ต.แช่ช้าง อ.สันกำแพง และภายในสิ้นปีนี้ (48) จะมีอีกไม่น้อยกว่า 7-8 กองทุนฯ ที่จะได้รับการยกระดับเป็นธนาคาร อาทิ บ้านหมู่ 1 บวกค้าง ต.บวกค้าง, หมู่ 5 บ้านสันเหนือ ต.สันกำแพง ที่ได้กำไรมากกว่า 5-6 แสนบาท ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ตาม ในอีกหลายท้องที่ของเชียงใหม่ ประเด็นปัญหาที่ซุกอยู่ใต้บัญชีประจำปีของ กทบ.หลายแห่ง กลับไม่แตกต่างไปจากอีกหลายจังหวัดในภาคเหนือ ที่แม้ว่าจะสามารถปิดบัญชีเงินกู้ได้ลงตัว 100% แต่เมื่อสืบค้นลงไปใต้ตัวเลขที่ปรากฏแล้ว จะพบว่า แหล่งที่มาของเม็ดเงินที่ถูกนำมาปิดบัญชีทุกรอบ ล้วนแต่มาจาก “บ่วงหนี้” ที่บรรดาลูกหนี้กองทุนฯ ต้องแสวงหามาปิดบัญชี เพื่อหมุนเงินต่อ
จ.ส.อ.คะนอง ศรีมา กรรมการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ กล่าวยอมรับว่า พื้นที่ อ.สันทราย หลายหมู่บ้านมีปัญหา เช่น กทบ.หมู่ 5 ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย ที่เขาร่วมเป็นกรรมการอยู่ มีสมาชิกขอกู้เดือนละ 4-5 ราย ๆ ละไม่เกิน 20,000 บาท หรือถ้ารวมตัวเป็นกลุ่มก็ขอกู้ได้ไม่เกิน 50,000 บาท ที่ผ่านมา 80% สามารถชำระคืนเงินกู้ได้หมด จะมีประมาณ 20% ที่มีหนี้เงินกู้เฉลี่ยรายละ 5,000–20,000 บาท ไม่สามารถชำระหนี้ได้
จ.ส.อ.คะนอง กล่าวอีกว่า ในกลุ่มที่มีศักยภาพชำระเงินต้น/ดอกเบี้ยคืนทั้งหมดนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่ารอบปีที่ผ่านมาสามารถนำเงินกู้ที่ได้จาก กทบ.ไปต่อยอดการผลิต หรือประกอบกิจการแต่อย่างใด แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไปกู้เงินจากนายทุนเงินกู้นอกระบบมาชำระเงินกู้ กทบ. ซึ่งที่หมู่ 5 ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย สมาชิก กทบ.ส่วนหนึ่งก็ตกอยู่ในวงจรหนี้ดังกล่าวอยู่ เป็นหนี้ทั้ง กทบ.-เงินกู้นอกระบบไปพร้อมๆ กัน
“ถ้าถามว่ากองทุนหมู่บ้านดีหรือไม่ ขอตอบว่าดี เพราะเป็นแหล่งเงินกู้ของชาวบ้านอีกแห่งหนึ่ง นอกเหนือจากกลุ่มออมทรัพย์ในหมู่บ้าน และเงินกู้นอกระบบ เป็นแหล่งเงินดอกเบี้ยถูกเพียงร้อยละ 0.5 ต่อเดือน ขณะที่ในเงินกู้นอกระบบมีอัตราดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน” จ.ส.อ.คะนอง กล่าว
*** “มีให้กู้ ก็กู้” ปรัชญาลูกหนี้กองทุน
นางวาสนา หม่องนันท์ สมาชิกกองทุนหมู่บ้าน หมู่ที่ 5 ต.บ้านปิน อ.ลอง จ.แพร่ เจ้าของโรงงานเฟอร์นิเจอร์ไม้รายหนึ่งในเมืองลอง กล่าวว่า สถานะของกทบ.ในสายตาของเธอคือแหล่งเงินกู้ใหม่ ต้นทุนต่ำของชาวบ้าน จากเดิมที่ชาวบ้านหมุนเงินกันเฉพาะแหล่งเงินนอกระบบกับ ธ.ก.ส./กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ วันนี้ก็เพิ่ม กทบ.เข้าไปอีกแห่งหนึ่งให้ชาวบ้านหมุนเงิน
“ในเมื่อรัฐมอบสิทธิ์ให้กู้เงินได้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านก็กู้ นั่นเป็นหลักคิดของชาวบ้านในหมู่บ้านส่วนใหญ่คิดกัน ยกเว้นคนที่มีฐานะดีเท่านั้นที่ไม่กู้แต่ก็น้อยมาก
“ถามว่าก็ไปทำอะไร ตอบตามเอกสารก็คือกู้ไปค้าขาย ทำการเกษตร ลงทุน แต่ตอบตามพฤตินัยเกือบร้อยทั้งร้อยก็คือกู้ไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นค่าเทอมลูก ยิ่ง 3 ปีมานี้เศรษฐกิจตกต่ำ ค้าขายทุนก็หายกำไรก็หด ชาวบ้านยิ่งจำเป็นต้องกู้มาใช้จ่ายมากขึ้น” นางวาสนา กล่าว
เธอยังบอกว่า ถ้ามองไปข้างหน้าเราจะเห็นชาวบ้านหลุดพ้นจากวงจรหนี้สินหรือไม่ ต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก เท่าที่ได้พูดคุยคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะบอกว่าก็กู้กันไป จนไม่ไหวสุดท้ายก็รอให้รัฐบาลเข้ามาเคลียร์หนี้ให้ เคลียร์กันอย่างไร ยังไม่ต้องคิด
ไม่เพียงแต่ลูกหนี้กองทุนที่ภาคเหนือเท่านั้นที่ติดบ่วงหนี้อุบาทว์ สภาพลูกหนี้กทบ.ในพื้นที่อื่นก็ไม่แตกต่างกัน ดังเช่นที่จ.หนองคาย นายประสิทธิ์ พงษากลาง ประธานกองทุนชุมชนสามัคคี ต.หาดคำ อ.เมือง จ.หนองคาย ให้ข้อมูลว่า สมชิกกองทุนทั้งหมด 115 รายของหมู่บ้าน มีบางรายที่ใช้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งซื้อหวย เล่นการพนัน ยืมไปใช้หนี้นอกระบบ เมื่อถึงวาระจ่ายเงินคืนกองทุนก็ไม่มีเงินมาส่ง ต้องไปขอกู้จากนายทุนในหมู่บ้านใกล้เคียง ยอมเสียอัตราดอกเบี้ยสูง
*** หนี้พอกพูน งดจ่ายต้นขอชำระแค่ดอกเบี้ย
ปัญหามูลหนี้ของชาวบ้านที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ตามวงจรหนี้ใหม่หลังการก่อกำเนิดขึ้นของ กทบ.นั้น ขณะนี้เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น ที่บ้านสองแคว หมู่ 4 ต.ป่าสัก อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีประชากรอยู่ 90 หลังคาเรือน กองทุนหมู่บ้านเพิ่งจะมีอายุย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ในปีนี้ ปรากฏว่า เมื่อปีกลาย กรรมการหมู่บ้าน และสมาชิกกองทุนทั้งหมด ต้องลงมติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ว่า ขอจ่ายหนี้กองทุนฯเฉพาะดอกเบี้ย ส่วนเงินต้นขอ “ต๊ะ” ไว้ก่อน
นายสมศักดิ์ คำน้อย รองประธานกรรมการ กทบ.หมู่ 4 และนายเกรียงไกร กรุณาวงค์ กรรมการ กทบ.หมู่ 4 บ้านสองแคว บอกเหมือนกันว่า ปีแรกของกองทุนปล่อยกู้สมาชิกได้ 30 กว่าราย ก็สามารถชำระคืนได้หมด พอปีที่ 2 มีการปล่อยกู้อยู่ประมาณ 50 ราย ทั้งหมดก็นำไปประกอบอาชีพจริง ทั้งเลี้ยงหมู / วัว / ทำการเกษตร แต่เกิดปัญหาก็คือ ผลผลิตที่ได้ไม่ตรงกับรอบปิดบัญชี กทบ.ที่ต้องปิดภายใน 1 ปี ทำให้ลูกหนี้ทั้งหมด 50 กว่ารายชำระหนี้คืนกองทุนไม่ได้ ซึ่งสมาชิกกองทุนกับกรรมการ หารือกันแล้ว ถ้าจะต้องปิดให้ได้ ชาวบ้านก็ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาปิด เสียดอกเบี้ย 2 ต่อ ในที่สุดก็ลงมติร่วมกันว่า ให้จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยก่อน ส่วนเงินต้นผ่อนผันไปอีก 1 ปี
“ปีนี้เป็นปีที่ 3 ไม่ได้ปล่อยกู้เพิ่ม แต่ก็ไม่แน่ใจว่า ลูกหนี้ที่กู้ไปเมื่อปีก่อน จะชำระเงินต้นได้หรือไม่ เพราะหมูก็ยังขายไม่ได้ วัวก็ยังไม่ออกลูก ต้องรอกันไม่ต่ำกว่า 3 ปี ให้วัวออกลูกก่อน ค่อยขายแม่วัว ชาวบ้านถึงพอจะได้กำไรจากลูกวัวบ้าง”
*** ทำลายระบบออมทรัพย์ชุมชน
ไม่เพียงแต่สร้างวงจรหนี้ การเข้ามาของ กทบ. ยังสร้างผลสะเทือนต่อระบบการออมของชุมชนที่มีอยู่แต่เดิมไม่น้อย
นายภิญญู รัตนคุณศาสน์ ชาวบ้านชุมชนเทพารักษ์ 5 ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เงินกองทุนหมู่บ้านละล้านบาท ได้ทำลายระบบออมทรัพย์ภายในชุมชน หรือที่เรียกว่า สัจจะออมทรัพย์ ต้องพังทลายลง เดิมแต่ละครอบครัวในชุมชน จะมีการออมทรัพย์ร่วมกันภายในชุมชน ครัวเรือนละ 100 บาท/เดือน โดยเริ่มออมทรัพย์มาตั้งแต่เริ่มตั้งชุมชนหรือหมู่บ้าน สมาชิกที่ออมเงินได้ตามเกณฑ์กำหนดจึงจะสามารถกู้เงินได้ ซึ่งต้องใช้เวลานานมาก
ระบบของสัจจะออมทรัพย์ เป็นระบบที่ดี สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชน เพราะสมาชิกที่ออมเงิน จะมีความรู้สึกผูกพันเป็นเจ้าของเงินร่วมกันสูงมาก ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามัคคีกันในชุมชนสูงมาก เมื่อสมาชิกรายใดกู้เงินกองกลางออกไป จะมีการตรวจสอบก่อน เมื่อกู้ไปแล้วสมาชิกจะติดตามการใช้เงิน การใช้คืนกลับมายังกองทุน เงินสูญหายจึงแทบไม่เกิดขึ้น
ส่วนเงินกองทุนหมู่บ้านในเชิงหลักการ เป็นนโยบายที่ดีของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างเงินกองทุนให้ชุมชน มาใช้บริหารจัดการร่วมกัน ก่อให้เกิดรายได้ในหมู่บ้านและระบบเศรษฐกิจโดยรวม แต่วิธีการใช้เงินเป็นตัวตั้ง ขาดกระบวนสร้างจิตสำนึกร่วมกัน อีกทั้งไม่ได้เตรียมการในแง่การบริหารเงินทุน ให้กับประชาชนก่อน จึงทำให้โครงการกองทุนหมู่บ้านไม่ประสบผลสำเร็จตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้
นายลัภย์ หนูประดิษฐ์ กรรมการสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ และประธานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านคลองหวะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวในทำนองเดียวกันว่า กองทุนหมู่บ้านสวนทางแนวคิดกับออมทรัพย์สัจจะที่ชาวบ้านเก็บสะสมเงินก้อนแล้วค่อยกู้ภายหลัง แต่กองทุนหมู่บ้านให้เงินมากู้แล้วค่อยเก็บ ซึ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีความสมดุลในการใช้เงินหากชาวบ้านยังไม่มีวินัยทางการใช้เงิน ทำให้ระยะเวลาในการชำระ 1 ปี นั้นไม่สามารถทำได้
“กลุ่มออมทรัพย์บางคนก็หลงไปกู้เงินแล้วเลิกออมไปบ้าง แต่ตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าอะไรเป็นอะไร” นายลัภย์ กล่าว
นักพัฒนาชุมชนอาวุโสผู้แพร่ขยายแนวคิดจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ทั่วประเทศ ชี้ว่า การเข้าไปของกทบ.สร้างผลกระทบกับชุมชนที่ตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ โดยเฉพาะในชุมชนที่ยังไม่เข้มแข็งอย่างมาก เพราะวิธีคิดของชาวบ้านจะเปลี่ยนไป คือเลิกออมแล้วหันไปกู้แทน เพราะรัฐส่งเสริมให้กู้ ซึ่งมีเยอะมากแต่เรื่องนี้ไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะขณะที่ชุมชนซึ่งเข้มแข็งจะบูรณาการกองทุนสัจจะออมทรัพย์ กับ กทบ.เข้าด้วยกัน แต่ก็ทำได้ส่วนน้อย และบางแห่งก็แยกกันคนละส่วน
*** ความสำเร็จแค่ภาพลวงตา
ผลการสำรวจดังกล่าวข้างต้นของ “ศูนย์ข่าวภูมิภาค ผู้จัดการรายวัน” ย้ำให้เห็นความล้มเหลวที่ซุกซ่อนอยู่เบื้องหลังคำประกาศความสำเร็จของโครงการนี้อย่างชัดเจน สอดคล้องกับรายงาน ผลการวิจัยของ นายสมชัย จิตสุชน ผอ.สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาส่วนรวมและกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่ระบุว่า อัตราการชำระหนี้คืน กทบ. เท่ากับ 94% ต่อกองทุน โดย 50% ของครัวเรือนระบุว่า ต้องขายสินทรัพย์หรือกู้ยืมจากแหล่งอื่นมาชำระหนี้คืนกองทุน หรือที่เรียกว่า “หนี้หมุน”
ขณะที่รายงานผลดำเนินงานนโยบายกองทุนหมู่บ้านฯ ของสำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) รายงานต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อเดือนมิถุนายน 48 ได้อ้างผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติว่า การชำระคืนเงินกู้ยืมของสมาชิก สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมด ร้อยละ 93.6 ชำระได้บางส่วน ร้อยละ 3.1 เจรจาของผ่อนผัน ร้อยละ 2.9 และส่วนที่คาดว่าจะชำระคืนไม่ได้ ร้อยละ 0.4 โดยเงินกู้ยืมนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ การผลิต การค้าขาย และบริการ ร้อยละ 81.3 บรรเทาเหตุฉุกเฉิน ความเดือดร้อนในครัวเรือน 14.5 ใช้ชำระหนี้เงินนอกระบบ ร้อยละ 3.2 และประโยชน์อื่นๆ 1.0
นายชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ มหาบัณฑิต (เศรษฐศาสตร์การเมือง) มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านถือว่าเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบ้าน และการวัดผลโครงการของรัฐบาลที่วัดว่าบรรลุวัตถุประสงค์โดยดูว่าคืนเงินกองทุนได้ครบหรือไม่ หากครบ 100% ถือว่าสำเร็จนั้น จริงๆ แล้ว คือภาพลวงตาที่ประชาชนหลงปลื้มกับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลโยนมาให้เพื่อยืดลมหายใจ แต่ในความเป็นจริง นี่คือ การเพิ่มวงจรหนี้ให้ชาวบ้าน