xs
xsm
sm
md
lg

ชีวิตมั่นคงของชุมชนชาวประมง ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ดูเหมือนยิ่งนานวันปัญหายิ่งซับซ้อนซ่อนเงื่อน ด้วยพื้นฐานความต่างของชาติพันธุ์ ภาษา และศาสนา หลายต่อหลายโครงการที่รัฐฯทุ่มเทลงไปพัฒนาจึงยังมองไม่เห็นหน้าเห็นหลัง

แต่สำหรับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กลับสามารถใช้ “บ้านมั่นคง” เป็นแนวทางสันติวิธีที่เป็นรูปธรรมตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างรอบด้าน ด้วยยึดถือหลัก “เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ในชีวิต” แต่การให้ชุมชนมีสิทธิ์คิดและกำหนดเส้นทางเดินด้วยตนเองเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อน

อาชีพประมงชายฝั่งดูเหมือนจะเป็นของคู่กันกับพี่น้องชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้มาเป็นเวลานานหากมีโอกาสเดินทางไป 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะสังเกตเห็นชุมชนชาวประมงอาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่น ไม่ว่าจะเป็นบริเวณอ่าวหรือปากน้ำ เช่น ปากน้ำปัตตานี ปากน้ำบางนารา ตลอดบริเวณชายฝั่งหรือปากคลองที่ไหลลงสู่ทะเล

ประมาณการว่า ชุมชนชาวประมงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอยู่ไม่น้อยกว่า 120 ชุมชน กว่า 20,000 หลังคาเรือน ประชากรประมาณหนึ่งแสนคน ทั้งหมดจะอยู่ในจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส โดยการสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น หลายแห่งขาดระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ การบริการพื้นฐานของรัฐเข้าไปไม่ทั่วถึง ทั้งๆ ที่เกือบทั้งหมดล้วนเป็นชุมชนดั่งเดิม บางแห่งอาศัยสืบต่อกันมานับร้อยๆ ปี ได้สั่งสมสืบสานวัฒนธรรม วิถีชีวิตจนกลายเป็นตำนานที่น่าสนใจ บางแห่งพัฒนาจากชุมชนชาวประมงเล็ก ๆ จนกลายเป็นเมืองในปัจจุบัน เช่น ชุมชนปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ชุมชนตาแลตาแป ปากน้ำบางนารา ฯลฯ

การที่ชุมชนเหล่านี้มีความเป็นอยู่ที่ไม่สู่ดีนัก สาเหตุประการหนึ่งเป็นเพราะชุมชนชาวประมงเกือบทั้งหมดตั้งอยู่บนที่ดินของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ดินของกรมเจ้าท่า และกรมธนารักษ์ ชาวบ้านจึงมีข้อจำกัดที่จะพัฒนาที่อยู่ที่อาศัยของตนเองให้มั่นคงได้

ยิ่งในปัจจุบันด้วยแล้ว ความเจริญที่รุกคืบเข้ามา ได้เข้าไปเปลี่ยนวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรมของผู้คนเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ๆ สั่งสมเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษ ยาเสพติด ปัญหาเยาชน โสเภณี และปัญหาคนต่างด้าวที่มาในรูปของแรงงานราคาถูกในกิจการประมง

พี่น้องมุสลิมในเมืองปัตตานี บ่นให้ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่า พอแรงงานราคาถูกจากต่างชาติเข้ามา เขาก็ไม่จ้างพวกเรา ทำให้พวกเราหากินกันลำบากรัฐก็ไม่เคยจัดการกับปัญหาคนต่างด้าว

ที่ผ่านมาพวกเราที่ทำอาชีพประมงชายฝั่ง ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจ ได้มีการรวมกลุ่มกันต่อสู้กับความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้น เช่น ต่อสู้กับพวกเรือใหญ่ที่เข้ามาหาปลาบริเวณชายฝั่ง ต่อสู้กับนายทุนที่รุกล้ำป่าชายเลน หลายแห่งไม่เพียงต่อสู้ในประเด็นร้อนดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังได้รวมกลุ่มกันทำงานพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มชุมชนเมืองที่ทำงานกับโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่

อย่างไรก็ดี แนวคิดทิศทางการพัฒนาชุมชนชาวประมงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ชัดเจนต่อเนื่องและกว้างขวางพอ ประกอบกับยังขาดระบบการสนับสนุนอย่างเข้าอกเข้าใจจากหน่วยงานภายนอก ทำให้ชาวบ้านยังคงประสบกับปัญหาความยากจน ไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย การงานไม่แน่นอน และขาดสุขลักษณะในชุมชน

ราซัน มามะ ชาวชุมชนตาแลตาแป ซึ่งตั้งอยู่ริมน้ำบางนารา เขตเทศบาลเมืองนราธิวาส เล่าว่า มีอาชีพออกเรือหาปลา ทุกวันนี้หากินลำบาก ออกทะเลครั้งหนึ่งก็ได้ราว ๆ 300 บาท จ่ายค่าน้ำมันแล้วเหลือราว ๆ 100 บาท ไม่พอกินพอใช้ เพราะต้องซื้อกินทุกอย่าง ส่วนบ้านก็มีปัญหาน้ำท่วมทุกปี

ด้าน มูฮัมหมัด เดอราพี สามะแอ ประธานเครือข่ายบ้านมั่นคง จังหวัดนราธิวาส บอกว่า ในจังหวัดนราธิวาสตอนนี้ มีการสำรวจชุมชนที่จะเข้าสู่โครงการบ้านมั่นคงแล้ว ทั้งในอำเภอเมืองและตากใบ เบื้องต้นมีถึง 31 ชุมชน ประมาณ 7,000 ครอบครัว ในจำนวนนี้ได้มีการตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยแล้ว 26 ชุมชน แต่คิดว่าจะมีมากกว่านี้ เพราะชุมชนชาวประมงในเขต อบต. ต่าง ๆ ยังมีอีกมาก

“เราไม่มีโอกาสรวมตัวอย่างนี้กันมาก่อน พอรวมแล้วเราก็ได้กลุ่ม ชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของกลุ่ม ได้มาทำกติกาการอยู่ร่วมกัน ได้ออมทรัพย์เพื่อเอาเงินมาช่วยเหลือกัน ได้สร้างความฝันร่วมกันจากที่ต่างคนต่างอยู่ก็มาทำงานร่วมกัน ได้ใจ ได้สร้างมิตรเพราะมีภาคีต่าง ๆ เข้ามาช่วย ท้ายที่สุดมันไม่เพียงได้บ้านแต่นั้นแต่จะได้อาชีพได้สังคม ได้วิถีชีวิตที่พวกเราร่วมกันสร้าง”

สมสุข บุญญะบัญชา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. บอกว่า จริง ๆ แล้วชุมชนชาวประมงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการพัฒนาสูงหากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม

เธอบอกว่า ตอนนี้ พอช. รับผิดชอบ“โครงการบ้านมั่นคง ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ชาวบ้านได้คิดเองทำเอง เราเป็นเพียงผู้สนับสนุน ช่วยแก้ปัญหาที่เกินความสามารถของชุมชน เช่น เราจะเป็นผู้เจรจากับกรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ เพื่อให้ชาวบ้านมีความมั่นคงในที่ดิน เมื่อที่ดินมั่นคง ชาวบ้านก็มีแรงบันดาลใจที่จะพัฒนาชุมชน สังคม รวมทั้งการปรับปรุงบ้านให้ดีขึ้น เรื่องชุมชนของเขาๆ จัดการเอง เราเพียงอำนวยความสะดวกเท่านั้น”

“พอมีบ้านมี่มั่นคงที่ดินที่มั่นคงแล้ว ต่อไปชาวบ้านเขาก็คิดกันเองว่าจะทำอะไรต่อ นักพัฒนาเอกชนและหน่วยงานในท้องถิ่นจะต้องชวนกันมาทำงานร่วมกับชาวบ้านเพื่อร่วมกันคิดว่า สิ่งแวดล้อมในชุมชนจะเอาอย่างไร จะระวังไม่ให้เรือใหญ่เข้ามาแย่งหาปลาได้อย่างไร ลูกหลานคนแก่จะอยู่กันอย่างไร จะมีอาชีพเสริมอะไร ฯลฯ เรื่องนี้คิดว่าชาวบ้านเขาจะรู้ดีที่สุด เราไม่ต้องคิดแทนเขา”

ผอ.พอช. บอกอีกว่า การพัฒนาชุมชนชาวประมงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เป็นแนวทางที่ พอช. มีโครงการทำให้ได้ประมาณ 20,000 ชุมชน ภายในปี 2549 โดยใช้แนวทางของโครงการบ้านมั่นคง เพราะเป็นการพัฒนาจากฐานล่าง ชาวชุมชนเป็นผู้กำหนดชีวิตชุมชนและท้องถิ่นของตนเองอย่างแท้จริง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำรายละเอียดเสนอรัฐบาล

“บ้านมั่นคงกว่า 20,000 ชุมชนนี้จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ สร้างความมั่นคงให้กับคนในชุมชนรวมแล้วประมาณ 4 แสนคน ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 3 ของคนทั้งหมด” ผอ.พอช. บอกกล่าว

เธอยังเล่าว่า การเข้าถึงชุมชนของ พอช. แรกสุดนั้นมองเห็นว่าชุมชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีทุนทางสังคม คือ ความร่วมมือกันในชุมชนสูงมาก ซึ่งจุดนี้อาจเป็นเงื่อนไขทำให้หน่วยงานอื่นถอย แต่สำหรับพอช.กลับมองว่านี่คือจุดแข็ง และเป็นพื้นที่ที่ทำงานได้ดีกว่าจุดอื่นๆ ทั่วประเทศ

ทั้งนี้ เพราะสิ่งที่คนที่นั่นต้องการคือให้สิทธิ์เขาคิดเราเป็นเพียงเครื่องมือเครื่องไม้เข้าไปช่วยเสริมในส่วนที่เขาขาด เราไม่ได้ไปบอกเขาว่าจะต้องเดินอย่างไรแต่บอกเขาว่าถ้าจะเดินให้ดีจะเดินอย่างไร ที่ผ่านมาเขาคงเบื่อสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ ลงไปทำให้ เพราะเขาอยากจัดการเอง ทำได้ ด้วยวิธีการที่เหมาะสมสำหรับชุมชนของเขา เป็นวิถีที่ไม่ได้ยึดถือเงินเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต

“บ้านมั่นคงคือแนวทางสันติวิธีที่เป็นรูปธรรม ชาวบ้านคิดเองได้ จัดการได้ คนเป็นส่วนหนึ่งในระบบที่เขาคิดขึ้นมา ที่สำคัญคือ ตอบโจทย์ปัญหาได้อย่างรอบด้าน ทั้งเรื่องบ้าน อาชีพ สังคม นิติสัมพันธ์ และสิทธิที่ให้เขาคิดเองทำเอง แล้วมันจะไปของมันเอง
 
"แรงสะเทือนจากแนวทางนี้จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นน้อยลง เพราะที่ผ่านมาระบบที่ออกแบบไม่เข้ากันกับชาวบ้าน เขาอยู่อย่างไรเราไม่เข้าใจ จึงถูกแทรกแซงได้ง่าย ป่วนง่าย แล้วเราก็โกรธที่ถูกท้าทาย สุดท้ายก็กลายเป็นแนวร่วมมุมกลับให้ฝ่ายป่วนไปโดยปริยาย” สมสุข มองอย่างวิเคราะห์

วัฒนา เมืองสุข รมต.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในคราวเดินทางไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการในจังหวัดนราธิวาส และปัตตานี เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2548 ว่า พี่น้องกลุ่มนี้มีปัญหาความไม่มั่นคงในที่อยู่อาศัย เนื่องจากสร้างบ้านอยู่บนที่ของทางการ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหานี้ก็คือ ต้องทำให้ชาวบ้านเกิดกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จากนั้นก็จะสนับสนุนให้ได้สร้างบ้านตามแนวทางบ้านมั่นคง ชาวบ้านต้องคิดเองว่าจะสร้างบ้านแบบไหนอย่างไร สันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องเริ่มจากการมีบ้านที่มั่นคงก่อน

“ปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ชาวบ้านมีอาชีพการประมง ซึ่งหากินลำบากขึ้นทุกวัน หาปลาได้น้อยลง อาชีพจึงไม่มั่นคง ทางกระทรวงจะเข้าไปหนุนช่วยในเรื่องอาชีพให้มั่นคง หนุนเรื่องธุรกิจชุมชนที่ชาวบ้านมีพื้นฐานอยู่แล้ว เพราะแม้มีบ้านที่มั่นคง แต่ถ้าอาชีพไม่มั่นคงก็จะอยู่ไม่ได้ สันติภาพเกิดขึ้นไม่ได้”

ในปี 2548 ที่ผ่านมา โครงการที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เป็นเจ้าของ มีสิทธิอย่างเต็มที่ในการกำหนดชีวิตของตนเองอย่าง “บ้านมั่นคง” ได้ลงหลักปักฐานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว 3 ชุมชน คือ ปะนาเระ ปูโป๊ะ และนาเกลือ จังหวัดปัตตานี และกำลังขยายไปที่อำเภอตากใบ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จำนวน 500 ครอบครัว

ปี 2549 ที่จะถึงนี้ “ชีวิตมั่นคงของชุมชนชาวประมงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้” ก็จะมีทางออกอย่างขนานใหญ่ ซึ่งจะเป็นครั้งสำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ชาวชุมชนจะได้ร่วมกันสมานฉันท์กับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ความสงบสุขและสันติภาพในชีวิต

เรื่องและภาพโดย ..... สุวัฒน์ คงแป้น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)
กำลังโหลดความคิดเห็น