สัมภาษณ์พิเศษ ‘น.อ.ไตรขวัญ ไกรฤกษ์’ ..... ความกดดันที่ตันหยงลิมอ
โดย ... ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ****
“ผมยังตกเป็นจำเลยของสังคมทหารด้วยกันว่าทำไมไม่ตัดสินใจไปช่วยชีวิตลูกน้องทั้งสองคน นี่เป็นเรื่องที่ทำให้ผมเครียดอยู่จนถึงทุกวันนี้ เมื่อรู้ว่าลูกน้องถูกจับนั้น รู้สึกว่าเข้าไปช่วยก็ตาย ไม่เข้าไปก็ตาย แต่ในเมื่อต้องตายแล้วจะทำอย่างไรให้สิ่งดีๆ มันเกิดขึ้น
การสูญเสียลูกน้องไปสองคน ยังมีส่วนดีอยู่ที่ว่าได้มีการสร้างอะไรขึ้นมาบ้าง อย่างน้อยก็ทำให้ทุกฝ่ายได้มาขบคิดกันอย่างจริงจังเสียทีว่า การทำงานโดยยึดหลักกฎหมายอย่างเดียวนั้น มันยังเป็นข้อจำกัดในพื้นที่นี้”
น้ำเสียงของเขาสั่นเครือ แวบหนึ่งเราเห็นน้ำตาคลออยู่ในดวงตาทั้งสอง
นี่คือความรู้สึกที่อยู่ในใจของ น.อ.ไตรขวัญ ไกรฤกษ์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน ผู้บังคับบัญชาของเรือตรีวินัย นาคะบุตร และจ่าเอกคำธร ทองเอียด สองนาวิกโยธินซึ่งถูกจับ และถูกทำร้ายจนเสียชีวิตที่บ้านตันหยงลิมอ
เขาบอกว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ ผู้ใต้บังคับบัญชาของเขาทั้งสองไม่ควรจะเข้าไปยังที่นั่น
“เมื่อรู้ว่าเกิดเรื่องขึ้น เขาก็อดที่จะเข้าไปดูด้วยความเป็นห่วงไม่ได้ ด้วยความเป็นคนรู้จักกันเหมือนญาติพี่น้อง คำธร อยู่มาสิบปี เด็กลูกหลานแถวนั้นก็เป็นคนรู้จักกัน” ผู้การไตรขวัญเริ่มต้นด้วยการย้อนภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เราได้ทราบในทุกขั้นตอน
“ทราบเรื่องตอนประมาณ 4 ทุ่มว่ามีทหารนาวิกโยธินโดนจับ ก็ตรวจข่าวจากเจ้าหน้าที่ข่าวต่างๆว่าเป็นใคร และเข้าไปได้อย่างไร มาทราบว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในจุฬาภรณ์ 5 ซึ่งมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับชาวบ้านในละแวกนั้น ก็ได้เข้าไปดูเหตุการณ์ มีการเช็กข่าวเป็นระยะๆ ทราบว่าทางนายอำเภอระแงะได้เดินทางเข้าไปในที่เกิดเหตุแล้ว เพราะชาวบ้านนั้นได้เจรจาอยากได้ฝ่ายปกครองเข้าไปมากกว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร แต่ก็ได้มีการตรึงกำลังไว้ที่พัน ร.301 ที่อำเภอระแงะ มีการปรึกษาหารือกันที่นั่น
นายอำเภอวิตกว่าเหตุจะเกิดเหมือนกับกรณีของ ตชด. ที่ชาวบ้านเข้าใจผิดว่าเป็นโจรนินจา ผมได้เพิ่มเติมกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษเข้ามาเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา มีการประสานงานทุกฝ่ายว่าจะให้ใครเข้าช่วย และประสานกับประธานกรรมการอิสลามนราธิวาส แต่ท่านก็ติดงานอยู่ที่กรุงเทพฯ มีการนำเรียนไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 ว่าในสถานการณ์อย่างนี้ว่าจะใช้กำลังได้หรือเปล่า ซึ่งทางแม่ทัพได้บอกให้ลองเจรจาดูก่อน
และทางนายอำเภอเองรู้จักกับท่านนัจมุดดีน อูมา มีการโทร.คุยกัน ท่านนัจมุดดีนมีลูกน้องซึ่งเป็นอดีตเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยได้มีการติดต่อกันทางโทรศัพท์ และท่านนัจมุดดีนก็ได้เดินทางไปยังที่เกิดเหตุด้วยเวลาประมาณเที่ยงคืนกว่า
เมื่อนายนัจมุดดีนมาถึงก็ได้มีการติดต่อประสานกับทางข้างในหมู่บ้าน และได้เล่าให้ฟังว่า ข้างในได้มีการจับตัวผู้ต้องสงสัยไว้ที่ศาลาใกล้มัสยิด และได้ใช้ให้ผู้หญิงนั่งล้อมเพื่อไม่ให้ผู้ชายเข้าไปทำร้าย แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะทางผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้านนั้นรู้จักกับทั้งสองเป็นอย่างดี เพราะเป็นผู้ที่เข้ามาพัฒนาหมู่บ้าน มีการพูดกันว่าทั้ง 2 นายไม่ใช่คนร้ายที่ก่อเหตุยิงที่ร้านน้ำชา แต่ก็มีแกนนำคอยปั่นหัวชาวบ้านอยู่ ซึ่งไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นคนในพื้นที่หรือนอกพื้นที่
ขณะนั้นฝ่ายทหารเองได้มีการคุยกันว่าจะทำอย่างไรกับสถานการณ์นี้ มีการเขียนสรุปสถานการณ์ และให้ทางนายอำเภอตรวจสอบว่าสถานการณ์เป็นอย่างที่เขียนไว้ในสรุปสถานการณ์ของเราหรือไม่
จากนั้นให้ทางนายอำเภอนำไปชี้แจงและอัดเทป ซึ่งได้ให้มีการจัดทำเป็น 2 ภาษา ทั้งภาษาไทย และภาษายาวี เพื่อออกสื่อให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งได้ทำขึ้นมาประมาณ 03.00 น. แต่ก่อนที่จะทำเสร็จ ทางข้างในได้มีการเจรจาว่าจะมีการมอบตัวผู้ต้องสงสัยให้ โดยให้ทางผู้ว่าฯเข้ารับตัวตอน 6 โมงเช้า ขณะนั้นได้มองเห็นถึงแสงสว่างที่จะใช้สันติวิธีและสามารถนำคนของเราออกมาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อที่จะให้ทางชาวบ้านเห็นว่าทางทหารเองก็รักษากฎหมาย
ขณะนั้นเรายังมองว่าคนของเรานั้นเป็นผู้ต้องสงสัย เพราะเมื่อทางชาวบ้านจับได้แล้ว เราก็ต้องเรียกว่าผู้ต้องสงสัย และค่อยนำมาสอบสวนว่าผิดหรือถูก และจะต้องสืบสวนว่าพวกเขาเป็นคนยิงหรือไม่ หรือมีพยานเห็นหรือไม่ ซึ่งมีกระบวนการอยู่แล้ว ถ้าเราไม่ยึดถือกฎหมายแล้วเราจะยึดถืออะไรกัน เพราะทุกวันนี้เราต้องการกฎหมาย ทุกส่วนและทุกองค์กรอิสระต้องการกฎหมาย ก็เลยเอากฎหมายเข้าช่วย เพื่อให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ชุดนี้ที่ลงมาทำงานเราใช้กฎหมายเข้าจับ ไม่ได้ใช้เพียงแค่ความรุนแรง
เมื่อมองเห็นลู่ทางก็ได้มีการนำเสนอให้ทางผู้ว่าฯ รับทราบว่าในเวลา 6 โมงเช้า เชิญไปรับตัวผู้ต้องสงสัยและได้มีการเรียนไปยังแม่ทัพภาค ว่าขนาดนี้ทางชาวบ้านได้มีการเปิดช่องทางเอาไว้ โดยที่แกนนำของชาวบ้านนั้นเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ที่เหลือนั้นไม่ทราบเหมือนกันว่ามีใครบ้างเพราะฟังภาษายาวีไม่รู้เรื่อง
เมื่อถึงตอนเช้านัจมุดดีนได้ขอตัวไปละหมาด และกลับมาตอน 6 โมง ต่อมาท่านผู้ว่าฯเดินทางมาถึง คิดว่าชาวบ้านจะยอมให้เข้าไป แต่ชาวบ้านได้บอกว่าให้ผู้ว่าฯ เข้าไปได้คนเดียว แต่ท่านบอกว่าเข้าไปคนเดียวนั้นคงไม่ได้เพราะพูดภาษายาวีไม่รู้เรื่อง ต้องให้มีปลัด นายอำเภอเข้าไป รวมไปถึงนายนัจมุดดีนเข้าไปด้วย เพราะรู้จักในพื้นที่เป็นอย่างดี
เมื่อเข้าไปได้สักพักก็ได้รับการติดต่อว่าทางชาวบ้านต้องการให้มีผู้สื่อข่าวเข้าไปทำข่าวก่อนที่จะปล่อยตัว ก็ได้รีบเรียกให้ผู้สื่อข่าวเข้าไป เพราะมีผู้สื่อข่าวอยู่ในพื้นที่ 2 คน ก็รีบเข้าไปเพื่อที่จะได้ข่าวเป็นชุดแรก แต่ก็ถูกปฏิเสธจากกลุ่มผู้หญิงที่รวมตัวกันอยู่หน้าหมู่บ้าน ซึ่งกลุ่มผู้หญิงบอกว่าไม่ได้ถ้าไม่มีนักข่าวจากประเทศมาเลเซียเข้ามา ซึ่งตอนแรกไม่รู้ว่าชาวบ้านมีการเรียกร้องให้นักข่าวมาเลเซียเข้ามา มารู้อีกทีตอนที่นักข่าว 2 คนเดินออกมา
คณะของทางผู้ว่าฯได้เข้าไปถึงบริเวณมัสยิด ผมไม่ได้คุยกับในรายละเอียดกับทางผู้ว่าฯมากนัก เพราะขณะนั้นมีฝ่ายต่างๆ โทรศัพท์เข้ามาสอบถามสถานการณ์อยู่ตลอด ฉะนั้นผมจึงมองหาเพียงแค่ประเด็นใหญ่ๆ ว่าลูกน้องที่ถูกจับอยู่นั้นได้กินอะไรบ้างหรือเปล่า ซึ่งในขณะนั้นก็ไม่มีใครที่จะได้คุย และก็ไม่ทราบด้วยคนที่เจรจานั้นเจรจาอย่างไร
ด้วยความที่เป็นผู้บังคับบัญชานั้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน รู้เพียงว่าจะต้องทำอย่างไรก็ได้ที่จะให้ลูกน้องนั้นออกมาให้ได้ ขณะนั้นมีการถามนักข่าวที่อยู่ในบริเวณนั้นว่ามีใครเป็นนักข่าวที่มาจากประเทศมาเลเซียบ้าง ถ้าไม่มีก็ช่วยติดต่อให้หน่อย ผู้สื่อข่าวที่อยู่ในที่ตรงนั้นก็ช่วยโทร.ติดต่อให้ แต่ส่วนใหญ่นั้นอยู่ทางกัวลาลัมเปอร์ และอยู่ไกลมาก จากนั้นต้องใช้ความคิดอีกว่าจะทำอย่างไรกันดี
และได้มีการรายงานไปให้แม่ทัพทราบอยู่ตลอดเวลา แต่ทางแม่ทัพนั้นติดภารกิจซึ่งมีความสำคัญมากอยู่ กระทั่งมีช่องว่างช่วงหนึ่งเลยได้รายงานให้ท่านแม่ทัพทราบ และทางแม่ทัพเองคงติดต่อไปยัง กอ.สสส.จชต. ให้ทางท่านรองศิริชัย (นายศิริชัย โชติรัตน์ รอง ผอ.กอ.สสส.ฝ่ายการข่าว) โทร.กลับมา จึงรายงานให้ทราบว่าทางชาวบ้านต้องการอย่างนี้ จะเลือกวิธีไหน ถ้าให้ใช้กำลังก็คงมีเหตุการณ์บานปลาย แต่ถ้าให้ผู้สื่อข่าวมาเลเซียมาใครจะยอมรับหรือใครจะรับผิดชอบในจุดนี้ เพราะผมเป็นหน่วยปฏิบัติและรอว่าจะให้ทำแบบไหน ก็ยังไม่มีการตัดสินใจในขณะนั้น
จากนั้นได้มีการติดต่อกลับมาใหม่ และจะมีการให้จัดหาเฮลิคอปเตอร์ไปรับนักข่าวมาเลเซีย ที่สุไหงโก-ลก”
ความหวังที่จะนำตัวทหารนาวิกโยธินทั้ง 2 นายกลับออกมาอย่างปลอดภัยเริ่มมีมากขึ้น แต่ไม่นานนักความตึงเครียดก็กลับเข้ามาอีกครั้ง และครั้งนี้รุนแรงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่านัก!
“เวลาประมาณบ่าย 2 ทางปลัดอำเภอที่เข้าไปเจรจาได้เดินออกมาหา ท่าทางเหมือนคนหมดอาลัยตายอยาก ท่านปลัดเรียกผมเข้าไปคุย บอกว่าให้เตรียมรถพยาบาลมาได้แล้ว เพราะคนของเราถูกตี ซึ่งผมเองก็ได้ยินเสียงของชาวบ้านห้ามชาวบ้านด้วยกันเองว่า “อย่าไปทำอะไรเขา จะไปทำเขาทำไม” เหตุการณ์นี้เกิดก่อนที่จะมีการนำเฮลิคอปเตอร์ไปรับผู้สื่อข่าวมาเลเซีย พอจะนำรถเข้าไปรับผู้ที่บาดเจ็บ นักข่าวก็ได้เดินทางมาถึง
ในช่วงเวลานั้นเองผมก็ไม่ได้เข้าไปถึงจุดที่มีการเจรจา ซึ่งใกล้กับจุดที่ควบคุมตัวคนของเราเอาไว้ พยายามขอเข้าไปแต่ทางชาวบ้านไม่ยอม ทางชาวบ้านมีการเลือกตัวผู้ที่จะให้เข้าไปเหมือนกัน จะมีแกนนำที่คอยกำกับอยู่ว่าให้ใครเข้าไปได้บ้าง
เมื่อผมไม่ได้เข้าผมก็ได้เตรียมกำลังไว้อย่างเดียว ซึ่งกำลังที่เตรียมอยู่พัน ร.301 ได้มีการขยับเข้าไปที่ตันหยงลิมอ แต่ได้มีการวางกำลังไว้ให้ห่างเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเห็นว่าได้มีการนำกำลังเข้าไป และได้มีการประสานไปยังกำลังตำรวจว่าขอกำลังปราบจราจลเตรียมไว้หน่อย ผมก็มีขั้นตอนของผมว่าผมยอมได้แค่ไหน และจะมีการเข้าจู่โจมในช่วงไหน มีการรายงานไปยังผู้บังคับบัญชา แต่ผู้บังคับบัญชาบอกให้ใช้วิธีการอย่างสันติ ได้ยื้อเวลาออกไปอีก ปล่อยให้เหตุการณ์มันดำเนินไปตามที่มีการต่อรองกัน
แนวทางที่ตัวผมคิด ผมเองก็ไม่ต้องการที่จะใช้กำลัง เพราะจะเข้าทางกับดักของเขาแน่นอน และคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกน้องผมนั้นรอดชีวิต ซึ่งเห็นเพียงแค่แสงรำไรแต่ก็ได้นำแสงรำไรนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ และโอกาสที่จะได้หรือไม่ได้นั้นมันน้อย”
นี่คือภาพเหตุการณ์ที่ผู้การไตรขวัญฉายออกมาให้เห็น ซึ่งสะท้อนว่า นับแต่ทราบว่าผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งสองถูกจับตัวไปนั้น แต่ละนาทีที่ผ่านไป เต็มไปด้วยความตึงเครียดยิ่ง
“เมื่อรู้ว่าลูกน้องถูกจับนั้น ผมรู้อยู่แล้วว่าเข้าไปช่วยก็ตาย ไม่เข้าไปก็ตาย แต่ในเมื่อต้องตายแล้วจะทำอย่างไรให้สิ่งดีๆ มันเกิดขึ้น
ทางเลือกในตอนนั้นก็คิดถึงการใช้กำลังกับการไม่ใช้กำลัง แต่การใช้กำลังนั้นคงเป็นไปไม่ได้เลย เพราะถ้าใช้ไปนั้นเหตุการณ์ก็คงจะใหญ่แน่ๆ
แต่ถ้าไม่ใช้กำลังใช้วิธีการสันติโดยการนำนักข่าวมาเลเซียเข้ามา หากผู้สื่อข่าวเข้ามาได้ ทางชาวบ้านก็รู้เหมือนกันว่าปัญหาจะเกิดกับเขาด้วย นักข่าวก็จะเห็นว่า เราทำตามกฎหมายทุกอย่าง เพราะคนของเราทั้ง 2 คนนี้เป็นผู้ต้องสงสัย ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าเมื่อได้ตัวผู้ต้องสงสัยนั้นต้องรีบส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย แต่เขามาจับพันธนาการไว้ และในการพันธนาการแบบเหี้ยมโหด อะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา และประชาชนในหมู่บ้านตันหยงลิมอที่ไม่เห็นด้วยนั้นจะรู้สึกอย่างไร อันนี้จะเป็นผลร้ายกับเขา
ฉะนั้น สิ่งสุดท้ายที่จะต้องทำก็คือ ต้องตาย เพื่อหนึ่งจะให้ชาวบ้านนั้นอย่าหือ ข้าฆ่าหมด นั่นคือสิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อว่าเขากำหนดแผนการขั้นสุดท้ายไว้เช่นนี้ เพราะจากกรณีของ ตชด.ที่ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโจรนินจา ก็มีลักษณะเดียวกันนี้”
ผู้การไตรขวัญ บอกว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดที่สุดในขณะนั้นก็คือในช่วงการตัดสินใจครั้งแรกว่าจะใช้กำลัง หรือไม่ใช้กำลัง เพราะมีเงื่อนไขของการนำนักข่าวมาเลย์เข้ามา แต่เมื่อกลับมาใช้แบบสันติวิธี ความเครียดก็ลดลงบ้าง แต่ก็ยังมีอยู่เพราะว่าลูกน้องยังไม่ออกมา พอมีการเลื่อนระยะเวลาออกไปทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว เพราะเมื่อผู้สื่อข่าวมาทหารทั้งสองนายก็ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตไปแล้ว
“โดยเงื่อนไขที่ถูกกำหนดไว้ในขณะนั้นก็คือ การนำกำลังเข้าไปต้องเกิดจากหลังที่นักข่าวมาเลเซียเข้ามา และก็จะมีการเสนออะไรขึ้นมาอีก เพราะเมื่อทางนักข่าวมาเลย์เข้ามาฟัง มวลชนในนั้นก็จะมีการพลิกหมดเลย และชาวบ้านก็จะได้ตามข้อเรียกร้องและก็จะไม่มีเงื่อนไขใดๆ และก็ไม่สามารถที่จะแสดงอิทธิฤทธิ์ใดๆ ได้อีก เมื่อนักข่าวมาเลย์เข้ามาเห็นสภาพของเจ้าหน้าที่ 2 คนที่ถูกผูกมัดรัดตรึงขนาดนั้น ก็จะประณามพวกที่ทำอย่างนี้เอง
เขากระทำมีการพันธนาการอย่างทารุณ ตอนที่ไปรับศพผมเห็นว่าทั้งสองคือ มือ เท้านั้นเขียวหมด เพราะการรัดนั้นแน่นมาก ซึ่งหากนักข่าวจากมาเลย์ได้เห็นภาพนั้น เขาก็จะเข้าใจทันทีว่ามันเกินไป นี่ไม่ใช่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยแล้ว แต่กลับกลายเป็นนักโทษที่รอประหาร
เขาบอกว่าแนวทางสันติวิธีที่ไม่ใช้กำลังเลยนั้นอาจจะไม่ได้ผล อย่างกรณีที่เกิดขึ้น ผลสุดท้ายก็ต้องพบกับความสูญเสีย ในช่วงเวลาวิกฤตที่ต้องหาทางช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งสองออกมาให้ได้นั้น เขาได้กำหนดแผนการใช้กำลังแบบสันติวิธีเอาไว้แล้ว
“ในการเข้าชิงตัวประกันนั้น จะให้นักข่าวอยู่ตรงกลาง และเดินไปกับกำลังทหาร และให้มีการบันทึกภาพไว้ตลอดเวลา กำลังส่วนหน้านั้นต้องเป็นตำรวจ เพราะการสลายฝูงชนนั้นเป็นหน้าที่ของตำรวจ และทหารก็จะเข้าไป และตรงกลางนั้นเป็นนักข่าวโดยที่จะให้นักข่าวนั้นเป็นคนเก็บข้อมูลว่าเราเข้าไปอย่างไร และเข้าไปนั้นก็ไม่ได้เข้าไปทุบตีเพราะเข้าไปแล้วจะหยุด และมีการเจรจาเสนอว่ามารับตัวผู้ต้องสงสัยไปดำเนินการตามกฎหมาย โดยให้ตำรวจในอำเภอ ทหารเข้าไปด้วยกันตามหลักการว่าไปเอาตัวผู้ต้องสงสัย นั่นคือแนวทางที่จะใช้กำลังในลักษณะนี้ ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง
เราจะย้อนเกล็ดเขา หากต้องการนักข่าวเราก็จะใช้นักข่าวบ้าง เข้าไปพร้อมกันเลยว่าทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองเข้าไป เพื่ออะไร เพื่อกฎหมาย รักษากฎหมาย ไม่ได้เข้ามาทำร้ายใคร การเข้าไปตั้งใจว่า ตำรวจจะเดินหน้าถือแต่โล่กับกระบอก ทหารจะเฉียงอาวุธ แต่ไม่บรรจุกระสุน ตรงกลางจะมีผู้สื่อข่าวที่ถูกกำลังห้อมล้อมไว้ แล้วจะเดินเข้าไป แหวกเข้าไป กระทั่งถึงที่คุมขัง ผู้แทนทั้ง 3 ฝ่าย ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองจะเข้าไปบอกเขาว่า ขอตัวผู้ต้องสงสัยมาดำเนินคดี
สมมติว่ามีการยิงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะยิงไปที่ใครก็แล้วแต่ เราจะหมอบลงโดยไม่มีการยิงตอบโต้ ให้เขาเห็นเลยว่าพวกเราไม่ได้ยิง แต่จะเกิดอะไรขึ้น จะมีคนตายเพิ่มอีกไหม ทุกแนวทางเสี่ยงต่อการสูญเสียทั้งหมด ในเมื่อเป้าหมายสุดท้ายของเขาก็คือการสร้างเหตุการณ์ร้ายให้เกิดขึ้น คนตัดสินใจต้องตีโจทย์ออก
ผมก็คงใช้สันติ เพราะโดยเนื้อแท้ผมต้องประเมินสถานการณ์ด้วยว่าหากใช้กำลังแล้วคนของเราจะอยู่ไหม หรือหากไม่ใช้กำลังแล้วจะอยู่ไหม ทั้งสองทางอย่างไรเขาก็ไม่รอด ผมเป็นจำเลยของสังคมทหารที่คิดอย่างนี้
อีกฝ่ายหนึ่งเขามีเป้าหมายสุดท้าย คือต้องเป็นเช่นนี้ แล้วเราจะเข้าไปเพื่อไปเอาซากศพเพิ่มเติมหรืออย่างไร แล้วมาทำให้ชาติเราถูกแทรกแซงหรืออย่างไร เพราะประเทศไทยใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ยิงแม้กระทั่งเด็กทั้งที่เราไม่ได้ยิง ข่าวต่างๆ มันเข้ามาว่าเขาเตรียมการตรงนี้ไว้
การตัดสินใจจุดนั้น ผมก็ของอาศัยแสงความหวังริบหรี่ว่าจะได้มา”
เราตั้งคำถามสำคัญประการหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อสงสัยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า นโยบายในการคลี่คลายสถานการณ์ชัดเจนพอหรือไม่ว่าถึงขั้นไหนจะทำอย่างไร?
ซึ่งผู้การไตรขวัญเปิดอกตอบอย่างตรงไปตรงมาอย่างยิ่งว่า
“ยังไม่มีการกำหนดเหมือนกฎการปะทะ ดังนั้นจึงต้องมีกฎการปะทะว่าเราจะยืนอยู่ได้จนถึงจุดไหนถึงจะเริ่มใช้กำลัง นี่คือส่วนหนึ่งที่ กอ.สสส.จชต.จะต้องมีแนวทางกฎการปะทะนี้ออกมาว่าหน่วยปฏิบัติจะตัดสินใจได้ที่จุดไหน ในเรื่องอะไรได้บ้าง และหากตัดสินใจไปแล้วเรื่องลุกลาม จะต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่งไม่ใช่ผู้ปฏิบัติในขณะนั้น เพราะจะต้องพูดถึงสิ่งนี้ให้ชัดเจนว่าไม่ใช่มีอะไรขึ้นมาก็ลงที่ผู้ปฏิบัติอย่างเดียว หากเป็นอย่างนี้ต่อไปก็ไม่มีใครทำ
ผมไม่แหยง ไม่มีใครแหยงหรอก แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะตัดสินใจตรงจุดนั้น ตัดสินใจมาสิ สถานการณ์คราวนี้จะบอกว่าไม่มีคนไม่กล้าตัดสินใจคงไม่ใช่ เพราะมีคนตัดสินใจที่จะเอานักข่าวมาเลย์เข้ามา ตัดสินใจไม่ใช้ความรุนแรง แต่ในภาวะขณะนั้นมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เข้ามา ทำให้ติดต่อกับผู้มีอำนาจตัดสินใจได้ลำบาก ขั้นตอนยืดยาว
และมาถึงคำถามสุดท้ายว่า ความรู้สึกของทหารเป็นอย่างไรบ้างเมื่อมาเจอเหตุการณ์เช่นนี้
“ผมยังตกเป็นจำเลยของสังคมทหารด้วยกันว่าทำไมไม่ตัดสินใจไปช่วยชีวิตลูกน้องทั้งสองคน นี่เป็นเรื่องที่ทำให้ผมเครียดอยู่จนถึงทุกวันนี้ ผมกำลังคิดหาทางอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้เขาได้เข้าใจในจุดนั้น ซึ่งมีสภาวะที่ถูกกดดันมาก เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนในแต่ละระดับเข้าใจ แต่หากทุกสื่อพยายามช่วยทำให้เขาได้เข้าใจว่า สิ่งที่สูญเสียไปนั้นไม่เปล่าประโยชน์สิ่งที่ได้กลับมานั้นมหาศาล อย่าไปคิดแก้แค้นซึ่งไม่เกิดประโยชน์”
นั่นเป็นข้อเท็จจริงและความรู้สึกจากใจของผู้ควบคุมแผนปฏิบัติการทั้งหมด ณ เหตุการณ์วิกฤตที่บ้านตันหยงลิมอ
เป็นสิ่งที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต้องกลับมาคิดทบทวนอย่างจริงจัง เพื่อมิให้ต้องเกิดความสูญเสียไม่ว่ากับฝ่ายใดขึ้นมาอีกทั้งนี้สิ่งที่ต้องตระหนักให้มากก็คือ แนวทางนั้นจะต้องยึดมั่นในสันติวิธี ลดเงื่อนไขการใช้ความรุนแรงให้มากที่สุด
----------------------
**** หมายเหตุ - ศูนย์ข่าวอิศราฯ จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ เพื่อเป็นสำนักข่าวกลางในการรายงานสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้อย่างรอบด้านในทุกมิติ
........
ประมวลข่าวเกี่ยวเนื่อง "สังหาร2นายทหารนาวิกโยธิน-ตันหยงลิมอ"