xs
xsm
sm
md
lg

เปิดโรงเรียนรัฐบาลสอน ‘อิสลามศึกษา’ นำร่องปฎิรูปการศึกษาชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอมฏอน ปันจอร์
ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

“เรียนศาสนาอย่างนี้ทำให้เรามีพื้นฐานทางที่ดี แม้ว่าจะไม่เข้มข้นเท่ากับที่ปอเนาะก็ตาม” นิมาซิรา นิแม นักเรียนสาวชั้น ม.6 วัย 17 ปี แห่งโรงเรียนศิริราษฎร์สามัคคี กล่าวด้วยเสียงอันเจื้อยแจ้วใต้ผ้าคลุมฮิญาบสีเรียบง่ายที่ดูงดงาม ระหว่างคาบเรียนวิชาอัลกรุอานและตัฟซีร (อรรถาธิบาย) ในห้องเรียนศาสนาของชั้น 6

หากแวะผ่านมาเผินๆ เราอาจเข้าใจว่าโรงเรียนของ “นิมะซิรา” คงไม่ต่างกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามทั่วไป เนื่องจากภาพของนักเรียนที่อยู่ในเครื่องแต่งกายอันถูกต้องตามหลักศาสนา อีกทั้งครูอาจารย์ที่สวมหมวกซอเกาะฮ์และนุ่งโสร่งอยู่หน้าห้องเรียน แต่ทว่า “โรงเรียนศิริราษฎร์สามัคคี” แห่งนี้กลับเป็นโรงเรียนมัธยมของรัฐในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน]

“ภูมิใจค่ะที่เรียนที่นี่ เพราะเป็นโรงเรียนมัธยมแห่งแรกที่มีการสอนศาสนาควบคู่ไปกับสายสามัญ” นิมาซิรา ผู้วาดหวังไว้ว่าหลังจบ ม.6 ในปีหน้าจะสอบเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์บอกกับเรา

เพื่อนของเธอคนหนึ่งกำลังท่องอัลกรุอ่านใน “ซูเราะห์(บท) ยาซีน” กับอุซตาซอยู่หน้าชั้นเรียนอย่างเคร่งเครียด ในขณะที่เธอและเพื่อนที่เหลือเฝ้ารอเวลาหมดคาบ เพื่อเปลี่ยนไปเรียนในวิชาต่อไป

โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ริมถนนสายหลักระหว่างอำเภอ แทรกอยู่ท่ามกลางชุมชนอันสงบเงียบในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี เป็นโรงเรียนมัธยมของรัฐแห่งแรกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เปิดสอนหลักสูตรศาสนาอิสลามในช่วงบ่ายทุกวัน

ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระแสสังคมที่สาดแสงไฟลงสู่ “สถาบันศึกษาปอเนาะ” ซึ่งถูกมองด้วยมายาคติ กระทั่งมีแนวคิดเสนอให้ยุบปอเนาะ ขณะเดียวกันนโยบายปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจาตุรนต์ ฉายแสง ที่จะให้มีการสอนศาสนาและภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีของท้องถิ่น จึงเป็นเรื่องที่ต้องเพ่งมองอย่างไม่กระพริบตา

“เป็นแนวคิดและความต้องการของชาวบ้านมาตั้งนานแล้ว เขาอยากให้ลูกหลานได้เรียนสายสามัญ ในขณะเดียวกันก็อยากให้เรียนสายสามัญที่เข้มข้นด้วย แต่ว่าทางรัฐเองที่มีปัญหา ติดข้อจำกัดมากมาย ทำให้ไม่มีใครกล้าทำ” จุมพล ทองใหม่ ผู้อำนวยการโรงเรียนศิริราษฎร์สามัคคีเล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของการนำร่องเปิดสอนอิสลามศึกษาเต็มรูปแบบในโรงเรียนของรัฐ

เขาแจกแจงข้อจำกัดของทางการให้เห็นว่า ทีผ่านมาไม่เคยมีนโยบายที่โรงเรียนในชุมชนสามารถตอบสนองความต้องการของชาวบ้านได้ นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณสนับสนุน จึงไม่มีโรงเรียนใดกล้าเริ่มต้น แต่ทว่า ผลที่ได้รับในมุมกลับคือการจัดการเรียนการสอนที่ไม่สอดคล้องกับชุมชน ทำให้ผู้ปกครองของเด็กต่างหันไปส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาแทน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย โดยเปิดโอกาสให้ผู้บริหารโรงเรียนมีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ในฐานะของ “หลักสูตรเพิ่มเติม (ท้องถิ่น)” ทางโรงเรียนจึงหารือกับผู้ปกครองและผู้นำศาสนาในท้องถิ่น เพื่อนำหลักสูตรอิสลามศึกษาเข้ามาปรับสอนอย่างเต็มรูปแบบ

“ที่จริงแล้ว เราทำกันมาก่อนเกิดเหตุรุนแรงที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ จะว่าไปแล้วเรามีการผลักดันกันมาตั้ง 20 ปีแล้ว แต่ติดข้อจำกัดที่ทางการเองก็ยังไม่เข้าใจ”

ก่อนหน้านี้ โรงเรียนประจำอำเภอแห่งนี้มีพัฒนาการในการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2545 หลังจากที่ผู้ปกครองบางส่วนเรียกร้องกับทางโรงเรียนให้เพิ่มเติมวิชาการด้านศาสนาให้มากขึ้น ส่งผลให้ทางโรงเรียนปรับเพิ่มวิชาศาสนาให้เป็นวิชาเลือกอีก 5 ชั่วโมง จากเดิม 2 ชั่วโมง และใช้ครูอาจารย์มุสลิมที่สอนอยู่ในวิชาสามัญสอนเพิ่มเติมให้

“ปัญหาที่พบในตอนนั้น คือนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ยอมเลือกเรียน เพราะว่าเป็นวิชาเลือก เด็กๆ ที่เรียนที่นี่เขาตั้งใจเรียนสายสามัญเหมือนโรงเรียนมัธยมปกติอยู่แล้ว ที่ต้องการให้สอนศาสนามากขึ้นเป็นความต้องการของผู้ปกครอง” นิมะนาเซ สามะอาลี ครูใหญ่ของโรงเรียนศิริราษฎร์สามัคคีเล่าให้ฟัง และย้อนความว่าแผนการปรับเปลี่ยนเดิมยังรวมถึงการศึกษาในช่วงชั้นประถมศึกษา โดยร่วมกับโรงเรียนบ้านดูวา แต่พบว่ายังไม่มีความพร้อม การเดินหน้าในโรงเรียนมัธยมจึงริเริ่มอีกครั้งในปีการศึกษา 2546

ครูนิมะนาเซ เล่าต่อว่า เมื่อมาตรการดังกล่าวไม่สามารถจูงใจให้นักเรียนเลือกเรียนศาสนาได้ตามที่ผู้ปกครองต้องการ ประกอบกับความเชื่อถือในตัวครูอาจารย์ยังมีน้อยกว่าบรรดาครูสอนศาสนาในสถาบันปอเนาะหรือโรงเรียนสอนศาสนา ส่งผลให้ผู้ปกครองบางรายขอย้ายบุตรหลานออกจากโรงเรียน ทางโรงเรียนจึงเข้าหารือกับทางผู้ปกครองและผู้นำศาสนาในท้องถิ่นในเวลาต่อมา

“สำหรับมุสลิม คนเป็นพ่อแม่มีหน้าที่ต้องบังคับให้ลูกเรียนศาสนา เหมือนกับคำว่า ปอเนาะ นอกจากจะแปลว่าโรงเรียนศาสนาแล้ว ยังอ่านได้อีกว่า “เปาะ (พ่อ) เนาะ (ต้องการ)” เรื่องนี้ต้องบังคับกัน เพราะจะเป็นประโยชน์กับเขาในอนาคต” สุมิตร ยามาเจริญ กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนและเป็นหนึ่งในผู้ปกครองกล่าวถึงการให้ความสำคัญของการศึกษาศาสนาอย่างอารมณ์ดี

ส่วน กามารียะฮ์ ต่วนยี ผู้ปกครองของอดีตนักเรียน 3 คนจากโรงเรียนแห่งนี้กล่าวย้ำว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกหลานของตนได้รับการศึกษาด้านศาสนา และก็ต้องการให้ได้รับการศึกษาสายสามัญที่เข้มข้นด้วยเช่นกัน ในขณะที่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาและปอเนาะที่มีอยู่ใกล้เคียง ยังมีข้อจำกัดในความหนักแน่นของวิชาการสายสามัญ นอกจากนี้ ตัวเธอเองยังไม่อยากส่งลูกไปเรียนไกลๆ การปรับเปลี่ยนหลักสูตรของโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอให้มีการเน้นหนักการสอนศาสนาด้วยจึงเป็นความต้องการของเธอและชุมชนในที่สุด

“เด็กที่จบจากที่นี่ก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าที่อื่น สามารถเรียนต่อได้หลายคน แต่ที่สำคัญเขามีศาสนาติดตัวไปด้วย”

ครูใหญ่ เล่าให้ฟังต่อว่า หลังจากมีบทเรียนในการจัดการเรียนการสอนในปี 2545 และพบว่ายังมีข้อที่ต้องปรับปรุงอยู่หลายด้าน การหารือระหว่างโรงเรียนกับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้ปกครอง รวมทั้งผู้นำศาสนาในนามของสมาคมอีหม่ามคอเต็บบิล้าลอำเภอมายอ ได้ข้อสรุปถึงการปรับเอาหลักสูตรอิสลามศึกษาปี 2546 มาใช้เต็มรูปแบบในปีต่อมา

“ทางสมาคมฯ เขาสนับสนุนเราอย่างเต็มที่ อุซตาสที่มาสอนเด็กๆ หลายคนเป็นโต๊ะอีหม่ามอยู่ที่มัสยิดแถวนี้ หรือไม่ก็เป็นครูที่สอนอยู่ในปอเนาะแถวนี้อยู่แล้ว ชาวบ้านจึงให้ความไว้วางใจ”

นอกจากนี้ การจัดการเรียนการสอนด้วยหลักสูตรอิสลามศึกษาที่กำหนดให้คาบเช้าเรียนสามัญ และในคาบบ่ายเรียนศาสนาคล้ายคลึงกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม สร้างความพอใจให้กับผู้ปกครองและชุมชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คาบที่เรียนในแต่ละวันจึงมีการเรียนสายสามัญ 6 คาบในช่วงเช้าจาก 8.20 น. จนถึง 12.20 น. และมีการเรียนการสอนสายศาสนาในช่วงบ่ายจาก 13.00 น. จนกระทั่งถึง 15.00 น. เนื่องจากต้องเรียนศาสนาให้ครบ 15 คาบต่อสัปดาห์ตามหลักสูตร หรือ 600 ชั่วโมงต่อปี

หลักสูตรอิสลามศึกษาเปิดสอนในระดับ “อิบติดาอียะฮ์” หรือ “อิสลามศึกษาตอนต้น” โดยแบ่งเป็น 6 ระดับชั้น ซึ่งเป็นหลักสูตรที่คล้ายคลึงกับการเรียนการสอนในโรงเรียนตาดีกาทั่วไป ส่วนในชั้นต่อมาคือในระดับ “มูตาวัซซีเฏาะฮ์” หรือ “อิสลามศึกษาตอนกลาง” มีอยู่ 3 ระดับชั้น ส่วนในระดับสุดท้ายคือ ระดับ “ซานาวียะฮ์” หรือ “อิสลามศึกษาตอนปลาย” อีก 3 ระดับชั้น

“ตั้งแต่เปิดมา 2 ปียังไม่มีใครได้เรียนถึงระดับซานาวียะฮ์เลย เพราะว่าเกณฑ์ไม่ถึง” ครูใหญ่ ผู้จัดการหลักสูตรกล่าว ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดลำดับชั้นในสายศาสนาต้องเริ่มจากการสอบวัดระดับก่อนเข้าเรียน โดยข้อสอบวัดระดับจะมาจากบรรดาอุซตาซที่มาช่วยสอน ชั้นเรียนศาสนาในตอนบ่ายในแต่ละห้องจึงค่อนข้างมีความหลากหลาย ซึงอาจจะมีนักเรียนตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 เรียนคละกันไป

ในหลักสูตรที่นักเรียนต้องเรียนให้ครบ 15 คาบต่อสัปดาห์ กำหนดไว้ 9 วิชา อันได้แก่ เตาฮีด (หลักศรัทธา) แบเกาะฮ์ (ศาสนบัญญัติ) ประวัติศาสตร์อิสลาม ศัพท์ภาษาอาหรับ ภาษายาวี จริยธรรม อัลกรุอาน และฮาดิส (วจนะของศาสดา) โดยกำหนดให้เรียนวันละ 3 คาบในช่วงบ่าย

อับดุลรามัน ยูโส๊ะ หนึ่งใน 9 อุซตาสที่สอนในโรงเรียนแห่งนี้ เผยว่า ในชุมชนมุสลิมหน้าที่ของผู้มีความรู้คือต้องสร้างความเข้าใจในเรื่องศาสนา เพื่อนำพาเยาวชนไปสู่ความสำเร็จในชีวิตและนำพาสังคมไปสู่แนวทางที่ถูกต้องตามทัศนะอิสลาม

“ที่นี่มีมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ จึงทำอย่างนี้ได้ แต่ที่จริงแล้วการสอนแบบนี้น่าจะจัดให้มีอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยทั่วไปตามแต่ความพร้อมของชุมชน สอดคล้องกับวิถีชีวิต ประเพณีของชาวบ้าน”

ผอ.จุมพล ยังขมวดเป้าหมายในตอนท้ายให้ฟังว่า นักเรียนในโรงเรียนของรัฐจะต้องไม่เสียโอกาสที่จะได้เรียนศาสนาตามวิถีชีวิตอันดีงามของชาวมุสลิม ซึ่งในอดีตถือว่านักเรียนที่เรียนในโรงเรียนของรัฐต้องเสียโอกาสตรงนี้ไป นอกจากนี้ เขายังมองว่าการจัดหลักสูตรอย่างนี้ ก็เพื่อเน้นหนักในคุณภาพด้านศีลธรรมของนักเรียน ที่มีปัญหาจากพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปในทางที่ไม่ดี เขาย้ำว่าความรู้ศาสนาอาจจะช่วยเหลือตรงจุดนี้ได้

“อีกเป้าหมายหนึ่ง คือต้องการพัฒนาการเรียนรู้ด้านศาสนาให้ถูกต้อง มีความเป็นสากล และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตที่อยู่ในท่ามกลางสังคมที่หลายเชื้อชาติและศาสนา”

แม้ว่าการนำร่องนำการศึกษาอิสลามศึกษามาใช้ในโรงเรียนแห่งนี้ จะเพิ่งเริ่มตั้งไข่ได้เพียง 2 ปี ยังไม่มีนักเรียนที่จบการศึกษาภายใต้โครงสร้างหลักสูตรใหม่ให้แสดงผลงานได้อย่างชัดเจนนัก แต่ก็เป็นนิมิตหมายอันดีระหว่างชุมชนมุสลิมและโรงเรียนของรัฐที่มีความร่วมมือในท่าที่ที่ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และพร้อมจะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน แม้ว่าจะเป็นความก้าวหน้าในพื้นที่เล็ก ๆ แต่อาจเป็นตัวอย่างและช่องทางสำหรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมแห่งความสมานฉันท์ในอนาคต

สำหรับแนวทางในอนาคต คงต้องรอดูว่านโยบายปฏิรูปการศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชุมชนของรัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการ จะได้ผล สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนในพื้นที่นี้ได้จริงหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น