xs
xsm
sm
md
lg

ลอยแพชาวสวนยางป่าสงวน สกย.อ้างก่อนหน้าหละหลวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ชาวสวนยางร้องถูกงดรับทุนสงเคราะห์สวนยางหลังให้ข่าว ขณะที่ สกย.อ้างไม่กล้าเซ็นให้ทั้งๆ ที่ได้รับทุนกันมาตั้งหลายราย เพราะหวั่น จนท.เลือกปฏิบัติ ด้านหัวหน้า สกย.สงขลาระบุงดให้ทุนกับชาวสวนยางในป่าสงวนเด็ดขาด ยอมรับที่ผ่านมาหละหลวมพิสูจน์เขต เหตุป่าไม้ไม่พร้อม

หลังจากที่ "ผู้จัดการรายวัน" ตีพิมพ์รายงานข่าวเกี่ยวกับโครงการสวนยางเอื้ออาทรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสัมภาษณ์ความเห็นของเกษตรกรบางรายที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายโครงการสวนยางเอื้ออาทร โดยระบุตรงกันว่าค่าตอบแทนไม้ยางพาราในโครงการนั้นน้อยกว่าราคาท้องตลาดทั่วไปอยู่มาก ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ได้รับอนุมัติราคาจากบริษัท เคทูวี ฟอร์เรสท์ตี้ จำกัด ไปแล้วเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2547 และกำลังอยู่ในระหว่างรอการเซ็นสัญญา

ล่าสุด นางสมบูรณ์ สุวรรณมณี ชาวสวนยาง ม.6 ต.คลองหอยโข่ง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา เปิดเผยว่า หลังจากเป็นข่าวออกไป เจ้าหน้าที่จากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ได้ไปหาตนที่บ้าน และระบุว่าไม่สามารถเซ็นอนุมัติทุนสงเคราะห์ให้กับตนได้ เนื่องจากมีสวนยางอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ทั้งนี้ตนได้ทำเรื่องขอทุนสงเคราะห์ไปเมื่อ 2 เดือนก่อน โดยมีหลักฐานเป็นใบ ภบท.5 และการรับรองจากผู้ใหญ่บ้าน ในขณะที่ชาวสวนรายอื่นๆ ที่อยู่ใกล้ๆ กันก็กำลังขอทุนสงเคราะห์ได้เช่นเดียวกัน

นางสมบูรณ์กล่าวอีกว่า สวนยางของตนเป็นมรดกตกทอดมาจากรุ่นพ่อที่เข้ามาบุกเบิกหมู่บ้านใหม่ๆ ก่อนหน้าจะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาวังพา แม้จะไม่มีเอกสารสิทธิแต่สวนยางแปลงนี้ตนก็เคยขอทุนสงเคราะห์มาแล้วเมื่อปี 2530 เหมือนกับชาวสวนรายอื่นๆ ซึ่งต่างก็ทยอยกันโค่นไม้ยางแก่เพื่อปลูกทดแทน และขอทุนสงเคราะห์จาก สกย. ได้มาโดยตลอด

“สวนยางของเราไม่ได้ติดเขตป่าใหญ่ซึ่งเป็นป่าสิริกิติ์ ที่ผ่านมาก็ขอทุนได้ไม่มีปัญหาอะไร เราเองก็ไม่ค่อยมีฐานะ ก็หวังพึ่งเงินจากกองทุนฯ เพื่อช่วยปลูกยางใหม่”

ด้านนายจรัญ ช่วยเอียด ชาวบ้าน ม.6 ต.คลองหอยโข่ง สมาชิกประชาคมรักษ์ป่าต้นน้ำผาดำ ระบุว่า พื้นที่สวนยางดังกล่าวอยู่ใกล้หมู่บ้านและทำกินกันมาตั้งแต่รุ่นก่อน ตอนนี้กลายสภาพเป็นสวนยางหมดแล้ว ไม่เหลือเค้าว่าจะเป็นป่า ต่างกับเขตป่าสิริกิติ์ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปที่ยังคงความเป็นป่าดิบชื้นที่จำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้ ทั้งนี้ทางประชาคมเองก็เห็นว่าพื้นที่สวนยางในเขตป่าสงวนนี้ทางราชการควรสนับสนุนให้มีการทำสวนยางต่อไป

“การยกเลิกทุนสงเคราะห์ของ สกย.เพียงรายเดียวถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน หากจะทำก็ต้องมีมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด” นายจรัญกล่าว

นายประสิทธิ หมีดเส็น หัวหน้าสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จ.สงขลา 1 กล่าวว่า เกษตรกรที่อยู่ในเขตป่าสงวนฯ ซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ทางราชการออกให้ตามระเบียบของ สกย.แล้ว ไม่สามารถขอทุนสงเคราะห์ได้ และที่ผ่านมาทางเกษตรกรได้รับเซ็นจากผู้ใหญ่บ้านและกำนันรับรองว่าสวนยางของตนไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนฯ ซึ่งถ้าหาก สกย.พบก็จะสามารถเพิกถอนการให้ทุนได้ทันที แม้ว่าเกษตรกรเหล่านั้นจะมีส่วนในการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม นายประสิทธิกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาหากสวนยางใดอยู่ในพื้นที่ที่หมิ่นเหม่ว่าจะอยู่ในเขตป่าสงวนฯ ทาง สกย.จะต้องประสานให้ทางเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้พิสูจน์ ซึ่งยอมรับว่า สกย.ก็หละหลวม ไม่ได้ดำเนินการทุกรายไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้มีจำนวนน้อย ไม่เพียงพอในการพิสูจน์ สกย.จึงให้เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันในการรับรอง

หัวหน้า สกย.สงขลา 1 กล่าวต่อว่าตอนนี้ สกย.ไม่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรที่ถูกเพิกถอนทุนสงเคราะห์ได้ ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะให้ความช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้อย่างไร สำหรับพื้นที่คลองหอยโข่งไม่มีสวนยางที่เข้าโครงการสวนยางเอื้ออาทรได้ เพราะเป็นป่าอนุรักษ์ซึ่งห้ามทำประโยชน์ในกรณีดังกล่าว นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก.และป่าเศรษฐกิจที่กำลังจะเป็นเขต ส.ป.ก. ซึ่งอาจประสบกับปัญหาความล่าช้าในการอนุมัติเป็นเขต ส.ป.ก.

ด้านแหล่งข่าวเจ้าหน้าที่ สกย.ระดับพื้นที่ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ สกย.ในบางพื้นที่ก็ทราบดีว่าสวนยางที่ขอทุนเข้ามาก็อยู่ในป่าสงวนฯ ซึ่งก็พบว่าบางพื้นที่เองก็แปลงเป็นที่ทำกินของเกษตรกรไปหมดแล้ว มิหนำซ้ำบางพื้นที่ยังเป็นการประกาศพื้นที่เขตป่าสงวนทับพื้นที่ชาวบ้านเดิมอีกด้วย จึงมีการอะลุ่มอล่วยให้ทุนสงเคราะห์กันไป แต่ก็มีบ้างที่มีการแจ้งความจับเจ้าของสวนยางที่อยู่ในเขตป่าสงวนฯ ซึ่งก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนไป
กำลังโหลดความคิดเห็น