เรื่องโดย ..... แสงจันทร์ สีดำ
ลำไยฤดูกาลใหม่กำลังจะออกสู่ตลาดในปลายเดือนเม.ย.นี้แล้ว แต่รัฐบาลยังสาละวนอยู่กับการไล่บี้ทุจริตลำไยปี 47 ซึ่งกำลังหาทางปิดเกมด้วยการเชือดผู้บริหารอตก.สังเวย ทั้งที่ความจริงใครๆ ก็รู้ว่างานนี้เป็นใบสั่งของนักการเมืองใต้ร่มธงไทยรักไทย
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลั่นวาจาชัดเจนว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญคือการเข้ามาล้างบางทุจริตโครงการแทรกแซงราคาลำไย ซึ่งมีปัญหาทุจริตยืดเยื้อเรื้อรังมาหลายปีโดยต้องจัดการให้เสร็จโดยเร็วเพื่อเก็บรับบทเรียนวางแผนแก้ไขปัญหาฤดูกาลใหม่ที่ผลผลิตลำไยกำลังจะออกสู่ตลาดในเดือนเม.ย.นี้
ลำไย สินค้าการเมืองฉาวซ้ำซาก
หากมองย้อนกลับไปจะพบว่า ลำไย กลายเป็น “สินค้าการเมือง” หลังปี 2543 เป็นต้นมา เพราะผลผลิตลำไยเพิ่มมากขึ้นจากการค้นพบสารโพรแตสเซียมคลอเรทเร่งผลผลิตโดยบังเอิญ ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือด้วยการรับจำนำและแทรกแซงราคาโดยดำเนินการแก้ไขปัญหาในลักษณะเฉพาะหน้าแทบทุกปี การขาดการวางแผนล่วงหน้าทำให้กลายเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือแก้ปัญหาไม่ทันการณ์
นิกร ยาอินตา ประธานกรรมการบริษัทนิกรเทคโนโลยีการเกษตร จำกัด ระบุในผลศึกษาปัญหาและความล้มเหลวของนโยบายรัฐบาลในการประกันราคาลำไยปี 2547 ว่า วงจรอุบาทว์เกิดขึ้นในวงการลำไยตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ปีนั้นรัฐบาลมีโครงการประกันราคาลำไยอบแห้ง กลุ่มพ่อค้าคนกลางหลอกล่อเกษตรกรนำลำไยไปจำนำกับรัฐบาลในราคา กก.ละ 44.10 บาท (AA) โดยพ่อค้าเพิ่มเงินให้อีกกก.ละ 12 บาท แลกกับการเซ็นใบมอบอำนาจให้สิทธิพ่อค้าเป็นเจ้าของใบประทวนเพื่อให้พ่อค้านำใบสิทธินี้ไปจำนำลำไยหรือไถ่ถอนลำไยเมื่อราคาได้ราคาดี
ต่อมาเมื่อปี 2545 ผลผลิตลำไยล้นตลาดและเกิดปัญหาซ้ำรอยอีก รัฐบาลรับจำนำเกรด AA ในราคา 72 บาท เกรดอื่นลดหลั่นกันไป แต่ในความเป็นจริงเกษตรกรจะถูกหักค่ากล่อง ค่าตรวจสอบคุณภาพ (QC) และค่าหัวคิวกก.ละ 1-2 บาท โดยพ่อค้าคนกลางซึ่งตั้งเป็นจุดรับจำนำให้รัฐบาลจะได้เงินค่าหัวคิวจากเกษตรกรแล้วยังรับซื้อลำไยจากเกษตรกรที่ต้องการเงินด่วนและขายถูกกว่าราคาจำนำ แต่เกษตรกรต้องนำใบเกษตรกรมาให้เพื่อพ่อค้าจะได้สวมสิทธิ์ในการจำนำกับรัฐ
แหล่งข่าวจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) กล่าวว่า การทุจริตในโครงการแทรกแซงลำไยเมื่อปี 2545 มีการสวมสิทธิ์ กว้านซื้อใบเกษตรกรมายื่นต่ออตก. และองค์การคลังสินค้า (อคส.) เกิดปัญหาลำไยลม ลำไยไร้คุณภาพ การทุจริตเกิดขึ้นในระดับเจ้าหน้าที่ระดับล่างร่วมมือกับเกษตรกร โดยยังมีลำไยค้างสต็อกบางส่วนที่นำมาผสมปนกับลำไยอบแห้งปี 47 ด้วย
ส่วนปี 2546 นั้น รัฐบาลตัดสินใจเข้าแทรกแซงโดยให้มีโครงการรับจำนำลำไยล่าช้า โดยลำไยส่วนใหญ่ 70% อยู่ในมือพ่อค้าคนกลางแล้ว เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่รอโครงการรับจำนำของรัฐบาลไม่ไหวจึงขายสิทธิ (ใบเกษตรกร)ให้พ่อค้าคนกลางทั้งยังขายในราคาถูกกว่าราคารับจำนำของรัฐบาล
ลำไยปี 47 คอร์รัปชั่น ระดับนโยบาย
กล่าวจำเพาะโครงการแทรกแซงตลาดลำไย ปี 2547 นับเป็นครั้งแรกที่กระทรวงเกษตรฯ วางนโยบายชนิดรับเหมาทำเองทั้งกระบวนการ และวางแผนดำเนินการทั้งหมด นับตั้งแต่เสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการดำเนินการ กำกับ ควบคุม ดูแลและติดตามการดำเนินงาน
หากย้อนกลับไปสืบค้นจากเอกสารหลักฐานโครงการแทรกแซงตลาดลำไยปี 47 จะพบว่ามีข้อกังขาตั้งแต่ระดับการกำหนดนโยบาย ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกประกาศเชิญชวนผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการรับซื้อ แปรรูปและการตลาดลำไยอบแห้ง ปี 2547 ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. 47 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วม “..... เสนอแผนงานโครงการรับซื้อลำไยสดและเสนอวิธีการบริหารจัดการรวมทั้งกระบวนการในการแปรรูปลำไยและการจัดจำหน่ายลำไยอบแห้ง.....”
การออกประกาศเชิญชวนนี้ กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการไปล่วงหน้าก่อนที่จะได้รับอนุมัติโครงการจัดการลำไย ปี 47 จาก คชก. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 47 นั่นหมายถึงกระทรวงเกษตรฯ ตัดสินใจว่าจะดำเนินการกับผลผลิตลำไยอย่างไร ก่อนจะเอาเรื่องเข้า คชก. เพื่อขออนุมัติแล้ว
ประเด็นที่สอง เหตุใดกระทรวงเกษตรฯ (โดยการเห็นชอบของ คชก. ในภายหลัง) ต้องเข้าไปรับซื้อลำไยสดขณะที่ปีที่ผ่านๆ มาเป็นการรับจำนำลำไยอบแห้ง และเมื่อย้อนกลับตรวจสอบจากรายงานสรุปผลการประชุม คชก. ครั้งที่ 5/2547 (ครั้งที่145) วันพุธที่ 16 มิ.ย. 47 ณ ห้องธำรงนาวาสวัสดิ์ อาคารสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ไม่ปรากฏว่ามีคำชี้แจงเหตุผลใดๆ ถึงการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในระดับที่สำคัญดังกล่าวต่อที่ประชุม คชก.
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงองค์ประชุม คชก. ในการประชุมดังกล่าวก็อาจไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไม่มีคำโต้แย้งหรือคำชี้แจงเหตุผลเรื่องการเปลี่ยนเงื่อนไขมาซื้อลำไยสด เพราะผู้เสนอเรื่องโครงการจัดการตลาดลำไย ปี 47 สู่ที่ประชุมก็คือ สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งสวมหมวกในตำแหน่งรองประธาน คชก. อยู่ด้วย
แหล่งข่าวระดับผู้บริหาร อ.ต.ก. ชี้ว่า การกำหนดนโยบายรับซื้อลำไยสดเป็นเรื่องของกระทรวงฯ และ คชก. ทาง อตก.ที่รับนโยบายมาดำเนินการทีหลังไม่รู้เรื่องมาก่อน หากถามความเห็นจาก อ.ต.ก. แต่ต้นก็คงไม่เห็นด้วย เพราะเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการจัดการลำไยสดนั้นเป็นเรื่องยุ่งยากยิ่งกว่าลำไยอบแห้ง เนื่องจากลำไยสดหลังเก็บเกี่ยวแล้วต้องอบให้ทันภายใน 1-2 วัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการเน่าเสีย
อ.ต.ก. ได้สรุปสาเหตุของปัญหาและอุปสรรคในรายงานผลการดำเนินงานโครงการจัดการตลาดลำไย ปี 2547 ของ อตก. เมื่อเดือนธ.ค. 47 ด้วยว่า โครงการจัดการตลาดลำไยปี 2547 เป็น “โครงการใหม่ที่กระทรวงเกษตรฯ และ อ.ต.ก.ไม่เคยดำเนินการในลักษณะนี้มาก่อน”
บิ๊กก.เกษตรฯกำกับทุกขั้นตอน
สำหรับขั้นตอนดำเนินการหลังได้รับอนุมัติจาก คชก. กระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานเพื่อเตรียมการ ควบคุม กำกับ ดูแล และติดตามการดำเนินงานของโครงการให้มีเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รัดกุม มีประสิทธิภาพ ดังนี้
1) คณะกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางในการดำเนินงานแก้ไขปัญหาลำไยปี 2547 โดยมีนายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน มีหน้าที่พิจารณาวางแผน กำหนดหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการดำเนินงาน รวมทั้งวงเงินค่าใช้จ่ายเสนอต่อรมว.กระทรวงเกษตรฯ ให้ความเห็นชอบและขอสนับสนุนงบประมาณจาก คชก. รวมถึงกำกับ ดูแล ให้ข้อคิดเห็น เสนอแนะ พร้อมรายงานผลดำเนินงานให้ทราบเป็นระยะ ลงนามคำสั่งโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 47
2) คณะทำงานติดตามการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาลำไยปี 2547 โดยมีนายอำพน กิตติอำพน รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ (ขณะนั้น) เป็นประธาน มีหน้าที่ติดตาม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัด รายงานการดำเนินการ พร้อมกับรายงานผลดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค ให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ฯ ทราบเป็นระยะ ชุดนี้ นายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงฯ ลงนามในคำสั่งเมื่อ 23 มิ.ย. 47
3) คณะทำงานติดตามการดำเนินงานแก้ไขปัญหาลำไยปี 2547 ระดับจังหวัด ลงนาม โดยมี นายธวัชชัย สำโรงวัฒนา รองเลขาฯ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประธานคณะทำงาน จ.เชียงใหม่, นายเรวัตย์ ฤทธาภรณ์ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ประธานคณะทำงาน จ.ลำพูน, นายสรพล เถรพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประธานคณะทำงาน จ.เชียงราย,
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล รองผอ.สนง.มาตรฐานสินค้าเกษตรฯ เป็นประธานคณะทำงาน จ.ลำปาง และนายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองอธิบดีกรมประมง ประธานคณะทำงาน จ.น่าน มีหน้าที่ติดตาม สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งรัดและรายงานข้อมูลการดำเนินการในจังหวัดที่รับผิดชอบ รวมทั้งรายงานผลดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ปัญหาลำไยให้คณะทำงานติดตามฯ ทราบเป็นประจำ ลงนามโดยนายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 47
ส่วน คณะกรรมการเตรียมการโครงการแปรรูปและการตลาดลำไยอบแห้ง โดยมีนายชวาลวุฑฒ ไชยนุวัติ รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ลงนามโดย นางยลวิไล ประสมสุข ผอ.กองคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงฯ เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 47 นั้น เป็นคณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นก่อนหน้าที่จะมีการเสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติโครงการต่อ คชก. คณะกรรมการฯ ชุดนี้ มีหน้าที่ดำเนินการในส่วนการออกประกาศเชิญชวนและตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้เสนอเข้าร่วมโครงการและสรุปเสนอปลัดกระทรวงฯ เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
หากพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ข้างต้นแล้ว จะพบว่า ผู้บริหารกระทรวงทั้งนักการเมืองเจ้ากระทรวง ปลัดกระทรวง รองปลัด ฯลฯ คือผู้มีอำนาจหน้าที่วางหลักเกณฑ์ กำกับดูแล ตรวจสอบ รายงานผล โดยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบไปได้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาไม่ว่าลักษณะใด
เงื่อนงำทำงบโครงการเพิ่ม
ในเวลาต่อมา นายชวาลวุฑฒ ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมการโครงการแปรรูปฯ นำเสนอรายงานต่อนายบรรพต หงษ์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 47 เลขหนังสือ กษ 0208.01/1030 สรุปว่า ตามที่กระทรวงฯ ได้รับมอบหมายจากคชก.ให้รับผิดชอบแก้ไขปัญหาลำไยอย่างเป็นระบบครบวงจร จึงเสนอแผนจัดการตลาดลำไยปี 47 ซึ่งคาดว่าจะมีผลผลิตประมาณ 500,000 ตันเสนอครม.รับทราบเมื่อ 1 มิ.ย. 47 และเสนอต่อ คชก. เพื่อขอรับเงินสนับสนุน ซึ่ง คชก. เห็นชอบตามที่เสนอ กระทรวงเกษตรฯ จึงเสนอเรื่องต่อครม.เพื่อพิจารณาโดยให้ อ.ต.ก. กู้ยืมเงิน จำนวน 5,303 ล้านบาท จากสถาบันการเงินของรัฐเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนตามแนวทางที่กำหนด
ถึงบรรทัดนี้ หากย้อนไปตรวจสอบจากรายงานการประชุม คชก. เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 47 จะพบว่า คชก. มีมติอนุมัติงบโครงการนี้รวมทั้งสิ้น 4,323 ล้านบาท (เฉพาะแปรรูปและการตลาดลำไย 3,945 ล้านบาท) โดยให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้กู้ แต่เมื่อนำเรื่องเข้าครม.งบกลับเพิ่มขึ้นไปถึง 5,303 ล้านบาท
แหล่งข่าวจาก อ.ต.ก. บอกว่า ตอนแรกสุดที่รู้มาแค่ 3,000 ล้าน ตอนเข้า คชก. เพิ่มเป็นเกือบ 4,000 ล้าน พอเสนอครม. อนุมัติ กลับเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5,000 ล้าน แล้วโยนมาให้อ.ต.ก. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัด เป็นผู้กู้เพราะกระทรวงฯ กู้เองไม่ได้
“กระทรวงคิดเองทำเอง เขาไม่ได้อยากให้ อ.ต.ก.เข้าไปยุ่ง แต่พอกู้เงินไม่ได้ถึงลากเอา อ.ต.ก.เข้าไปในตอนหลัง แถมทำงบเพิ่มขึ้นในตอนหลังอีกต่างหาก” แหล่งข่าว กล่าว
เปิดประมูลก่อนครม.อนุมัติ โครงการ
ไม่เพียงแต่มีเงื่อนงำในการทำงบประมาณเพิ่มเท่านั้น การวางนโยบายรับซื้อลำไยสดโดยเตรียมแผนให้บริษัทเอกชนในเครือข่ายเข้ารับประมูลอบแห้งรายเดียวก็ถูกวางไว้ก่อนหน้าที่ คชก.และครม.จะอนุมัติโครงการด้วยซ้ำไป โดยรายงานที่นายชวาลวุฑฒ เสนอต่อปลัดกระทรวงเกษตรฯ (นายบรรพต หงษ์ทอง) ในวันที่ 24 มิ.ย. 47 ชี้ให้เห็นชัดเจน ดังเนื้อความในหน้า 2 ที่ระบุว่า
“...... ในระหว่างที่รอผลการพิจารณาของ คชก. และคณะรัฐมนตรี ในการอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามแผน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ให้สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการในเบื้องต้นไปก่อน ......”
การดำเนินการในเบื้องต้นไปก่อนที่นายชวาลวุฒฑ รายงานต่อนายบรรพต และได้รับความเห็นชอบตามเสนอ ก็คือ (ข้อ 4) การออกประกาศกระทรวงเกษตฯ ลงวันที่ 31 พ.ค. 47 เชิญชวนผู้ประกอบการฯ เข้าประมูลลำไยอบแห้ง และจัดให้มีการชี้แจงรายละเอียดของโครงการให้ผู้เข้าร่วมประมูลรับฟังในวันที่ 8 มิ.ย. 47 ต่อมา ในวันที่ 15 มิ.ย. 47 มีผู้เข้ายื่นซองเสนอราคาและแผนงานเพื่อเข้ารับการคัดเลือก จำนวน 11 ราย แต่มีผู้เสนอราคาที่มีผลประโยชน์ร่วมกันจำนวน 3 ราย จึงเหลือผู้มีสิทธิได้รับคัดเลือก 8 ราย และคณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นปรากฏว่า ผ่านเกณฑ์ จำนวน 5 ราย
คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาและให้คะแนนสูงสุดจาก 5 ราย เรียงตามลำดับ คือ 1) บ.ปอเฮงอินเตอร์เทรด จำกัด 2) บริษัทศักดิ์ทองพูน จำกัด 3) บริษัทอุตสาหกรรมขนมไทย จำกัด 4) ชุมนุมสหกรณ์จังหวัดลำพูน จำกัด 5) สหกรณ์ชาวสวนลำไยจอมทอง จำกัด จากนั้นก็โยนไปให้ อ.ต.ก.รับดำเนินการต่อตามที่วางไว้ ดังข้อความที่ระบุว่า
“บัดนี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กู้ยืมเงินจำนวน 3,945 ล้านบาทจากสถาบันการเงินของรัฐเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนตามแนวทางการจัดการลำไยที่กำหนดไว้แล้ว
“ดังนั้น จึงเห็นสมควรส่งเรื่องการดำเนินการตามแผนการแปรรูปและการตลาดลำไยอบแห้ง จำนวน 100,000 ตัน ตามข้อ 4. ที่ได้ดำเนินการมาแล้วในเบื้องต้นทั้งหมดให้ อ.ต.ก. เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ โดยในการพิจารณาให้ อ.ต.ก. คำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์ต่อทางราชการในการคัดเลือกผู้เสนอเข้าร่วมโครงการตามแผนและดำเนินการต่อไปจนเสร็จสิ้นโครงการ”
นั่นคือหลักฐานบ่งชี้ถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับนโยบาย ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูงทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำในกระทรวงเกษตรฯ ที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ การเอาผิดคนทุจริตในโครงการจัดการตลาดลำไยปี 47 เป้าหมายใหญ่จึงไม่ใช่มีแต่เพียงแพะที่ อ.ต.ก. และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในสนาม โดยปล่อยให้ผู้บงการ ผู้อำนวยการ และผู้กำกับการแสดงที่อยู่เบื้องหลังลอยนวล