xs
xsm
sm
md
lg

นายทุนประมงระนอง เบื้องหลังมอแกนทะลักจากพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรื่องโดย ....... แสงจันทร์ สีดำ

“มีนายทุนอยู่เบื้องหลัง ทำให้มอแกนอพยพเข้ามามาก นายทุนดึงให้เข้ามาทำประมงทั้งสองฝั่งคือไทยและพม่า เพราะมอแกนเข้าพม่าได้โดยไม่ถูกตรวจจับ นายทุนยังพึ่งพาความสามารถในการหาปลาของมอแกนด้วย” สมหมาย เนตรใสแก้ว ผู้ใหญ่บ้านเกาะเหลา อ.เมือง จ.ระนอง เล่าถึงเบื้องหลังการล้นทะลักเข้ามาของมอแกนจากฝั่งพม่าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เขาบอกว่า นายทุนประมงในเมืองระนอง จะเป็นผู้ออกทุนให้มอแกนไปซื้อเรือและอุปกรณ์ที่ฝั่งพม่าและให้มอแกนนำเรือไปจับปลาที่ฝั่งพม่า ลำหนึ่งๆ มีมอแกนอยู่ 3-4 คน นอกนั้นเป็นชาวพม่าทั้งหมด นายทุนจะประเมินว่าแต่ละเที่ยวจะทำรายได้มากน้อยแค่ไหนและแบ่งส่วนหนึ่งให้กับมอแกน

“ถ้ารายได้ดี มอแกนก็ทำให้ ถ้าไม่พอใจก็ย้ายนายทุน เขามีสิทธิ์ต่อรอง เขาหากินเก่ง รายได้ดี วันหนึ่งๆ ตกเป็นพันบาท” ผู้ใหญ่บ้านเกาะเหลา ให้ข้อมูล

สมหมาย เล่าถึงความเป็นมาของชาวมอแกนเกาะเหลาว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2525 ที่เกาะเหลา ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเกาะสองของพม่าเท่าใดนัก มีครอบครัวชาวมอแกนชื่อ “ตาดำ” อาศัยอยู่เพียงครอบครัวเดียว จากนั้นก็เริ่มมีการชักชวนพรรคพวกเข้ามาผ่านทางการแต่งงานและเครือญาติ โดยเพิ่มเป็น 8 หลังคาเรือน เมื่อ 7 ปีก่อน และขยายมากขึ้นก็เมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา เป็น 61 หลังคาเรือน จำนวน 287 คน ด้วยเหตุผลข้างต้น

“ที่ผ่านมาผมสำรวจทุกปีและรายงานต่อจังหวัด แต่ที่ผ่านมาจังหวัดยังไม่ได้ทำอะไร แต่ตอนนี้ก็เตรียมสำรวจกันให้ชัดโดยทางอำเภอเมืองออกแบบสำรวจเสร็จแล้ว แต่ชาวมอแกนก็อพยพโยกย้าย หากินไม่เป็นหลักแหล่ง ทำให้ลำบากใจในการรับรองสิทธิ์” ผู้ใหญ่บ้านเกาะเหลา บอกเล่าพร้อมรับประกันหากจะมีการให้สิทธิ ให้สัญชาติแก่มอแกนเพียง 8 ครอบครัว จำนวน 30 คน ที่อยู่มาแต่ก่อนเก่าเท่านั้น ที่เหลือจะเป็นการขึ้นทะเบียนเพื่อการควบคุมมากกว่า

นฤมล อรุโณทัย นักวิจัยจากสถาบันวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สภาพที่พบเห็นชาวมอแกนที่เกาะเหลา จะแตกต่างและมีปัญหาที่ซับซ้อนมากกว่ามอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ โดยเฉพาะประเด็นกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังการอพยพยเข้ามาของมอแกนจากฝั่งพม่า ขณะเดียวกัน มอแกนที่นี่ยังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีปัญหาด้านสุขลักษณะ รวมถึงเรื่องน้ำดื่ม น้ำใช้ ห้องน้ำห้องส้วม ซึ่งเป็นความจำเป็นที่ยังขาดแคลน รวมถึงการคุมกำเนิดด้วย

“เป็นมอแกนที่ไม่มีอดีต คือเหลือแต่ภาษามอแกนสำเนียงพม่า แต่ศิลปวัฒนธรรม ดนตรี พิธีกรรม ไม่เหลือแกล้ว หมอที่ทำพิธีเข้าทรง คนเฒ่าคนแก่ที่สืบทอดก็ไม่มี อนาคตก็ไม่มีเช่นกัน ไม่มีการดูแล ไม่มีการจัดการ ทั้งอาชีพ ทั้งการศึกษาที่จะทัดเทียมกับคนไทย เด็กๆ จะออกทะเลไปทำมาหากินกับพ่อแม่มากกว่า”

นฤมล บอกว่า เธอสนใจศึกษาชีวิตมอแกนที่เกาะเหลาโดยจะร่วมพูดคุยกับหน่วยอื่นๆ ที่มีโครงการลงมา เช่น มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทยฯ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) โดยมีแนวทางคือ หาทุนซื้อเรือและอุปกรณ์หาปลาให้มอแกนแทนที่จะรับจ้างนายทุนดังเช่นปัจจุบัน

กำลังโหลดความคิดเห็น