เรื่องโดย ....... แสงจันทร์ สีดำ / ทีมข่าวพิเศษ
กระท่อมเสาสูง หลังคามุงจากหลังใหม่ของชาวมอแกน ผุดเรียงรายบนหาดทรายสวยของหมู่เกาะสุรินทร์ แหล่งพักพิงของ “ยิปซีทะเล” ที่ใช้ชีวิตร่อนเร่ไร้จุดหมาย การดำรงอยู่ของพวกเขาดำเนินไปอย่างคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ไร้อนาคต และแม้แต่อดีตก็กำลังลบเลือน
............................................
เนิ่นนานมาแล้วที่ชาวมอแกนยึดท้องทะเลพิงพักตั้งแต่เกิดกระทั่งตาย การเป็นคนของรัฐไหน สัญชาติใด ไม่มีความหมายหรือความสำคัญใดๆ ต่อชีวิตทั้งสิ้น มีแต่เพียงการดำน้ำ หาปลา เก็บของป่า เท่านั้นที่จำเป็นต่อการอยู่รอด แต่เมื่อวันเวลาผันผ่านพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เวลานี้ชาวเลส่วนใหญ่หันมาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร การอพยพโยกย้ายไม่บ่อยครั้งเหมือนอดีต แต่ก็ยังมีการเดินทางย้ายถิ่นเพื่อหากินและเยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง ซึ่งกระจายอยู่ตามเกาะแก่งทั่วท้องอันดามันอยู่เสมอ
หมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา อันอุดมสมบูรณ์ด้วยสภาพป่าดิบชื้น ป่าชายเลน ลำธารน้ำจืด กลายเป็นที่หลบมรสุมสำหรับเรือหาปลาและที่ตั้งของหมู่บ้านมอแกนสองแห่งซึ่งยังชีพไปวันๆ ด้วยการหาปลา หาของป่า กระทั่งเมื่อปี 2524 ทางการประกาศให้พื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์เป็นอุทยานแห่งชาติ ครอบพื้นที่ที่เคยอยู่มาแต่เดิมของมอแกน จากนั้นวิถีของชาวมอแกน ชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่ทำมาหากินและพักพิงบนเกาะสุรินทร์ก็เริ่มเปลี่ยนแปลง
เมื่อหมู่เกาะแห่งนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มอแกนได้รับอนุญาตจากอุทยานฯ ให้นำเปลือกหอยสวยงามมาขายแก่นักท่องเที่ยวได้ก่อนจะถูกยกเลิกในภายหลังเพราะเกรงผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ อุทยานฯ ได้หาทางช่วยเหลือมอแกนโดยตั้ง “กองทุนมอแกน” รับบริจาคเงินจากนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นทุนซื้อข้าวสาร สิ่งของจำเป็น พร้อมกับนำเงินบางส่วนจากรายได้ร้านค้าสวัสดิการอุทยานฯ มาจ้างมอแกนช่วยทำงานในอุทยานฯ เช่น ขับเรือ เก็บขยะ ช่วยงานครัว ล้างชาม ฯลฯ ขณะที่ชาวมอแกนเองก็มีเครื่องจักรสานจากใบเตยหนามและ “เรือก่าบางจำลอง” ออกวางขายแก่นักท่องเที่ยว
มอแกนบนเกาะสุรินทร์ ร่วมสองร้อยคนเริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่แบบพึ่งพิงกับอุทยานฯ และพึ่งพาโลกภายนอกมากขึ้น แต่เงินค่าจ้างมอแกนนั้นอุทยานฯ ไม่สามารถเบิกจากงบประมาณของรัฐ เพราะมอแกนเป็น “คนไร้รัฐ” ไม่มีสัญชาติและไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน
การดำรงชีวิตของมอแกนภายใต้เงื่อนไขใหม่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จึงไม่มีหลักประกันใดๆ ขณะที่การร่อนเร่โดยอิสระไร้เส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศ อันเป็น “เส้นสมมุติ” ในสายตามอแกนถูกจำกัดลง เช่นเดียวกับการสืบสานวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวเลที่มีมาแต่อดีตนับวันยิ่งพร่าเลือน
ส่วนการขอรับสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐไทย ไม่ว่าด้านการศึกษา สาธารณสุข ยังไม่มีความชัดเจน มอแกนต้องควักกระเป๋าจ่ายเมื่อการเจ็บไข้หนักเกินกว่ารพ.คุระบุรี จะรักษาไหวและต้องส่งตัวไปยังรพ.ศูนย์ ในการ “ขึ้นฝั่ง” แต่ละครั้งพวกเขาต้องหวาดหวั่นต่อการถูกรีดไถในข้อหาเหมารวมว่าเป็นแรงงานเถื่อนชาวพม่า
.................................................
หลังคลื่นยักษ์สึนามิ ภาพของชาวมอแกนหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งสั่งสมภูมิปัญญามาแต่บรรพบุรุษสามารถหนีเอาตัวรอดจากคลื่นยักษ์ได้หมดทั้งหมู่บ้านถูกเปิดสู่สาธารณะ หลายฝ่ายต่างให้ความสนใจต่อองค์ความรู้ ภูมิปัญญา รวมถึง “สถานะบุคคล” ของชาวมอแกน หนึ่งในนั้นคือ คณะทำงานสิทธิมนุษยชนและคุ้มครองผู้บริโภค สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
“ชาวมอแกน ซึ่งมีประชากรเพียง 200 คน การดำเนินการให้สถานะน่าจะดำเนินการได้โดยเร็ว เนื่องจากการไม่มีสัญชาติใดๆ เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ถูกเอาเปรียบและทำให้ขาดสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การศึกษา สาธารณสุข” นั่นคือความเห็นของคณะทำงานสิทธิมนุษยชนฯ ในคราวที่ประชุมร่วมกับกรมการปกครองและสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เมื่อเร็วๆ นี้
สภาที่ปรึกษาฯ ยังมีข้อเสนอที่สอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ของ สมช. คือ การจัดทำเอกสารแสดงตน การรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต การสกัดกั้นการลักลอบอพยพเข้าประเทศและนโยบายการพัฒนาประเทศต้นทาง ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อลงพื้นที่ศึกษาข้อเท็จจริงยังหมู่เกาะสุรินทร์ ระหว่างวันที่ 25-27 ก.พ. ที่ผ่านมา คณะทำงานฯ ของสภาที่ปรึกษาฯ ค้นพบว่า ยังมีรายละเอียดหลายประการที่ไม่มีความชัดเจน
มอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ มีจำนวนเท่าใดกันแน่ ?
ข้อมูลจากอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ระบุว่า มีจำนวน 181 คน 48 หลังคาเรือน แต่ขณะนี้มีชาวมอแกนจากพม่า เข้ามาเพิ่มอีกจำนวนหนึ่ง
ข้อมูลจากอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ซึ่งสำรวจในคราวที่ มอแกน อพยพขึ้นไปอยู่บนฝั่งหลังเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ ระบุว่า มีจำนวน 202 คน จำนวน 54 ครัวเรือน
ส่วนข้อมูลจากการสำรวจของโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และยูเนสโก เมื่อปี 2547 ก่อนเกิดคลื่นสึนามิ มีจำนวน 197 คน และหลังเกิดเหตุคลื่นยักษ์ มีมอแกนอพยพจากพม่าเข้ามาเพิ่มอีก 30 คน ชาวมอแกนทั้งหมดนี้ มีผู้ถือสัญชาติไทยและมีบัตรประชาชนเพียง 4 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน ที่เหลือไม่มีสัญชาติและบัตรประชาชน เรียกได้ว่าเป็น “คนไร้รัฐ” เพราะไม่มีสถานะบุคคลที่รับรองโดยรัฐใดๆ และไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองของรัฐใดเลย
นฤมล อรุโณทัย นักวิจัยโครงการนำร่องอันดามันฯ ที่คลุกคลีกับชาวมอแกนมากว่า 10 ปี เล่าว่า วิถีชีวิตมอแกนที่มีการอพยพย้ายถิ่น อยู่ไม่เป็นหลักแหล่ง ทำให้ตัวเลขชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะหลายคนยังดำรงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม และบางคนเดินทางไปอาศัยที่เกาะพระทองหรือเกาะในพม่าช่วงฤดูฝนและกลับเกาะสุรินทร์ช่วงฤดูแล้ง
วิบูลย์ เกลี้ยงสงค์ ปลัดอำเภอคุระบุรี จ.พังงา กล่าวว่า ในวันที่ 15 – 16 มี.ค.นี้ กรมการปกครอง จะลงมาทำประวัติเพื่อนำไปสู่การจัดทำบัตรประชาชน รับรองสิทธิ ให้แก่มอแกนในที่สุด โดยที่ผ่านมาทางอุทยานฯ และจังหวัดก็ยอมรับว่ามอแกนอยู่บนหมู่เกาะสุรินทร์มานานแล้วก่อนที่จะประกาศเป็นอุทยานฯ ด้วย
ส่วน พ.ต.ท.พีระ วิชากรกุล สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ให้ความเห็นว่า ประเด็นสำคัญในการให้สถานะแก่มอแกน คือการอยู่เป็นหลักแหล่งและจำเป็นต้องเร่งจัดทำประวัติเพื่อพิสูจน์สถานะให้ชัดเจนก่อน ไม่เช่นนั้นอาจมีปัญหาการทะลักเข้ามาของมอแกนจากพม่าเพื่อทำบัตรประชาชนไทย ซึ่งจะมีปัญหาด้านความมั่นคงตามมา
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ นฤมล เก็บกำมาตลอดเกือบสิบปีนั้น ชี้ว่า ชาวมอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์ ไม่ได้เพิ่มจำนวนไปมากกว่า 201 ราย บางปีที่สำรวจมีเพียง 134 คน ชาวมอแกนมีอัตราการเกิดสูงแต่อัตราการตายก็สูงเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ชาย ที่ต้องออกทะเลมักเสียชีวิตตั้งแต่ยังหนุ่มเพราะกรำงานหนักและห่างไกลหมอ เมื่อป่วยไข้ ต้องใช้เวลาเดินทางเข้าฝั่งอย่างน้อย 3 - 4 ชั่วโมง จากระยะทางจากเกาะถึงฝั่งประมาณ 60 กม.
สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ยังตั้งข้อสังเกตถึงการได้มาซึ่งบัตรประชาชนของชาวมอแกน 4 คนว่า ได้มาอย่างไร คำอธิบายจาก “สาลามา กล้าทะเล” ชายชราชาวมอแกนวัย 60 ปีที่ถือบัตรประชาชนไทย ซึ่งบอกเล่าต่อคณะทำงานฯ และก่อนนี้ก็มีการบันทึกโดยนักวิจัยต่างชาติว่า ได้มาเพราะเข้าไปทำงานในเมืองกับบริษัทเหมืองแร่ตั้งแต่หนุ่มและบริษัทพาไปทำบัตรโดยมีผู้ใหญ่รับรองให้ ก็ยังเต็มไปด้วยความสับสน ขณะที่มอแกนอีก 3 คนที่มีบัตรประชาชนไทย ก็คือลูกๆ ของ “สาลามา” อธิบายถึงเหตุผลที่มีบัตรฯ เพราะมีพ่อถือบัตรประชาชนไทย
หากยึดกรอบคิดเก่าด้านความมั่นคงที่ขึงตึง ดูเหมือนการตรวจสอบสถานะบุคคลของมอแกนเพื่อให้สัญชาติ จะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากไม่น้อย นฤมล ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะวิถีชีวิตที่อพยโยกย้ายไปมาโดยเฉพาะหมู่เกาะสุรินทร์และเกาะเหลา ซึ่งเป็นเส้นเขตแดนคาบเกี่ยวระหว่างไทยกับพม่า รวมทั้งปัญหาเรื่องภาษา การสื่อสาร การขาดพยานเอกสาร พยานวัตถุ การไม่นับวันเดือนปีเกิดตามหลักสากล ฯลฯ
เธอ เสนอว่า รัฐไทยควรรับรองสถานภาพให้มอแกนไม่เป็นบุคคล “ไร้รัฐ” อีกต่อไป ตามหลักของกรมการปกครอง กลุ่มมอแกนที่ควรได้รับพิจารณาเรื่องสัญชาติไทย คือ กลุ่มที่เกิดในเมืองไทยและที่อยู่ในเมืองไทยมากว่า 10 ปี ซึ่งจะต้องพิจารณาเฉพาะรายและสืบเชื้อสาย
ไม่เพียงแต่มอแกนที่หมู่เกาะสุรินทร์เท่านั้น ที่เป็น “คนไร้รัฐ” ยังมีชาวมอแกนและอุรักลาโว้ย ที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 100 คน, อุรักลาโว้ย ที่เกาะสิเหร่ จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 50 คน และมอแกนที่เกาะเหลา จังหวัดระนอง ที่ยังไม่ได้รับสัญชาติอีก 300 คน
เฉพาะ มอแกน ที่ระนอง นั้นมีความซับซ้อนของปัญหาที่ถมทับจากนายทุนที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วของชาวมอแกนในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาอีกต่างหาก กลุ่มนายทุนเหล่านั้นต้องการมอแกนเพื่อประโยชน์อะไร โปรดติดตามในตอนต่อไป