xs
xsm
sm
md
lg

มะกันชี้ไทยสังหารตามอำเภอใจผู้ต้องสงสัยแยกดินแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานโดย ...... แสงจันทร์ สีดำ / ทีมข่าวพิเศษ
 
วันนี้ (1 มี.ค.) กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ออกรายงานการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ. 2547 ในส่วนที่เกี่ยวกับประเทศไทย โดยชี้ว่า ฝ่ายความมั่นคงของไทยลงมือสังหารผู้ต้องสงสัยแบ่งแยกดินแดนตามอำเภอใจหรือกระทำการโดยผิดกฎหมาย ทั้งกรณีกรือแซะ ตากใบ ทั้งยังซ้อม ทรมานแพื่อให้รับสารภาพและอุ้มฆ่าผู้บริสุทธิ์ สั่งสมความรู้สึกไม่พอใจต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายขรก.ในกองทัพและสนง.ตำรวจแห่งชาติ รวมถึงฝ่ายตุลาการล้วนอื้อฉาวเรื่องทุจริตรับสินบน

รายงานชิ้นดังกล่าวให้ภาพรวมสถานการณ์ภาคใต้ของไทยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทางภาคใต้ซึ่งถูกระบุว่าเป็นฝีมือของผู้ก่อความไม่สงบชาวมุสลิมทางภาคใต้ที่ต้องการแยกดินแดน ส่งผลให้มีข่าวเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและพลเรือนเกือบรายวันในช่วงปลายปี แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนจะควบคุมกองกำลังรักษาความมั่นคงได้อย่างมีประสิทธิผล แต่มีบางครั้งที่หน่วยงานด้านความมั่นคงกระทำการนอกเหนือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ทางการ

รายงานฯ ชี้ว่า โดยทั่วไป รัฐบาลเคารพในสิทธิมนุษยชนของประชาชน แต่ยังมีปัญหาที่สำคัญในบางด้าน การก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 180 ราย ด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากความรุนแรงและการเพิ่มมาตรการด้านความมั่นคงทำให้เกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่เนืองๆ และยิ่งเพิ่มความรู้สึกไม่พอใจของชาวบ้านในจังหวัดที่มีปัญหาให้มากขึ้น

“เจ้าหน้าที่ตำรวจซ้อมผู้ต้องสงสัยในบางครั้งเพื่อบังคับให้สารภาพ รัฐบาลประกาศว่าจะสอบสวนกรณีเหล่านี้แต่ก็ไม่ได้ดำเนินคดีอย่างจริงจังกับผู้ที่กระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งเป็นการปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล” เนื้อความของรายงานฯ ระบุ

ในหมวดที่ว่าด้วยการเคารพบูรณภาพแห่งบุคคล อันรวมถึง การปลอดจากการสังหารตามอำเภอใจหรือการสังหารที่ผิดกฎหมาย ระบุเอาไว้ว่า ไม่มีรายงานยืนยันว่ามีการสังหารที่เกี่ยวพันกับการเมืองโดยรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังคงใช้กำลังเกินกว่าเหตุและรุนแรงต่อผู้ต้องสงสัยและกระทำหรือเกี่ยวข้องกับคดีวิสามัญฆาตกรรมและการสังหารตามอำเภอใจและการสังหารที่ผิดกฎหมายหลายคดี

เมื่อวันที่ 28 เมษายน กองกำลังตำรวจและทหารได้สังหารคนกว่า 100 คนในความพยายามที่จะสกัดกั้นการโจมตีของกลุ่มแยกดินแดนชาวมุสลิมไม่ทราบชื่อหลายครั้ง ที่ จ. ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดนี้ มี 32 รายที่ถูกสังหารที่มัสยิดกรือเซะ จ. ปัตตานี เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงบุกเข้าไปในมัสยิดหลังจากการเจรจาเป็นเวลา 9 ชั่วโมงแต่ไม่สามารถตกลงกันได้

รายงานอย่างเป็นทางการของคณะกรรมาธิการอิสระฉบับหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ ระบุว่า ผู้บัญชาการฝ่ายความมั่นคงซึ่งอยู่ ณ ที่เกิดเหตุได้สั่งให้เจ้าหน้าที่บุกเข้าไปในมัสยิดหลังการเจรจาไม่เป็นผลและมีทหารเสียชีวิตสามนาย อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือนที่กรุงเทพฯ รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอ้างว่าการบุกมัสยิดไม่ได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายตน คณะกรรมาธิการจึงสรุปว่ามีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและการเจรจาน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า

หลังเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 เมษายน ยังมีรายงานเกี่ยวกับการเสียชีวิตของพลเรือนโดยฝีมือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอีกอย่างน้อยสองครั้ง โดยมีรายงานว่าในวันที่ 6 กันยายน อิลมีน นาและ ถูกยิงที่หลังเสียชีวิตในขณะอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารพราน ทหารพรานสี่นายถูกตั้งข้อหาฆาตกรรม เมื่อถึงปลายปี มีการตั้งคณะกรรมการตุลาการพิเศษขึ้นเพื่อตัดสินว่าศาลฝ่ายพลเรือนหรือศาลทหารควรเป็นผู้พิจารณาคดีดังกล่าว

ในวันที่ 25 ตุลาคม ชาวมุสลิม 78 รายซึ่งกำลังถูกนำตัวไปควบคุมที่ค่ายทหารหลังเหตุการณ์ประท้วงอย่างรุนแรงที่ อ. ตากใบ จ. นราธิวาส เสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจ ผู้ประท้วงเหล่านี้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสั่งให้นอนซ้อนกันบนรถบรรทุกในจำนวนที่มากเกินพื้นที่บนรถมาก

ในเดือนธันวาคม คณะกรรมาธิการอิสระชุดหนึ่งสรุปว่า เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความมั่นคงสามราย รวมทั้งแม่ทัพภาคสี่ บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่และขาดความรับผิดชอบในการควบคุมผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำการเคลื่อนย้ายผู้ประท้วงอย่างมีมนุษยธรรม คณะกรรมาธิการระบุว่ามีผู้ประท้วงอีก 7 รายที่ยังสูญหายอยู่

คณะกรรมาธิการมิได้เสนอให้มีการดำเนินการทางกฎหมายหรือมาตรการลงโทษแต่อย่างใด แต่รัฐบาลมีคำสั่งให้กระทรวงกลาโหมสอบสวนทางวินัยเจ้าหน้าที่อาวุโสสามคนที่ระบุชื่อไว้ในรายงาน และสั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสอบสวนคดีนี้ด้วย นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อให้ความช่วยเหลือและจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้เสียหายและครอบครัว

ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา มีข่าวเจ้าหน้าที่ของรัฐรวมทั้งครูและเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการถูกทำร้ายโดยโจรแบ่งแยกดินแดนเป็นประจำทุกวัน และมีเหตุการณ์วางระเบิด ซึ่งบางครั้งเป็นการวางระเบิดในสถานที่สาธารณะ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ

ในวันที่ 17 กันยายน นายระพินทร์ เรือนแก้ว ผู้พิพากษาศาลจังหวัดปัตตานีถูกมือปืนสามคนยิงเสียชีวิตขณะเดินทางไปทำงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนักเรียนโรงเรียนปอเนาะรายหนึ่ง ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิดอีกสามคนยังลอยนวลอยู่

ในช่วงปี พ.ศ. 2547 มีเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดหรือระดับอำเภอหรือตัวแทนด้านการเมืองของคนเหล่านี้ เช่น หัวคะแนน ถูกสังหารอย่างน้อย 12 คน ผลการสืบสวนของตำรวจชี้ว่าการสังหารเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจาก “สาเหตุทางการเมือง” แต่ในบางกรณี ก็มาจากสาเหตุส่วนตัวหรือสาเหตุทางธุรกิจ

รายงานฯ ระบุถึง "การหายสาบสูญ" ของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้หายตัวไป เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 47 นายสมชายเป็นทนายความให้จำเลยชาวมุสลิม 5 คนที่ถูกตั้งข้อหาว่าปล้นอาวุธจากค่ายทหารที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 4 มกราคม และยังเป็นทนายความให้ผู้ต้องสงสัย 3 คนที่ถูกสงสัยว่าเป็นสมาชิกองค์การก่อการร้ายเจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ) ในเดือนเมษายน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นายถูกตั้งข้อหาลักพาตัวและลักขโมยในคดีการหายตัวของนายสมชาย และได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวเมื่อเดือนมิถุนายน การพิจารณาคดีมีกำหนดในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งจนถึงปลายปี พ.ศ. 2547 นายสมชายยังคงหายตัวอยู่

สื่อมวลชน องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลเรียกร้องให้สอบสวนกรณีการหายตัวของบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายชาวมุสลิมในจังหวัดทางภาคใต้บางจังหวัด โดยเฉพาะนราธิวาส ในเดือนมิถุนายน ชาย 5 คนได้ทำการกักขัง ซูกิฟลี อาแซ ที่จังหวัดนราธิวาสอย่างผิดกฎหมาย หลังจากชาวบ้านสกัดจับยานพาหนะที่ใช้ลักพาตัวนายอาแซได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบก็ปล่อยตัวนายอาแซไป ต่อมาภายหลังจึงมีการเปิดเผยว่าชายทั้ง 5 คนนั้นคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อถึงปลายปี การสอบสวนภายในของตำรวจยังค้างคาอยู่ แต่ยังไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ

ทรมานโหดเหี้ยมให้รับสารภาพ

นอกจากนั้น ยังมีรายงานการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม หรือทำลายศักดิ์ศรีอื่นๆ ว่า องค์กรเอกชนและองค์กรทางด้านกฎหมาย ยังคงรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนทรมานและซ้อมผู้ต้องสงสัยเพื่อบังคับให้รับสารภาพ ในช่วงปี พ.ศ. 2547 หนังสือพิมพ์ได้รายงานหลายคดีที่ประชาชนกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรง ข่มขู่ว่าจะยัดเยียดข้อหา และเรียกร้องเงินสินบน คดีเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้รับการสอบสวน รวมทั้งหลายคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ถูกกล่าวหาถูกพักราชการระหว่างที่มีการสอบสวนภายใน

ในวันที่ 10 มีนาคม ผู้ต้องสงสัย 5 คนในคดีปล้นปืนที่ค่ายทหาร จังหวัดนราธิวาสอ้างว่าถูกตำรวจซ้อมและและช้อตด้วยไฟฟ้าเพื่อบังคับให้สารภาพ ผู้ต้องสงสัยทำหนังสือร้องเรียนอย่างเป็นทางการต่อกระทรวงยุติธรรมผ่านทนายความของตนคือ นายสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งยังคงหายตัวอยู่เมื่อถึงช่วงปลายปี ผู้ต้องสงสัยถูกย้ายไปที่เรือนจำแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ และเมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ก็มีการยกฟ้องข้อหาทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุการณ์ปล้นปืนในวันที่ 4 มกราคม อย่างไรก็ดี มีผู้ต้องสงสัยเพียงหนึ่งรายเท่านั้นที่ถูกปล่อยตัว อีกสี่รายยังถูกตำรวจนราธิวาสควบคุมตัวไว้ในข้อหาอื่น ตำรวจเริ่มการสอบสวนเจ้าหน้าที่ที่ถูกล่าวหาว่าทรมานผู้ต้องหาเป็นการภายใน แต่เมื่อถึงปลายปี ก็ยังไม่มีการฟ้องร้องคดีอาญาแต่อย่างใด

คอร์รัปชั่นเป็นประเพณี

นอกจากนั้นแล้ว ประเพณีการคอร์รัปชั่นยังคงมีอยู่ในระบบราชการฝ่ายพลเรือนบางส่วนและในหน่วยงานด้านความมั่นคงบางแห่ง การเรียกร้องสินบนของเจ้าหน้าที่ทางการซึ่งทำอยู่เป็นนิจบั่นทอนหลักนิติธรรมและทำให้กิจกรรมที่ผิดกฎหมายหลายๆ ประเภทยังคงดำเนินอยู่

เช่น การค้ามนุษย์ การแสวงประโยชน์ทางเพศและการค้าประเวณี เรือนจำและสถานกักกันผู้หลบหนีเข้าเมืองตามต่างจังหวัดบางแห่งมีสภาพแย่ การกักขังผู้ต้องหาที่รอการพิจารณาคดีเป็นระยะเวลานานรวมทั้งการกักกันคนต่างด้าวยังคงเป็นปัญหา ฝ่ายตุลาการ ก็มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นและบางครั้งเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงก็ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของประชาชน

กระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ชี้ว่า ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าในการสอบสวนคดีฆ่าตัดตอนผู้ค้ายาเสพติดประมาณ 1,300 ราย ในช่วงสามเดือนของ “การทำสงครามกับยาเสพติด” ของรัฐบาล ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเป็นประธานคณะกรรมการ 2 คณะที่ทำการสอบสวนคดีฆ่าตัดตอนเหล่านี้

รัฐบาลยืนยันว่า การสังหารดังกล่าวมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งในกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด กลุ่มสิทธิมนุษยชนของไทยและต่างประเทศ รวมทั้งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติโต้แย้งคำกล่าวอ้างนี้ และเรียกร้องให้มีการสอบสวนคดีฆ่าตัดตอนทุกคดีอย่างละเอียด
กำลังโหลดความคิดเห็น