xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ - นศ.ปัตตานี หวั่นอำนาจเหนือกฏหมาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้ (10 ก.พ.) ที่รัฐสภา ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและชุมชน มอ.ปัตตานี พร้อมนักศึกษา มอ.ปัตตานี ได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ถึงผลกระทบของสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อทีมีต่อนักศึกษาว่า ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์ความไม่สงบ มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องที่ทำให้นักศึกษาขวัญเสียหลายเหตุการณ์ด้วยกัน ทั้งการถูกสังหาร ถูกค้นบ้านพัก และถูกจับกุม โดยครั้งล่าสุดมีการจับกุมนายยูไล สะปนแอ นักศึกษาปี 4 เอกกฎหมายอิสลาม ในวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา ยิ่งทำให้สภาพการณ์ทุกวันนี้ นักศึกษาหลายคนตกอยู่ในภาวะหวั่นวิตกกังวลว่าถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่หรือไม่อย่างไร ในขณะที่หลายคนพยายามหลบออกไปไม่มาเข้าเรียน

“มอ.ปัตตานีมีนักศึกษาราว 7,500 คน เป็นมุสลิม 2,900 คน ครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาที่จบออกมาจากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม 22 แห่งที่อยู่ในบัญชีดำของทางการ เด็กพวกนี้จึงเป็นกังวลว่าจะถูกจับตามองเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่”

รองอธิการฯ มอ.ปัตตานีกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางนักศึกษาและอาจารย์ของ มอ. ได้ทำข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการกับฝ่ายทหารว่า หากเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจค้นบ้านพักของนักศึกษา จะต้องมีการแจ้งมาทางมหาวิทยาลัยก่อน และหากมีการสอบปากคำต้องให้มีเจ้าหน้าที่หรือนิติกรของมหาวิทยาลัยรับฟังอยู่ด้วย ซึ่งในกรณีการเข้าตรวจค้นและจับกุมนายยูไลเมื่อกลางเดือนก่อน ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ทำตามข้อตกลงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.วรวิทย์ กล่าวต่อว่า ด้วยเหตุการณ์ทำนองนี้ ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการมหาวิทยาลัยมีมติให้จัดทำข้อตกลงอย่างเป็นทางการกับทาง กอ.สสส.จชต.ในประเด็นดังกล่าวด้วย

ด้านนายเอกรินทร์ ต่วนศิริ อุปนายกกิจการฝ่ายนอก องค์การนักศึกษา มอ.ปัตตานี ชี้แจงว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์กรือเซะ ตนและเพื่อนนักศึกษาบางส่วนร่วมเก็บข้อมูลจากครอบครัวผู้เสียชีวิตที่เป็นทั้งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในฐานะอาสาสมัครเพื่อสรุปส่งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หลังจากนั้นไม่นานก็มีการตรวจค้นบ้านของนักศึกษาเรื่อยมา โดยทุกครั้งจะเป็นปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันระหว่างทหารกับตำรวจ จนกระทั่งมีการจับกุมอดีตนักศึกษาเมื่อปลายปีที่แล้ว และระยะเวลาที่ผ่านมาตนและเพื่อนนักศึกษารู้สึกถึงความไม่มั่นคงปลอดภัยมาโดยตลอดทั้งๆ ที่มีความบริสุทธิ์ใจ

“ทุกกิจกรรม ทุกความเคลื่อนไหวที่เราทำ ทางเจ้าหน้าที่มักจะมองว่าเป็นฝ่ายก่อความไม่สงบตลอด ทั้งที่เราเองก็ไม่เห็นด้วยกับการก่อเหตุรุนแรงที่เกิดจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐ”

ด้าน พ.อ.สุเมธ ไมตรีประสาน รองเสนาธิการ กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ในฐานะตัวแทนผู้อำนวยการ กอ.สสส.จชต. ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ว่า ข้อมูลข่าวสารที่ใช้ในการปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีมาจากหลายหน่วยงาน ในการเข้าตรวจค้นและจับกุมนักศึกษาครั้งล่าสุดเป็นการใช้ข่าวจากทางฝ่ายตำรวจ และดำเนินการร่วมกันระหว่างตำรวจและทหาร แต่ยอมรับว่าข้อมูลในรายละเอียดนั้นตนไม่ทราบ เนื่องจากมีระดับชั้นในการเข้าถึงข้อมูล ในระดับของตนนั้นสามารถยืนยันได้ว่าไม่มีการจัดทำบัญชีดำเฉพาะของนักศึกษา

“ทาง กอ.สสส.จชต. ไม่เคยเพ่งเล็งนักศึกษาเป็นพิเศษ และไม่เคยคิดว่านักศึกษาจะมีส่วนในการก่อความไม่สงบ มีแต่การสนับสนุน สร้างความคุ้นเคยระหว่างเจ้าหน้าที่กับนักศึกษา”

พ.อ.สุเมธ ชี้แจงต่อว่า ขณะนี้ทาง กอ.สสส.จชต. ได้รับเงินงบประมาณมาราว 7 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนการทำกิจกรรมของนักศึกษาในฐานะพี่เลี้ยง และให้ผู้แทนนักศึกษาเป็นเจ้าของโครงการ

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตุและตั้งคำถามอย่างกว้างขวางถึงความเป็นเอกภาพในการทำงานของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งขอบเขตอำนาจของกฎอัยการศึกในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะประเด็นการมีส่วนร่วมของตำรวจในการปฏิบัติภารกิจร่วมกับทหาร ซึ่งพบว่าการตรวจค้นและจับกุมในระยะหลัง มีบทบาทของตำรวจมากกว่าทหาร

พ.อ.สุเมธ ชี้แจงในส่วนนี้ว่า การใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอำนาจของแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อคุ้มครองการทำงานของทหารเป็นหลัก เนื่องจากกฎหมายปกติไม่สามารถรองรับได้ เช่น การตรวจค้นผู้ก่อความไม่สงบโดยไม่ใช้หมายศาล ในส่วนของตำรวจมีอำนาจในขอบเขตของกฎหมายปกติแต่ดำเนินการล่าช้า บางครั้งจึงต้องมีการปฏิบัติการร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในโอกาสต่อไปนี้จะใช้มาตรการขอหมายศาลให้เร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความพอใจแก่ทุกฝ่าย

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการฯ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ควรจะมองนักศึกษาเหล่านี้ในแงที่จะให้ประโยชน์ต่อบ้านเมือง แทนที่จะมองเป็นฝ่ายตรงกันข้าม นอกจากนี้ กอ.สสส.จชต.ต้องเร่งฟื้นฟูสภาพจิตใจของนักศึกษาที่มีอาการหวั่นวิตกให้กลับมาสู่วิถีชีวิตปกติ
กำลังโหลดความคิดเห็น