xs
xsm
sm
md
lg

เสียงเพรียกจาก “ยิปซีทะเล” วันถูกไล่ที่ให้นายทุนทำรีสอร์ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธรณีพิบัติสึนามิ สร้างความเสียหายและผลกระทบต่อชาวเล หรือ “ไทยใหม่” ริมชายฝั่งอันดามันนับพันครอบครัว ถึงวันนี้แม้เวลาล่วงเลยมานานนับเดือนแล้ว แต่ความช่วยเหลือเพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นหยัดยืนด้วยตนเองอย่างยั่งยืนยังพร่าเลือน ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยถาวรหรือวิถีแห่งอาชีพ

ที่สำคัญ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งหลังธรณีพิบัติสึนามิ ก็คือ การไล่ที่ชาวไทยใหม่เพื่อหลีกทางให้นายทุนใช้ที่ดินสร้างรีสอร์ท หรือใช้ประโยชน์เชิงธุรกิจท่องเที่ยว 

“สุวัฒน์ คงแป้น” จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) องค์การอิสระมหาชนที่มีบทบาทในการสร้างบ้านพักและฟื้นฟูอาชีพเหยื่อสึนามิ มีเรื่องเล่าของ “ยิปซีทะเล” หรือ “ไทยใหม่” ในปัจจุบัน

- 1 -

การเกิดธรณีพิบัติ “สึนามิ” เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมาด้านหนึ่งทำให้คนไทยทั่วประเทศได้ยินคำว่า “ไทยใหม่” บ่อยครั้ง จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม

ไทยใหม่ เป็นชื่อเรียกขาน “ชาวเล” ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย บริเวณริมชายฝั่งและเกาะในทะเลอันดามัน ซึ่งมี 3 กลุ่มใหญ่ คือ มอเก็น , มอเกล็น , อูรักลาโว้ย

กลุ่มมอเก็นยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ 2 กลุ่ม ตามถิ่นที่อยู่ คือ มอเก็นปูลา กับมอเก็นตามับ

มอเก็นปูลา อยู่ตามเกาะมะริด และชายฝั่งในประเทศพม่า ลงมาถึงเกาะ บริเวณจังหวัดระนอง หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา และมอเก็นตามับ อาศัยอยู่ตามเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ตลอดจนบริเวณชายฝั่งของอำเภอตะกั่วป่า อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และอำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

สำหรับกลุ่มมอเกล็น อาศัยอยู่บริเวณแหลมหลา จังหวัดภูเก็ต อำเภอท้ายเมือง และตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ส่วนกลุ่มอูรักลาโว้ย อยู่บริเวณเกาะสิเหล่ หาดราไวย์ แหลมหลา บ้านเหนือ บ้านสะปำ จังหวัดภูเก็ต

นักวิชาการเชื่อว่า “ชาวเล” เป็นชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมของมลายู ก่อนที่ชาวมลายูจะเข้าอยู่อาศัยเสียอีก โดยชาวมลายูเรียกชาวเลว่า “โอรัง ละอุต” ซึ่งแปลว่า “คนทะเล” ส่วนชาวพม่าแถบหมู่เกาะมะริดเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “เสลุง” “เสลอง” หรือ “เสลอน” แต่ชาวเลจะเรียกตัวเองว่า “มอเก็น” หรือ “เมาเก็น”

ขณะที่คนทั่วไปมักจะเรียก “มอแกน” ดังที่คุ้น ๆ กัน

ว่ากันว่า .. เดิมชาวเลมีถิ่นฐานอยู่บนพื้นแผ่นดินใหญ่แถบมาเลเซีย แต่ถูกรุนรานจากชนกลุ่มอื่นก็เลยพากันอพยพลงเรือหนีไปอยู่ตามเกาะต่าง ๆ บ้างก็ใช้ชีวิตรอนแรมบนเรือ กลายเป็น “ยิปซีทะเล”

ชาวเลจะรวมกลุ่มและเดินทางไปในเรือเป็นคณะประมาณ 10-40 คน ภายในกลุ่มจะมีผู้ชำนาญในการเดินเรือ ทำหน้าที่คล้ายหัวหน้ากลุ่ม ชาวเลจะย้ายถิ่นแบบชั่วคราวเพื่อไปหาอาหารตามที่ต่าง ๆ แถบชายฝั่งหรือปากแม่น้ำ จะย้ายไปตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล นอกจากนี้ก็อาจจะย้ายหนีโรคระบาด หรือย้ายเพราะประสบ “ภัยธรรมชาติ”

“เรือ” เปรียบเสมือน “บ้าน” ของชาวเล โดยเรือมักจะมีความยาวประมาณ 20-25 ฟุต แต่บางกลุ่มก็จะสร้างบ้านชั่วคราวบนฝั่ง ทำจากใบปาล์มหรือมะพร้อม ยกพื้นสูง ไม่มีระเบียง แต่ในปัจจุบันชาวเลก็เริ่มสร้างบ้านเรือนเลียนแบบคนบนฝั่ง เป็นแบบถาวร โดยใช้ไม้จากป่าชายเลน เช่น ไม้โกงกาง หลังคามุงจาก กั้นฝาด้วยจากหรือไม้ไผ่

การดำรงชีพของชาวเลหลักๆ ยังคงพึ่งพาการ “จับปลา” ทำประมงน้ำตื้น และที่เสริมเข้ามาในยุคหลัง ๆ ก็คือ “รับจ้างนายทุน” งมสิ่งของในทะเล เช่น เปลือกหอยแปลก ๆ หรือรับจ้างทั่วไป

แม้ว่าจะเริ่มซึมซับค่านิยมทางวัตถุมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ชาว “มอเก็น” ก็ยังคง “เชื่อเรื่องผีและวิญญาณ” โดยเฉพาะบรรพบุรุษที่เรียกว่า “ดะโต๊ะ” โดยจะมีการสร้างเป็นศาลไว้เคารพบูชา และยังเชื่อว่ามี ผีปู,ผีหอย,ผีไม้ ,ผีน้ำ ฯลฯ เชื่อว่า ผีพุ่งใต้ หรือ ผีชิน ช่วยหาปลา ช่วยบอกแหล่งอาศัยของปลา

ชาวเลเชื่อเรื่องโชคลาง เชื่อว่าผีควบคุมโชคชะตา การเจ็บป่วย จึงมี “หมอผี” ประจำกลุ่ม ทำหน้าที่ทำนายโชคชะตา ดูฤกษ์ยามในการสร้างบ้าน และเป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ประเพณีที่สำคัญของชาวเลที่คนทั่วไปคงพอจะคุ้น ๆ ก็คือ “พิธีลอยเรือ” ในวัน 13-15 ค่ำ และวันแรม 1 ค่ำ ของเดือน 6 และเดือน 11

เชื่อกันว่าพิธีนี้ช่วย “ขับไล่สิ่งชั่วร้าย” ให้เรือนำความชั่วร้ายอัปมงคลออกไป โดยจะปล่อยให้เรือลอยหายไปในทะเลลึก ถ้าเรือกลับขึ้นฝั่งแสดงว่าเป็น “ลางร้าย” ต้องทำพิธีกันใหม่

- 2 -

ปัจจุบันชาวเลมีการตั้งหลักปักฐานทั้งบนเกาะและบนแผ่นดินใหญ่มาช้านานแล้ว บางแห่งสร้างบ้านสร้างชุมชนมานานกว่า 100 ปี ชาวเลหลายแห่งลูกหลานได้เรียนหนังสือไทย นับถือศาสนาพุทธพูดภาษาไทยสำเนียงปักษ์ใต้ หากมองแบบผิวเผินก็จะไม่รู้ว่าเป็นคนไทยหรือชาวเล

ชาวเลหรือไทยใหม่ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย สร้างบ้านด้วยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น ไม้จากป่าชายเลน หลังคามุงจาก ไม่สะสมอาหาร ไม่สนใจเรื่องกรรมสิทธิที่ดินที่ตนตั้งครอบครัวอยู่

นางบุญช่วย กล้าทะเล วัย 70 เศษ ชาวมอร์แกน จากบ้านทุ่งหว้า ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา เล่าให้ฟังว่าเมื่อก่อนเวลาพวกเราพบคนไทย ก็มักจะวิ่งหนี ไม่กล้าพูดด้วย เพราะเราพูดภาษาไทยไม่เป็น ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขุนเสถียรกับปลัดเริ่ม ข้าราชการจากอำเภอท้ายเหมือง มาเห็นพวกเราได้ยินคนเรียกขานว่าเป็นชาวเล ก็บอกว่าไม่เพราะคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ทุกคนเป็นคนไทย จึงตั้งชื่อให้ว่า “ไทยใหม่”

ต่อมาพระมหาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงพระราชทานนามสกุลให้กับชาวไทยใหม่หลายชื่อด้วยกัน เช่น กล้าทะเล หาญทะเล นาวารักษ์ สมุทรวารีย์ รวมทั้งมีการตั้งนามสกุลอื่น ๆ ตามมาอีก เช่น ทะเลลึก ช้างน้ำ เป็นต้น ทำให้ไทยใหม่ เป็นคนไทยที่ถูกต้องตามกฎหมาย เป็นพลเมืองไทยโดยสมบูรณ์

ด้วยเหตุที่ไทยใหม่ไม่ค่อยสนใจหรือขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการถือครองที่ดินตามกฏหมาย ทำให้ที่ดินส่วนใหญ่ที่ไทยใหม่สร้างบ้านปักฐานอยู่ เป็นที่ดินริมฝั่งทะเลที่เป็นที่ดินสาธารณะบ้าง หรือมีการออกเอกสิทธิให้กับนายทุนทับที่ดินที่ชาวเลอาศัยอยู่บ้าง ทำให้สภาพของชาวเล กลายเป็นผู้บุกรุกไปโดยปริยาย

เช่น ที่เกาะสิเหล่ จังหวัดภูเก็ต ชาวเลอาศัยมานับร้อยปี ตั้งแต่ยังไม่มีระบบเอกสารสิทธิ แต่ที่ดินที่พวกเขาอาศัยอยู่ทุกวันนี้กลายเป็นของนายทุนไปโดยปริยาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลัง ความเจริญทางธุรกิจมีมากขึ้น ที่ดินที่ไทยใหม่อาศัยอยู่ ซึ่งเมื่อก่อนไม่มีค่าอะไรในสายตามของคนอื่น กลับมีค่าขึ้นมาทันที

เช่น ที่บ้านบางสัก บริเวณหาดทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า นายทุนก็ใช้เงินไปซื้อสวนยาง ซึ่งห่างออกไปราว ๆ 3 กิโลเมตร ให้ไทยใหม่ไปอยู่ เพื่อที่ตนจะได้นำที่ดินริมชายหาดไปทำประโยชน์ทางธุรกิจ ทำให้ชาวไทยใหม่ ซึ่งเป็นลูกทะเลต้องขึ้นไปอยู่บนบกเป็นชาวสวนยางไปก็หลายราย

จากการสำรวจข้อมูลโดยสังเขป หลังคลื่นยักษ์ “สึนามิ” พบว่าชาวไทยใหม่มีหลักฐานเอกสารสิทธิในที่ดินน้อยมาก แต่กลับพบว่าที่ดินส่วนใหญ่ซึ่งอาศัยมานับร้อยปี เป็นที่สาธารณะหรือที่ดินสัมปทานเหมืองแร่ของนายทุน ซึ่งไม่ได้ขุดแร่มานับ 20 ปี

- 3 -

ธรณีพิบัติ “สึนามิ” ในครั้งนี้ ชาวไทยใหม่ ซึ่งนับเป็นผู้เชี่ยวชาญทางทะเลก็ได้รับความเสียหายไม่น้อยเช่นกัน แต่ก็ไม่มากเท่าคนไทย ทั้งนี้เพราะพวกเขามีความรู้จนกลายเป็นสัญชาติญาณที่ดียิ่ง แต่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ กลับได้รับความลำบากมากกว่าคนไทยโดยทั่วไป เพียงเพราะพวกเขา (จำนวนหนึ่ง) ไม่มีหลักฐานความเป็นคนไทย

ที่หาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต พี่น้องชาวเล เผ่าอุลัคกาโว้ย นั่งมองพี่น้องคนไทยรับของบริจาคด้วยแววตามที่บอกไม่ถูก ในบางแห่งคนไทยได้รับของบริจาคครบถ้วนทุกอย่างที่จำเป็น แต่ไทยใหม่กลับได้เพียงมาม่าหนึ่งห่อ หรือปลากระป๋องหนึ่งกระป๋อง นมกล่องหนึ่งกล่อง

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวมอร์แกนที่หนีคลื่นสึนามิไปอาศัยชั่วคราวอยู่ที่สวนยางแห่งหนึ่ง เขาเล่าว่า ไปที่อำเภอหลายครั้งเพื่อแจ้งว่าหลักฐานที่ดิน ซึ่งเป็น นส 3 ก. หายไปกับน้ำ แต่ก็ไม่เป็นผล

ชาวอุรักลาโว้ย ที่ราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ดูเหมือนจะสิ้นหวัง หลังรู้ว่าถ้าจะไปรับเงินการช่วยเหลือจากทางราชการ เกี่ยวกับเรือประมงเสียหาย ต้องมีใบอาชญาบัตร หนังสือรับรองจากสมาคมประมง และหลักฐานอีกหลายอย่างไปแสดงด้วย

เมื่อ 2 ปี ก่อนมีโอกาสไปเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทยใหม่ที่นั่น เคยซื้อหอยชักตีน (หอยสังขาเดียว) จากชาวไทยใหม่มาในกิโลกรัมละ 20 บาท วันนี้พวกเขากลายเป็นผู้ไร้ที่พักพิง อาศัยวัดสามัคคีธรรม อยู่ที่อำเภอคุระบุรี วัน ๆ กินแต่มาม่า หรือปลากระป๋อง หลายคนท้องเสียด้วยเป็นอาหารที่ไม่คุ้นเคย นั่งเหม่อลอยคิดถึงทะเล พวกเขาอยากกลับบ้าน แม้ว่ายังเกรงคลื่นยักษ์อยู่ก็ตาม (ทราบว่าขณะนี้ได้กลับไปแล้ว ในลักษณะที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง)

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ชาวเล ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ ประมาณ 1,000 ครอบครัว ซึ่งรัฐมีโครงการสร้างบ้านใหม่ให้อยู่ ซึ่งไม่ใช่ที่ดินเดิม แต่จะเป็นที่ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลออกไป (เช่นเดียวกับคนไทยทั่วไป) ลักษณะบ้านก็เหมือนห้องแถว ซึ่งกรณีนี้ชาวเลต่างยืนยันเหมือนข้อมูลเบื้องต้นของชาวไทยใหม่ที่เดือดร้อนจาก “สึนามิ”ว่า "ขอให้รัฐจัดที่อยู่ในที่เดิมถ้าไม่ได้อยู่จะขอยอมตาย เพราะชีวิตของพวกเราคุ้นเคยกับทะเล"

สถานที่            ผู้ได้รับความเดือดร้อนเบื้องต้น(ครอบครัว) เผ่า
1. เกาะสุรินทร์                  100                                          มอแกน
2. เกาะลันตา                      59                                         อุลัคกาโว้ย
3. บ้านน้ำเค็ม                   100                                          มอแกน
4. บางสัก                          76                                          มอแกน
5. ทุ้งหว้า                          67                                          มอแกน
6. ราไวย์                           50                                          อุลัคกาโว้ย
7. สิเหร่                           112                                          อุลัคกาโว้ย
8. เกาะพระทอง                  60                                           มอแกน
9. จากที่อื่น ๆ                    400

นายห้อง กล้าทะเล ชาวไทยใหม่จากบ้านทุ้งหว้า บอกว่า ตนและชาวทุ้งหว้า 67 ครอบครัว ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ ขออยู่ในที่เดิม เพราะเป็นที่ที่เราอยู่มาร้อยกว่าปี

“เราไม่ต้องการเป็นชาวสวนยาง เราเป็นชาวเล หากินกับทะเล และขอเป็นผู้ระวังทะเล ”

นี่คือเสียงเพรียกจากชาวไทยใหม่ ในวันนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น