xs
xsm
sm
md
lg

“กางเอ็มโอยู – ถกเวทีสาธารณะ” หวั่นเสียงเอฟ 16 กลบเสียงคนอุดร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“แน่จริง เอาเอ็มโอยูมากางสิ ส่งแฟ็กซ์ให้สื่อไปเลย” คำกล่าวอย่างจริงจังของ ชาตวิทย์ มงคลแสน ประธานกลุ่มประชาคมจังหวัดอุดรธานี กับ “ผู้จัดการรายวัน” สะท้อนชัดถึงความห่วงกังวลที่มีต่อการเช่าสนามบินของสิงคโปร์ และเขายังประเมินว่าเป็นความกังวลเดียวกันกับคนทั้งประเทศ ณ ขณะนี้เลยทีเดียว

..........................................

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐสภาได้ต้อนรับคนอุดรฯ ในนาม “ประชาคมจังหวัดอุดรธานี” ที่เข้ายื่นหนังสือถึงประธานวุฒิสภาเพื่อให้ตรวจสอบกรณีกองทัพอากาศสิงคโปร์ ทำบันทึกช่วยความจำเพื่อความเข้าใจ (MOU) กับกองทัพอากาศไทย เพื่อ”ขอใช้”สนามบินกองบิน 23 จ.อุดรธานี ฝึกการรบเป็นเวลา 15 ปี โดยไทยจะได้รับเครื่องบินรบ เอฟ 16 เอ/บี จำนวน 7 ลำเป็นการตอบแทน

ในหนังสือฉบับเดียวกัน ประชาคมฯ ยังเรียกร้องให้วุฒิสภาให้ตรวจสอบตามมาตรา 59 แห่งรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยสิทธิของชุมชนในการรับรู้ข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ จากการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่อาจจะมีผลกระทบต่อคุณภาพ สิ่งแวดล้อม สุขอนามัย คุณภาพชีวิต หรือผู้มีส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้อง

ชาตวิทย์ หนุ่มใหญ่ชาวอุดรฯ เล่าให้ฟังภายหลังว่า ประชาคมจังหวัดอุดรธานีเป็นกลุ่มคนในจังหวัดจากสาขาอาชีพที่หลากหลาย และรวมตัวกันเพื่อพูดคุยหารือถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัด โดยเริ่มจากการ “โสเหล่”กันวงเล็กๆ ราว 3 – 10 คน และกระจายสู่การหารือในเครือข่ายคนรู้จัก กระทั่งตามมาด้วยการเคลื่อนไหวในที่สุด

“ประชาคมฯ มีคนทั้งจากอาชีพครู ตั้งแต่โรงเรียนประถมถึงมหาวิทยาลัย ถึงรองศาสตราจารย์ก็มี คนจากภาครัฐที่เป็นพัฒนากร ปลัดอำเภอ หรือนายอำเภอ กลุ่มสตรี กลุ่มอาสาพัฒนาชนบท อสม. กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น สท. อบต. และ สจ. รวมถึงคนหนุ่มๆในจังหวัดที่เคยเป็นลูกศิษย์ลูกหา”

ในกรณี”สิงคโปร์ขอใช้สนามบิน” นี้ ชาตวิทย์ เปิดเผยว่า มีวงโสเหล่กันอย่างจริงจังในวันที่ 18 พ.ย.และเริ่มร่างหนังสือในวันเดียวกันนั้น ทั้งนี้ เขายังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเมื่อไปค้นดูแล้วสำนักข่าวของมาเลเซียได้เปิดประเด็นนี้มาระยะหนึ่งแล้ว ขณะที่ในไทยเพิ่งมารับรู้ภายหลังการเซ็นตกลงไปแล้วในวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2540 ประชาคมฯ ก่อเกิดขึ้นมาต่อเนื่องจากการเวทีสมัชชาประชาธิปไตย จ.อุดรธานี เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ชาตวิทย์ เองก็อยู่ในฐานะ สสร. ณ ขณะนั้น โดยยึดเกี่ยวผู้เข้าร่วมในขณะนั้นไว้อย่างหลวม ๆ มีการพบปะแลกเปลี่ยนมาโดยตลอด จนนำมาสู่กิจกรรมร่วมกันหลายครั้ง เช่น การเรียกร้องให้มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมในกรณีการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัทข้ามชาติที่ อ.ประจักษ์ศิลปาคม และ อ.เมือง พร้อมมาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ตามมา

เช่นเดียวกับกรณีการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติที่ภูฮ่อมของบริษัทอมาราดา เฮส โดยยืนอยู่บนหลักการของสิทธิชุมชนในการรับรู้ข้อมูลจากกิจกรรมของรัฐหรือเอกชนที่จะส่งผลกระทบด้านต่างๆ ต่อประชาชน ซึ่งหลักการนี้ก็ไม่แตกต่างกับกรณีสนามบินกองบิน 23 แต่อย่างใด คือยอมรับได้หากมีมาตรการรองรับที่ได้ผล และสำคัญคือการฟังความเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ

“ผมเป็นรุ่นแรกๆ ในการขับไล่จีไอออกจากอุดรฯ เมื่อ 30 ปีก่อน จึงพอจะเห็นภาพว่าตอนนั้นรอบๆ สนามบินเป็นป่า เป็นทุ่งหญ้ารอบสี่ทิศ แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี่ ชุมชนเมืองก็ขยายตัวติดสนามบินทั้งสี่ทิศเหมือนกัน โรงเรียนมีถึงกว่า 10 โรง จนเป็นหนึ่งในสิบเทศบาลของประเทศที่เป็นเทศบาลนคร”

เมื่อถามถึงข้อกังวลอันจะเกิดจากการใช้สนามบินของสิงคโปร์ ชาตวิทย์ ชี้ว่า ผลกระทบจากเสียงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะการซ้อมรบคงต้องใช้การขึ้นลงบ่อยครั้งขึ้น ที่สำคัญเครื่องบินรบคงมีเสียงดังมากด้วย ที่ผ่านมาอัลฟ่าเจ็ตของกองบิน 23 ไม่ก่อผลกระทบมากนัก เนื่องจากจะจอดประจำการเป็นส่วนใหญ่

“เราอยู่แถวนั้นคงอยู่กันลำบาก บินขึ้นลงทุกวัน ปีหนึ่ง 365 วัน ใช้ซ้อมเสีย 300 วัน ให้หายใจแค่ 65 วัน เราอยู่ที่นั่นจะอยู่กันอย่างไร มาตรการรองรับตรงนี้น่าจะมีให้ชัดเจนด้วย ถ้ามีการพูดคุยกับประชาชนก่อนจะเป็นการดีมาก และเท่าที่ติดตาม การแถลงจากกระทรวงกลาโหมเองก็ยังไม่ชัดเจน ที่สำคัญยังไม่พูดถึงผลกระทบและการมีส่วนร่วมของประชาชนตามมารตรา 59 เลย”

นอกจากนี้ ในแง่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อจังหวัดอุดรฯ ชาตวิทย์ เห็นว่ามีจะมีผลน้อยมาก เนื่องจากการให้สิงคโปร์ใช้เครื่องบินซ้อมรบเพียง 20 ลำ มีกำลังพลราว 250 คนตามมา ไม่ทำให้ธุรกิจของอุดรฯ เปลี่ยนแปลงไปมากอย่างฐานทัพอเมริกันในอดีต

“สมัยก่อนกำลังพลอเมริกันเป็นหมื่น พ่อผมยังมีบ้านเช่าให้พวกจีไอเช่าเดือนละ 4- 5 พันบาท ถึง 40 หลัง ค่าเช่ารถรับจ้างระยะทางสั้นๆ อย่างน้อยก็ 5 เหรียญ แต่เมื่อชั่งวัดกันแล้ว แม้เศรษฐกิจจะดีอย่างไร การที่อเมริกันใช้สนามบินในไทยไปฆ่าประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านเรา และการถือสิทธิเหนือดินแดนของไทยราวกับเป็นประเทศของเขา จึงเป็นเหตุผลในการเคลื่อนไหวขับไล่ฐานทัพอเมริกันในตอนนั้น”
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นด้านความมั่นคงนั้น ชาตวิทย์ เปิดเผยว่า ประชาคมฯไม่มีความกังวลมากนัก เพราะเชื่อว่าคงไม่มีการขายชาติเกิดขึ้นกันง่ายๆ อีกแล้วในปัจจุบัน

เขาบอกว่า การไปยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภาที่ผ่านมา เพราะเห็นว่าสภามีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารและหน่วยงานรัฐ และมีอำนาจที่จะเรียกข้อมูลต่างๆ ที่ต้องตรวจสอบได้ รูปธรรมตรงนี้ที่ตนเสนอประธานวุฒิสภาไปคือ การจัด”เวทีสาธารณะ” ซึ่งปกติแล้ววุฒิสภาเองจะจัดเวทีสัญจรเป็นประจำ ในครั้งหน้าซึ่งเป็นครั้งที่ 14 ตนอยากให้มาจัดกันที่อุดรฯ โดยเน้นประเด็นสิงคโปร์ที่ขอใช้สนามบินเป็นประเด็นหลัก ที่สำคัญคือการนำ”เอ็มโอยู”ที่ตกลงกันมาเปิดเผยให้ประชาชนในอุดรฯ และทั้งประเทศรู้ ชาวอุดรฯจะได้ช่วยหารือถึงมาตรการรองรับผลกระทบ

“ต้องเอาข้อมูลและเอ็มโอยูแจกประชาชนไปเลย ดีกว่าพูดกันอยู่ฝ่ายเดียวอย่างนี้ ชี้แจงให้เข้าใจกัน หารือกันว่าจะป้องกันผลกระทบอย่างไร ที่บอกว่าทบทวนได้ จะสามารถทบทวนได้เลยหรือต้องรออีก 5 ปี ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน”

ในประเด็นดังกล่าว “ผู้จัดการรายวัน” ได้สอบถามไปยัง นายจารึก ปริญญาพล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ได้รับคำตอบว่า เป็นการดีอย่างยิ่งที่จะเปิดให้มีเวทีสาธารณะ ทุกฝ่ายจะได้หารือร่วมกัน และสบายใจขึ้น ดีกว่าบรรยากาศที่อึมครึมอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ทางจังหวัดพร้อมจะจัดหาห้องประชุมที่เหมาะสมให้

ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรฯ ยังบอกว่า ในส่วนของจังหวัดนั้น จะมีการประชุมประจำเดือนในวันที 29 พ.ย.นี้ และจะเชิญผู้บังคับการกองบินที่ 23 มาให้ข้อมูลด้วย เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานใดๆ เลย

อย่างไรก็ตาม ชาตวิทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะนี้ต้องรอดูความเคลื่อนไหวของหน่วยงานต่างๆ ว่าจะมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเพิ่มเติมและร่วมหารือถึงมาตรการรองรับต่างๆ หรือไม่อย่างไร หากไม่มีความคืบหน้าทางประชาคมฯ จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น