xs
xsm
sm
md
lg

ถกสื่อ "การสื่อสารความจริงที่ภาคใต้"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ผมรู้สึกผิดหวังต่อ “สื่อ” มาก แม้จะมีเหตุผลที่พอจะเข้าใจได้ก็ตาม และหากสื่อไม่แสดงจุดยืนที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านแล้ว เราอาจต้องเจอกับสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้อีกนับ 10 ปี”

สว.จอน อึ้งภากรณ์ กล่าวด้วยเสียงอันแหบพร่าของเขา ในเวทีเสวนาโต๊ะกลม “การสื่อสารความจริงที่ภาคใต้” ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที 19 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยคณะนิเทศศาสตร์ และอนุกรรมาธิการปฏิรูปสื่อ คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา ท่ากลางผู้เข้าร่วมเสวนาอย่างล้นหลาม

“ผมไม่ยอมรับข้อแก้ตัวใด ๆ ของสื่อ เพราะเห็นว่ามีวิธีการอีกหลายทางที่ไม่เผชิญหน้ากับแรงกดดันต่างๆ “

…...........

เป็นปกติไปแล้ว ที่ก่อนหน้าการเริ่มเสวนาเกี่ยวกับปัญหาความไม่สงบในภาคใต้แทบทุกครั้ง มักมีการฉายเทปบันทึกภาพเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภอ.ตากใบ จ.นราธิวาสในวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา

ครั้งนี้ก็เช่นกัน มีการฉายพร้อมการบรรยายประกอบโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา

ภาพที่ปรากฎท่ามกลางสายตาของผู้เข้าร่วมวงเสวนานั้น นำเสนอตั้งแต่ก่อนการสลายการชุมนุม การยิงปืนขึ้นฟ้า การฉีดน้ำจากรถดับเพลิงเข้าสู่ผู้ชุมนุม การเริ่มต้นระดมยิงเข้าสู่ผู้ชุมนุม การเข้าจับกุมผู้ชุมนุม การควบคุมสั่งการของนายตำรวจ และภาพการใช้ความรุนแรงอันเกินปกติของเจ้าหน้าที่ต่อผู้ชุมนุม
น.พ.นิรันดร์ บรรยายไปพร้อมกันว่า จากการลงไปตรวจสอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญ พบว่าอาวุธปืน ระเบิด และมีดที่เจ้าหน้าที่ตรวจเจอนั้น ไม่ได้พบอยู่บนพื้นดิน หากแต่พบอยู่ในแม่น้ำในวันรุ่งขึ้น อีกทั้งยังพบข้อแตกต่างระหว่างคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในหลายประเด็น เช่น ฝ่ายตำรวจให้ข้อมูลว่าหลังการเข้าควบคุมตัว ผู้ชุมนุมกลุ่มปลายสุดที่ติดกับแม่น้ำตากใบอยู่ในระยะ “ระดับชายน้ำ” ส่วนข้อมูลจากฝ่ายทหารระบุว่ามีผู้ชุมนุม “อยู่ในน้ำ” ราว 400 – 500 คน
…………....

ในการเสวนา นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า กมธ.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กมธ.ต่างประเทศ และ กมธ.วิสามัญปัญหาความมั่นคงจังหวัดภาคใต้ แห่งวุฒิสภา มีความเห็นตรงกันว่าหากเราต้องการสันติภาพและการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง จำเป็นที่ต้องเอาความจริงมาขึ้นมาพูดกัน

“อันที่จริงแล้วมีประชาชนที่เป็นผู้บริสุทธิจำนวนมากที่ถูกฆ่าตาย ถูกซ้อม ถูกคุมขัง โดยที่ไม่รู้เห็น อย่างกรณีชาวบ้าน 5 คนที่ถูกตั้งข้อหาปล้นปืน และทนายสมชายเข้าไปช่วย หรือแม้แต่ทนายสมชายเองก็ถูกอุ้มไป”

“สิ่งที่ต้องกังวลคือ เมื่อมีคนตายหนึ่งคน จะมีญาติพี่น้องของเขาอีกเป็นพันเป็นหมื่นที่มีความแค้น นี่ไม่ใช่สงครามธรรมดาทั่วไป แต่เป็นสงครามประชาชน การใช้มาตรการที่ผิดพลาดอย่างนี้กลับเป็นการช่วยขยายแนวร่วมของผู้ไม่หวังดี”

นพ.นิรันดร์ ให้ความเห็นต่อว่า ขณะนี้มีการสร้างกระแสที่พยายามแบ่งเขาแบ่งเรา ซึ่งเห็นได้ว่าความรุนแรงได้คืบคลานจากพื้นที่ภาคใต้เข้าสู่ส่วนกลางแล้วจากปรากฎการณ์เหล่านี้

“ทำอย่างไรที่จะทำไม่ให้มีการขยายแนวร่วมของความแตกแยกต่อๆ กันไป”

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า เราไม่ได้สู้กับตัวบุคคลแต่สู้กับระบอบทักษิณทีเป็นเผด็จการธุรกิจผูกขาดสื่อสารการตลาด และด้วยนโยบายที่ผิดพลาดของระบอบนี้ ทำให้เกิดสถานการณ์ตายสิบเกิดแสนสร้างแนวร่วมเพิ่มขึ้นให้กับผู้ไม่หวังดี และสังคมเกิดการแบ่งแยกอย่างที่ไม่มีใครคาดหวังไว้

“สื่อต้องช่วยกันหาทางออก ส่วนตัวเชื่อว่าเพียงแค่การพับนกคงไม่ได้ช่วยอะไรมาก สื่อต้องพยายามนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตาย การสูญหาย ให้ได้รับการชดใช้เยียวยามากน้อยแค่ไหน”

ในมุมมองของสื่อมวลชน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวว่า การทำข่าวความไม่สงบในภาคใต้ของตนนั้นต้องย้อนกลับไปศึกษาถึงรากฐานของปัญหาชายแดนภาคใต้ทั้งหมดก่อน คำถามต่อมาคือความรุนแรงเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่ทุกสังคมจะมีคนที่มีความคิดรุนแรงสุดโต่ง ซึ่งอาจไม่ใช่ปัญหาเสมอไป หากแต่ความคิดเหล่านี้สามารถขยายไปได้หากมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

“ยืนยันว่าชาวบ้านไม่ได้ต้องการการแก้ปัญหาในเชิงเศรษฐกิจอย่างที่รัฐบาลกำลังโหมทำอยู่ในขณะนี้ แต่ต้องการความเป็นธรรมมากกว่า ถามว่าที่อื่นก็ต้องการเหมือนกัน ที่นี่จะต่างกันตรงที่ว่าทัศนคติจากคนข้างนอกพื้นที่นั้นไม่เหมือนกับที่อื่น”

สุภลักษณ์ให้ความเห็นว่า ในเมื่อการให้ความยุติธรรมแก่มุสลิมเหล่านี้มีปัญหา จุดยืนของสื่อคือต้องผดุงความยุติธรรมให้ ไม่อย่างนั้นพวกเขาจะกลายเป็นแนวร่วมของกลุ่มที่ก่อความไม่สงบไปในที่สุด

“มีคติที่ดีของมุสลิมอยู่ข้อหนึ่งคือ เมื่อมีความไม่เป็นอยู่ตรงหน้า มุสลิมต้องสู้ ซึ่งอันที่จริงแล้วการสู้ ณ ที่นี้ก็มีรูปแบบหลากหลาย แต่สิ่งที่พบขณะนี้คือการสู้ในกรอบของกฎหมายนั้นยากมาก หลังจากทนายสมชายหายตัวไป”

สุภลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าขณะนี้กำลังมีการ”ปลุกเสก”ความรุนแรงให้เกิดขึ้นภายในสังคมไทย หน้าที่ของสื่อคือต้องลดภาพที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมา อย่างเช่น การเลือกข่าวนำ การเลือกคำในการเขียนข่าว เป็นต้น

ด้าน ศุภรา จันทร์ชิดฟ้า ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ กล่าวว่า สื่อกระแสหลักมักให้ความสำคัญกับข่าวที่มาจากคนของรัฐเป็นหลัก ขณะที่สื่อเหล่านี้เองก็ถูกหล่อหลอมด้วยประวัติศาสตร์ชาตนิยมแบบที่มองว่าชนกลุ่มน้อยมักมีปัญหา และถูกปลูกฝังให้มีวิธีคิดทีแบ่งแยกกัน ชัดเจนว่าคนทำสื่อเหล่านี้ไม่มีความรู้ในปัญหาภาคใต้และศาสนาอิสลามอย่างดีพอ อีกทั้งหนังสือพิมพ์ภาษาไทยบางฉบับยังมีการคัดสรรภาษาที่ใช้น้อยมาก

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้จัดการโครงการหนังสือพิมพ์บนเวบ “ประชาไท” ซึ่งเสนอข่าวเจาะลึกจากประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดและแตกต่างกับสื่อทั่วไป กล่าวว่า ในปัจจุบัน กระแสโดยรวมของการนำเสนอข่าวเพียงมุมเดียวที่มีความอ่อนไหวมาก มีความคล้ายคลึงกับภาวะในยุคสมัยของเผด็จการ จะแตกต่างกันตรงที่ว่าสมัยนั้นมีวิทยุยานเกราะ แต่ปัจจุบันรูปแบบอาจเปลี่ยนไป สื่อทางเลือกอย่าง “ประชาไท” จึงต้องถ่วงให้อีกมุมหนึ่งได้รับการนำเสนอขึ้นมาด้วย

ด้าน รศ.ดร.พีระ จิรโสภณ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าสังคมกำลังเผชิญกับวิกฤตข่าวสารและความจริง ซึ่งจะส่งผลให้คนในสังคมเกิดความแตกแยกได้ และส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผู้เข้าร่วมเสวนาเป็นอย่างมากในวันนี้ คาดว่าน่าจะเป็นมาจากแต่ละคนรู้สึกว่าได้รับข่าวสารไม่ครบถ้วน หรือในอีกอย่างคือข่าวที่ได้เป็นข่าวทีมีพิษ และปลอมปนด้วยสิ่งที่ไม่ดี

“ท่านนายกฯน่าจะได้ปริญญาดุษฎีบัณฑิต Art of Propaganda ซึ่งเฟื่องฟูในยุคฮิตเลอร์”

คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า สื่อเองต้องตระหนักเสมอว่าความจริงบางอย่างควรจะเปิดหรือไม่ เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งความมั่นคงและสันติสุข คำถามต่อมาคือเป็นความมั่นคงและสันติสุขของใคร ตรงนี้สื่อมวลชนน่าจะวินิจฉัยได้ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาด้วยว่าสิ่งที่จะนำเสนอเป็นประโยชน์แก่สังคมหรือไม่ หรือว่าเป็นประโยชน์เพียงแค่กลุ่มหรือทำลายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่อย่างไร อั้นนี้ต้องหลีกเลี่ยงเพราะจะทำลายความมั่นคง

รศ.ดร.พีระ กล่าวต่อว่า การทำข่าวกรณีตากใบสะท้อนให้เห็นข้อจำกัดและวัฒนธรรมในการทำงานเฉพาะหน้าของสื่อ มักจะจับเหตุการณ์แต่ละวัน ที่ไม่ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไมถึงเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ซึ่งจะเป็นการให้ความรู้แก่ผู้รับสารอย่างสมบูรณ์และสร้างสรรค์

“สื่ออย่าพยายามเสนออารมณ์มากไปกว่าข้อเท็จจริง ต้องแยกอารมณ์ออกจากข่าว”

กำลังโหลดความคิดเห็น