การปูพรมก่อความไม่สงบในภาคใต้ส่งท้ายเดือนรอมฎอนต้อนรับ “วันฮารีรายอ” ไม่อาจสร้างความหวั่นไหวให้กับชาวมุสลิมซึ่งยังคงออกมาเฉลิมฉลองวันรายอกันอย่างคึกคัก
เดือนรอมฎอนอันประเสริฐของชาวมุสลิม ผ่านพ้นไปท่ามกลางกระแสการปูพรมก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การถล่มทหารชุดคุ้มครองวัด มีการวางระเบิด 4 จุด ที่ร้านค้าและสถานที่ราชการ โดยเฉพาะที่สถานีตำรวจ ซึ่งเกิดเหตุระเบิด 3 จุด ในวันศุกร์ที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา และระหว่างเกิดเหตุคนร้ายได้วางเรือใบไปทั่วถนนในย่านชุมชน
ขณะเดียวกันที่ จ.ปัตตานี ก็มีเหตุระเบิดเกิดขึ้น 1 จุด และเหตุปล้นปืนชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน(ชรบ.) ที่ อ.บาเจาะ พร้อมกัน 5 จุด
วันเสาร์ที่ 13 พ.ย. รุ่งขึ้น ในพื้นที่ยะลา เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่บริเวณร้านขายกับข้าว และผักสดในตลาดนัดธารโต อ.ธารโต ใน จ.ปัตตานี มีเหตุตำรวจถูกยิงหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. บนถนนสายปัตตานี-นราธิวาส และในนราธิวาสก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่ศาลาที่พักผู้โดยสารเรือข้ามฟากพรมแดนไทย-มาเลเซีย บ้านบาราโอ๊ะ อ.แว้ง จ.นราธิวาส
ช่วงเช้าวานนี้ (14 พ.ย.) ซึ่งเป็นวันฮารีรายอ ก็มีเหตุลอบสังหารอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภอ.กรงปินัง และคนงานชาวพม่าที่บ้านพัก
ความไม่สบที่เกิดขึ้นราวกับเป็นการทิ้งท้ายเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ และต้อนรับวันเฉลิมฉลองประจำปีของชาวไทยมุสลิม
ในขณะที่มีรายงานข่าวว่า หน่วยข่าวกรองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แจ้งข่าวไปยังทหาร ตำรวจ และส่วนราชการอื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้มีกระแสข่าวการเตรียมการก่อความไม่สงบ ภายในชุมชนไทยพุทธของใน 4 จังหวัดคือ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี และสงขลาทำให้อุณหภูมิของสถานการณ์ความไม่สงบยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะเกิดเหตุร้ายขึ้นในหลายพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันสำคัญทางศาสนาวันนี้ไม่ทำให้มุสลิมในพื้นที่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแต่ประการใด
แหล่งข่าวจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ระบุตรงกันว่า วันฮารีรายอปีนี้ ยังมีมุสลิมทุกเพศทุกวัยคลาคร่ำมัสยิดพร้อมเสื้อผ้าที่สวยสดตั้งแต่เช้าเหมือนเดิม รวมถึงการเดินทางเยี่ยมเยียนญาติมิตรทั้งใกล้และไกลยังดำเนินเป็นปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
“ดูๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ท่าจะน้อยกว่าที่คิดไว้ และไม่ค่อยคุมเข้มเท่าไหร่ ขนาดเด็กเล่นประทัดยังไม่เข้าไปเคลียร์ ถ้าเป็นปีก่อนจะเข้มมาก” แวซา ชาวบ้านจากปัตตานี ระบุ
“วันฮารีรายอ” ในสำเนียงมลายูท้องถิ่น 3 จังหวัดภาคใต้ และ “ฮารีรายา” ในสำเนียงภาษาใต้ รวมทั้ง “วันอีด” หรือ“วันออกบวช” ในความหมายของมุสลิมภาคกลางนั้นล้วนหมายถึงวัน ”อีดิ้ลฟิตรี”ในภาษาอาหรับ อันเป็นหนึ่งในวันสำคัญของอิสลาม เทียบกับ “วันตรุษ” หรือจะเป็น “วันออกพรรษา” ของชาวไทยพุทธ นั่นเอง
อีดิลฟิตรี คือวันที่ 1 เดือนเชาวาล อันเป็นเดือนที่ 10 ถัดจากเดือนรอมฎอนในปฏิทินทางจันทรคติของอิสลาม ซึ่งเริ่มต้นวันมาตั้งแต่ช่วงเวลาตะวันลับขอบฟ้าของวันที่ 30 เดือนรอมฎอน หรือวันเสาร์ที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นวันฮารีรายอในประเทศไทยนั้นยังมีความแตกต่างกันอยู่แล้วแต่ชุมชนว่าจะยึดตามหลักเกณฑ์ของสำนักจุฬาฯ หรือตามเกณฑ์ของมาเลเซีย (ในกรณีติดชายแดน) หรือตามเกณฑ์ของซาอุดีอารเบีย
ฮารีรายอ เป็นวันที่อิสลามสนับสนุนให้มีการเฉลิมฉลองรื่นเริง งานนี้เด็กๆ จะสนุนสนานเต็มที่ พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ มักให้เงินซื้อขนม ซื้อของที่อยากได้มานานวัน ส่วนพวกผู้ใหญ่จะปะพรมน้ำหอม แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่สะอาด เรียบร้อย จัดเตรียมอาหารทั้งคาวหวานรองรับแขกผู้มาเยือน เช่น ปูโละ ซึ่งเป็นข้าวเหนียวหน้าต่างๆ, รอเญาะ , กูแวฮางิ คล้ายๆ คัสตาร์ด ส่วนละแซ จะเหมือนขนมจีน, นาซิดาแฆ หรือข้าวแกงท้องถิ่น
นอกจากนั้นยังมีการบริจาคทาน ละหมาดร่วมกันที่มัสยิดกลางชุมชน และฟังคุฎบะฮ์ (คำเทศนา) อันสอดคล้องกับสภาวการณ์ของสังคมเพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้ฟังยึดมั่นในหลักการของอิสลาม รวมทั้งการเยี่ยมสุสานเพื่อรำลึกถึงผู้จากไปและรำลึกถึงความตายอันเป็นหนึ่งในการกำหนดของพระผู้เป็นเจ้า เยี่ยมเยียนญาติพี่น้อง มิตรสหาย เพื่อสมานความรักใคร่กลมเกลียว
ที่สำคัญคือวันนี้เป็นวันของการขอมาอัฟ (ขออภัย) ในความผิดพลาดต่อกันในรอบปี ทั้งที่ผู้กระทำจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม
สิ่งเหล่านี้หล่อเลี้ยงสังคมมุสลิมด้วยความอบอุ่นและศีลธรรมของการให้อภัยตลอดมา
อย่างไรก็ตาม ก็ยังเป็นคำถามอยู่ว่าจุดแข็งเหล่านี้จะมีส่วนพยุงสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้มากน้อยเพียงใด หากเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมยังดำรงอยู่ กอปรกับการให้โอกาสของพลังชุมชนมุสลิมยังคงจำกัดอยู่อย่างในปัจจุบัน