xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นฟูป่าพรุควนเคร็ง : จากบทเรียนสู่การมีส่วนร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวิ้งฟ้ากว้างโอบคลุมเหนือทุ่งเขียวขจี สายลมหอบกลิ่นอายท้องทุ่งพัดผ่านหน้าผู้มาเยือน ฉากหลังของผืนหญ้าเขียวตัดขอบฟ้าสีหม่นครึ้มแดดครึ้มฝนรกรื่นไปด้วยไม้เสม็ดแต่งแสมให้”ป่าพรุควนเคร็ง”แห่งนี้ไม่ดูโล่งตาจนเกินงาม

พรุควนเคร็งในวันนี้ดูอุดมสมบูรณ์แตกต่างจาก 3 – 4 ปีที่ผ่านมาอย่างน่าดีใจในสายตาของชาวบ้าน ต.เคร็ง แห่ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพราะย้อนกลับไปไม่นาน ป่าพรุแห่งนี้ดำรงอยู่ภายใต้สภาพที่เสื่อมโทรม แห้งแล้ง และผจญภัยไฟป่าอยู่เป็นประจำและนับครั้งไม่ถ้วน อันเป็นผลต่อเนื่องจากความผันผวนสมดุลของธรรมชาติและน้ำมือของมนุษย์ผู้ไม่รู้ค่าป่าพรุ

“คนเคร็ง” ยังจำบทเรียนจากอดีตในครั้งนั้นได้ดี

………………

พลันที่มีประกาศิตจากมติ ครม. วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2546 ที่เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจากเดิม "1. เสนอแนวนโยบายและทิศทางการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" โดยเพิ่มวลี “โดยให้มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน" ต่อท้ายประโยคเดิม

ทิศทางการดำเนินการของหน่วยงานรัฐต่อการพัฒนาทะเลสาบสงขลา จึงถูกเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงถึงขั้นกลับหัวกลับหาง
แน่นอนทีเดียว การมีส่วนร่วมของตาสีตาสาที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรจากสายตาเจ้าหน้าที่รัฐ ดูจะสวนทางกับแนวทางการพัฒนาโดยกลไกของรัฐที่ผ่านมา และคงจะเป็นการก้าวกระโดดสำหรับการปรับตัวของหน่วยงานรัฐมากเกินไปในทางปฏิบัติ เพราะด้วยวัฒนธรรมองค์กรของรัฐเพียงกรณีการวางแผนในการพัฒนาทะเลสาบสงขลา “รอบนี้” ยังมีที่ครหาในเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการใช้งบศึกษา ดังที่ “ผู้จัดการ” ได้เคยนำเสนอไปแล้วในวันที่ 27 – 28 พฤศจิกายน เมื่อปีกลาย

ในวันนั้นบทบาทในการทักท้วงก็มาจากคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภาคประชาชน เป็นสำคัญ
ณ วันนี้ ผู้ใหญ่โกเมศว์ ทองบุญชู หนึ่งในคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ภาคประชาชน ยืนยันกับทาง “ผู้จัดการ”ว่า แม้ทางภาครัฐจะมีนโยบายในการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แต่หากไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ชาวบ้านก็จะไม่ให้ความร่วมมือด้วย

ในช่วงนี้ระหว่างรอการร่างแผนแม่บทพัฒนาและฟื้นฟูลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาให้สมบูรณ์ ทางคณะกรรมการฯ ภาคประชาชน เห็นร่วมกันที่จะหนุนเสริมการจัดการกับปัญหาทรัพยากรในแต่ละหมู่บ้านรอบทะเลสาบด้วยตัวของชาวบ้านอง รวมทั้งรวมกลุ่มชาวบ้านและกระตุ้นให้รับรู้ถึงสิทธิในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เตรียมแผนแม่บทของท้องถิ่นตัวเอง ไม่ต้องรอน้ำใจจากหน่วยงานรัฐเพียงอย่างเดียว

“รัฐบาลเป็นลูกจ้างชั่วคราว ข้าราชการเป็นลูกจ้างประจำ ส่วนเราชาวบ้านเป็นหุ้นส่วนใหญ่ จะทำอะไรก็ต้องขึ้นอยู่ที่เรา” ผู้ใหญ่โกเมศว์ กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบันความก้าวหน้าของโครงการมาถึงขั้นการร่างแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาของนักวิชาการจาก 3 สถาบันท้องถิ่น ซึ่งเลื่อนกำหนดแล้วเสร็จจากตุลาคมนี้เป็นปีหน้า

……………………

ป่าพรุควนเคร็งใน อ.ชะอวดแห่งนี้ เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของคณะสื่อมวลชนที่ตระเวณดูเรื่องราวการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

อันที่จริงป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งมีพื้นที่ติด 3 จังหวัดคือนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลาราว 272,000 ไร่แห่งนี้ ไม่ได้มีแนวเขตติดกับทะเลสาบสงขลาโดยตรง แต่ติดกับทะเลน้อยซึ่งเป็นบึงน้ำจืดขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งไหลน้ำลงสู่ทะเลตอนบนซึ่งอยู่ทางทิศใต้ลงมา และถือได้ว่าเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลากับลุ่มน้ำปากพนัง

“ตอนนี้น้ำเริ่มมากขึ้นแล้ว ปลาที่หาไม่ค่อยได้ก็เริ่มจับได้บ้างแล้ว แต่ก่อนตอนน้ำป๊ะเบ(น้ำเจิ่งนองตลอดปี) คนเคร็งมีรายได้จากการจับปลาวันละสามร้อยบาทถึงพันกว่าบาทเลยนะ อยู่ที่ว่าจะขยันหรือไม่เท่านั้นเอง” ลุงสมเอก อินทร์ช่วย รองนายก อบต.เคร็ง สดๆ ร้อนๆ เล่าย้อนความหลังให้เราฟัง

หลายปีมานี้ ป่าพรุที่เคยอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำและพืชผักหล่อเลี้ยงคนเคร็งได้โดยไม่ต้องพึ่งสินค้าอย่างอื่นจากภายนอกเว้นแต่เกลือเพื่อปรุงรส เริ่มเปลี่ยนไปเป็นทุ่งกว้างที่ไร้น้ำซับ และถูกรุมเร้าด้วยไฟป่า

ลุงสมเอกเล่าให้ฟังว่าน้ำที่เคยมีอยู่ในพรุตลอดปีนั้นแห้งขอดลงไปเพราะเกิดจากหน่วยงานรัฐเข้ามาขุดลอกคูคลอง ทำให้น้ำไหลออกจากพรุเร็วเกินระบบธรรมชาติจะหนุนทัน ไม่มีน้ำท่วมเหลือเลี้ยงพรุ

ไฟป่าจึงเป็นภัยคุกคามป่าพรุที่สืบเนื่องมาจากน้ำที่แห้งเหือด

แต่ก่อนจุดไฟเพราะหาเต่า ช่วงหลังมีการรับจ้างเผาให้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม กลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งต้องการพื้นที่สร้างสวนปาล์ม คนที่รับจ้างปลูกปาล์มมียศเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในพื้นที่เสียด้วย ถึงขนาดนั้น คนจนไม่มีทางทำได้ ส่วนคนมือบอนมีบ้าง แต่น้อย” วิเชียร เสนาชู ตัวแทนคนเคร็ง เคยกล่าวไว้ในเวทีการมีส่วนร่วมและประชาสัมพันธ์ โครงการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมา

ลุงสมเอก เล่าให้ฟังต่อว่าปลาลำพันซึ่งเป็นปลาน้ำจืดสายพันธ์ปลาดุกชนิดหนึ่ง สร้างชื่อเสียงให้กับคนเคร็งมาก เนื่องด้วยเนื้อที่นิ่มเป็นมัน อร่อยถูกปากชาวบ้านนักหนาเมื่อนำมาปรุงแกงกับหัวมันขี้หนูตำรับถิ่น ปัจจุบันนี้หายากเต็มทีแล้ว

เล่ากันในหมู่ชาวบ้านควนเคร็งว่าหากปลาลำพันกลับมาจับหากันคล่องง่ายขึ้น นั่นหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ได้กลับมาที่ป่าพรุแห่งนี้แล้ว

“ป่าพรุต้อง ป๊ะเบ เท่านั้น ลำพันจะกลับมาอีกครั้ง ตอนเด็กๆ จับกันไม่หวาดไม่ไหว” ลุงสมเอกกล่าว

.............................

หลังการสรุปบทเรียนของชาวบ้าน การดำเนินการเพื่อย้อนอดีตให้คืนกลับมาในขั้นแรกคือการคือการสร้างฝายกั้นน้ำขนาดเล็กจำนวน 9 แห่ง เพื่อทัดทานการไหลและอุ้มน้ำให้อยู่ในป่าพรุให้นานที่สุด กว่าหนึ่งปีที่ทำมาทุกวันนี้เริ่มเห็นผลบ้างแล้ว คือปลาในพรุที่จับได้มากขึ้น และไฟป่าก็เว้นช่วงไปนานแล้ว

นอกจากนี้ การส่งเสริมอาชีพยังเป็นเป้าหมายที่คนเคร็งวางไว้ เนื่องจาก"กระจูด" ซึ่งเป็นพืชในป่าพรุอีกอย่างที่สร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบในการแหล่งผลิตสาด (เสื่อ) และเครื่องสานจำพวกตะกร้า กระเป๋า และหมวก ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดนครศรีธรรมราช

กิจกรรมและการรวมกลุ่มชาวบ้านกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นและจริงจัง เพื่อแสดงศักยภาพในการพัฒนาชุมชนด้วยตัวเอง ในขณะที่การมีส่วนร่วมที่แท้จริงดังผู้ใหญ่โกเมศว์ยืนยันไว้ จะพบเห็นเพียงในรัฐธรรมนูญ หรือแผนแม่บทฯ หรือไม่ อย่างไร เป็นสิ่งต้องรอพิสูจน์ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น