xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) จากโค้งผีสิงสู่สวนศิลป์ศักดิ์สิทธิ์ "โค้งหัวหรั่ง" พัทลุง จุดอันตรายในอดีตกลายเป็นแลนด์มาร์กสายมูแห่งใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





ณ โค้งบ้านหัวหรั่ง บนถนนเพชรเกษมสายพัทลุง-หาดใหญ่ ในพื้นที่ ต.ควนขนุน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ภาพที่ผู้คนเห็นในวันนี้คือสวนสวยงามประดับด้วยประติมากรรมรูปปั้นศิลปะพื้นบ้านที่สง่างาม แต่หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ที่แห่งนี้คือหนึ่งในจุดที่อันตรายที่สุดบนท้องถนนของจังหวัดพัทลุง จนได้รับสมญานามว่า "โค้งผีสิง" หรือ "โค้งปราบเซียน"

ในอดีต โค้งหัวหรั่งซึ่งมีความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก โดยเฉพาะเมื่อฝนตก ถนนจะลื่นเป็นพิเศษ ทำให้รถยนต์ที่สัญจรผ่านไปมาเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ข้างทาง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 2-3 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกนับไม่ถ้วน ชาวบ้านที่อาศัยอยู่สองฝั่งถนนต่างอยู่อย่างหวาดผวา ไม่กล้าออกมาหน้าบ้านด้วยความกลัวว่ารถจะเสียหลักพุ่งเข้ามา

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2561 เมื่อกรมทางหลวงพัทลุงได้ดำเนินโครงการเวนคืนที่ดินและตัดถนนใหม่ให้เป็นเส้นตรงแทนเส้นทางโค้งเดิม ซึ่งแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุได้อย่างสิ้นเชิง และบนพื้นที่ว่างริมทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณ 2 ไร่ที่เคยเป็นจุดอันตราย ก็ได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้กลายเป็นสวนศิลปะที่โดดเด่นและสวยงาม

ปัจจุบัน พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นที่ตั้งของประติมากรรมรูปปั้นท่ารำมโนราห์ ศิลปะการแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ ขนาดความสูงประมาณ 3 เมตร โดยมีการจัดแสดงท่ารำต้นตำรับของจังหวัดพัทลุงครบทั้ง 12 ท่า อาทิ ท่าเทพนม, ท่าพรหมสี่หน้า, ท่าเขาควาย, ท่าสอดสร้อยมาลา ไปจนถึงท่าพิสมัยเรียงหมอน นอกจากนี้ยังมีรูปปั้น "ตาพรานบุญหน้าแดง" และตัวตลกในหนังตะลุงอย่าง "ไอ้เท่ง" และ "ไอ้หนูนุ้ย" สร้างความน่าสนใจให้แก่ผู้ที่สัญจรผ่านไปมา

จากจุดที่เคยเป็นที่หวาดกลัว ปัจจุบันโค้งหัวหรั่งได้กลายเป็นศูนย์รวมความศรัทธาแห่งใหม่ โดยเฉพาะรูปปั้น "ตาพรานบุญหน้าแดง" ที่ชาวบ้านและผู้ขับขี่รถยนต์ต่างให้ความเคารพ ผู้คนที่เคยมาบนบานศาลกล่าวแล้วประสบความสำเร็จในเรื่องโชคลาภ หรือสอบเข้ารับราชการได้ ก็จะนำพวงมาลัย น้ำแดง หมากพลู และจุดประทัดเพื่อแก้บน เสียงประทัดจะดังขึ้นตลอดทั้งวันโดยเฉพาะในวันอังคาร วันพฤหัสบดี และวันเสาร์ และจะยิ่งคึกคักเป็นพิเศษในช่วงใกล้วันหวยออก

สำหรับ "ตาพรานบุญ" นั้น ถือเป็นตัวละครและครูโนราที่สำคัญในเรื่องมโนราห์ เป็นตัวตลกที่สร้างเสียงหัวเราะให้แก่ผู้ชมด้วยท่ารำที่ไม่มีแบบแผนตายตัว แต่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวของผู้รำในการแสดงท่าทางตลกขบขัน เช่น การย่อตัวรำ หลังแอ่น หรือการทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องเคลื่อนไหวเป็นลอนคลื่น ซึ่งสร้างความสุขให้แก่ผู้ชมทุกเพศทุกวัยเสมอมา

การเปลี่ยนแปลงของโค้งหัวหรั่งจึงไม่เพียงแค่การลดอุบัติเหตุ แต่ยังเป็นการสร้างสรรค์พื้นที่ที่ผสมผสานศิลปะ วัฒนธรรม และความเชื่อเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว


กำลังโหลดความคิดเห็น