หากกล่าวถึงจังหวัดที่พบบุหรี่เถื่อนหรือบุหรี่หนีภาษีมากที่สุดในประเทศไทยในเวลานี้ ชื่อของ สงขลา สตูล และพัทลุง คงจะต้องติดอันดับต้นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะสงขลา ซึ่งครองแชมป์จังหวัดที่มีสัดส่วนการบริโภคบุหรี่เถื่อนสูงสุดมาหลายสิบปีติดต่อกัน แม้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจะถูก สตูล แซงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง โดยข้อมูลผลการสำรวจซองบุหรี่เปล่าที่เก็บจากทั่วประเทศล่าสุด พบว่า 94.4% บุหรี่ที่บริโภคในสตูลเป็นบุหรี่เถื่อน และสงขลา (90.1%) พัทลุง (82.3%) ตามมาเป็นอันดับที่สองและสาม ทำให้สถานการณ์บุหรี่เถื่อนในสามจังหวัดนี้น่ากังวลอย่างมาก
สาเหตุหลักที่ทำให้สงขลา สตูล และพัทลุงกลายเป็นพื้นที่อ่อนไหวของปัญหานี้คือ ความใกล้ชิดกับชายแดนไทย-มาเลเซีย จังหวัดมีพื้นที่ติดต่อกัน และยังมีท่าเรือน้ำลึกและท่าเรือเอกชนจำนวนมากซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อน โดยมีทั้งขบวนการนำเข้าทางบกจากด่านพรมแดน และทางทะเลผ่านเรือประมงพื้นบ้าน รวมทั้งการสำแดงสินค้าผ่านแดน ที่ยากต่อการตรวจสอบ
นอกจากนี้ยังมีบุหรี่เถื่อนที่มาจากทางฝั่งกัมพูชา ที่ลักลอบเข้าสู่ประเทศไทยทาง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส แล้วกระจายต่อเข้าภาคใต้ ผ่านระบบกระจายสินค้าที่มีความซับซ้อน รวดเร็ว และมีความเชี่ยวชาญระดับสูง จนเรียกได้ว่าเป็น องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ
จำนวนร้านค้าที่ลักลอบจำหน่ายบุหรี่เถื่อนในสงขลา สตูล และพัทลุงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่แอบขายเฉพาะบางร้านในพื้นที่ชายแดน บัดนี้ได้กระจายเข้าสู่ย่านชุมชนและตลาดสดต่าง ๆ อยู่ล้อมรอบโชห่วยที่ขายของถูกกฎหมาย แม้เจ้าหน้าที่จะมีการจับกุมบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็มีคำพูดที่ได้ยินกันบ่อยในพื้นที่ว่า “ร้านเดิมก็กลับมาเปิดใหม่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น”
แม้เราจะเห็นข่าวการจับกุมบุหรี่เถื่อนอยู่เป็นระยะๆ เช่น ปฎิบัติการจับบุหรี่เถื่อนล็อตใหญ่ 1,100 ลัง กว่า 3 แสนซองใน อ. หาดใหญ่ จ. สงขลา มูลค่าประมาณ 28 ล้านบาท โดยคิดเป็นค่าภาษีประมาณ 20 ล้านบาท ค่าปรับเกือบ 300 ล้านบาท และการจับบุหรี่เถื่อนกลางเมืองสตูล ได้ของกลางเกือบ 5 พันซอง แต่สิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นคือ การจับกุมตัวการใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังขบวนการ เพราะแทบทุกครั้ง การจับกุมจะหยุดลงแค่ลูกจ้างขายของหรือผู้ขนส่งเท่านั้น ไม่สามารถสืบสาวถึงผู้นำเข้า รายใหญ่ หรือหัวหน้าเครือข่ายได้ ทำให้วงจรของบุหรี่เถื่อนยังคงหมุนเวียนต่อไปเรื่อยๆ
สถานการณ์นี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อรายได้ภาษีสรรพสามิตของประเทศ แต่ยังทำให้รายได้ภาษีท้องถิ่นที่ควรจะนำมาใช้พัฒนาบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การแพทย์ และโครงสร้างพื้นฐาน หายไปอย่างมหาศาล เพราะบุหรี่ 1 ซองต้องเสียภาษี อบจ. ซองละ 1.86 บาท และยังต้องเสียภาษีมหาดไทยอีก 10% ของภาษีสรรพสามิต หรือประมาณซองละ 4 บาท (ราคาบุหรี่ซองละ 70-72 บาท)
หากลองคำนวนจากสัดส่วนบุหรี่เถื่อนประมาณ 90% ในสามจังหวัดนี้ ประเมินว่าทั้งสงขลา สตูล และพัทลุงสูญเสียรายได้ภาษีท้องถิ่นรวมกัน ไม่ต่ำกว่าปีละ 135 ล้านบาทต่อปี
สงขลา สตูล และพัทลุง ไม่ใช่แค่จังหวัดชายแดนธรรมดา แต่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงของภาคใต้ มีทั้งการท่องเที่ยว วัฒนธรรม การค้าขาย และระบบโลจิสติกส์ที่พร้อมพัฒนา แต่หากปล่อยให้ปัญหาบุหรี่เถื่อนแพร่ขยายโดยไร้การควบคุม จนได้ชื่อว่าเป็น “เมืองหลวงบุหรี่เถื่อน” ต่อไปแบบนี้ ย่อมกระทบต่อภาพลักษณ์และโอกาสการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
หน่วยงานภาครัฐจะต้องยกระดับการปราบปรามบุหรี่เถื่อนให้ถึงต้นตอ และบังคับใช้กฎหมายให้ “ล้างบางทั้งระบบ” ให้ได้ ไม่ใช่เพียงแต่จับหน้าร้านหรือเครือข่ายรายย่อยเท่านั้น และภาคประชาชนเองก็ต้องไม่ส่งเสริมการซื้อสินค้าผิดกฎหมาย ด้วยความเข้าใจว่า “ถูกกว่า” ไม่ใช่คำตอบ หากมันทำลายทั้งเศรษฐกิจท้องถิ่นและสุขภาพของคนในชุมชน