xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ไอเดียสุดปัง! บ้านท่าแลหลาผนึกกรมประมง ปั้น ‘เซมเบ้กุ้งเคย’ ยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นสู่ของฝากหรูดูแพง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





นับเป็นไอเดียสุดปังที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เมื่อกลุ่มแม่บ้านแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอาหารทะเลและผู้นำชุมชนแห่งศูนย์เรียนรู้บ้านท่าแลหลา ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล ได้ผนึกกำลังนำ “กุ้งเคย” วัตถุดิบพื้นถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ มายกระดับด้วยนวัตกรรมการแปรรูป พลิกภาพจำจาก “กะปิท่าแลหลา” ที่คุ้นเคย สู่ผลิตภัณฑ์ใหม่สุดว้าวอย่าง “เซมเบ้กุ้งเคย” “ผงโรยข้าวกุ้งเคย” และ “กุ้งเคยหวาน”

โดยเฉพาะ “เซมเบ้กุ้งเคย” ที่สร้างความแปลกใหม่เป็นพิเศษ สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคย “เซมเบ้” (Senbei) คือขนมข้าวเกรียบสไตล์ญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อเรื่องความกรอบ มีทั้งรสเค็มและหวาน การนำวัตถุดิบท้องถิ่นอย่างกุ้งเคยมาทำเป็นเซมเบ้ จึงเป็นการผสมผสานที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้เป็น “ของฝากสวยหรูดูแพง” ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ได้อย่างลงตัว

ความสำเร็จในการต่อยอดภูมิปัญญาสู่สินค้าพรีเมียมครั้งนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือกับกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ กรมประมง ที่ได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการแปรรูปให้แก่ชาวบ้าน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของ “แพ็กเกจจิ้งที่สวยงาม” เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความหลากหลายให้แก่สินค้า โดยมีเมนูไฮไลต์อย่าง “เซมเบ้กุ้งเคย” เป็นดาวเด่นของการอบรม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้สาธิตและเปิดโอกาสให้กลุ่มเกษตรกรได้ลงมือทำด้วยตนเอง สร้างความตื่นเต้นและประทับใจเป็นอย่างมาก

สูตรเด็ดของ “เซมเบ้กุ้งเคย” นั้นทำง่ายและนำไปต่อยอดได้จริง ด้วยส่วนผสมหลักเพียงไม่กี่อย่าง ได้แก่ กุ้งเคยล้างน้ำ 70 กรัม, แป้งสาลี 40 กรัม, แป้งมัน 20 กรัม, น้ำ 20 กรัม, น้ำตาล 4 กรัม, น้ำมันพืช 5 กรัม และผงฟู 10 กรัม

ขั้นตอนเริ่มจากนำกุ้งเคยไปแช่น้ำ 10 นาทีแล้วล้างให้สะอาด จากนั้นนำส่วนผสมทั้งหมดมานวดให้เข้ากัน ปั้นเป็นก้อนกลมขนาดประมาณ 5 กรัม แล้วทับให้เป็นแผ่นด้วยเครื่องทำขนมอบกรอบ ก่อนจะนำไปอบที่อุณหภูมิ 160-180 องศาเซลเซียส นาน 2 นาที ก็จะได้เซมเบ้สีเหลืองทองกรอบอร่อย ซึ่งกลุ่มแม่บ้านยังสร้างสรรค์รสชาติเพิ่มเติมด้วยสาหร่ายหรือวัตถุดิบอื่นๆ ได้อีกด้วย

เบื้องหลังความอร่อยคือวัตถุดิบคุณภาพเยี่ยม นายกัมพล รายา ประธานกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากอาหารทะเลบ้านท่าแลหลา เล่าว่า ชาวบ้านท่าแลหลามีวิถีชีวิตผูกพันกับการออกเรือหากุ้งเคยมานานกว่า 73 ปี โดยกุ้งเคยของที่นี่คือ “กุ้งเคยตาดำ” ที่มีจุดเด่นคือ “ไม่มีทรายเจือปน” เนื่องจากสภาพพื้นที่เป็นดินโคลน ทำให้ได้วัตถุดิบที่สะอาดและมีคุณภาพสูง ซึ่งมีให้จับได้ตลอดทั้งปี

นายกัมพลกล่าวด้วยความยินดีว่า การอบรมครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดครั้งสำคัญที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กุ้งเคย จากเดิมที่ทำได้เพียง “กะปิ” การแปรรูปเป็นขนมที่ทำง่าย ทานง่าย และเหมาะเป็นของฝาก ถือเป็นโอกาสใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้นสำหรับชุมชน

ด้านนายนิพนธ์ เสนอินทร์ ประมงจังหวัดสตูล ได้ชี้ให้เห็นว่า “การตลาด” คือหัวใจสำคัญ โดยนอกจากการให้ความรู้ด้านการแปรรูปแล้ว ยังได้เชิญบริษัทประชารัฐเข้ามาเป็นช่องทางการตลาด เพื่อจับคู่ระหว่างเกษตรกรผู้ผลิตกับบริษัทผู้ซื้อโดยตรง ผลักดันให้สินค้าประมงท้องถิ่นของบ้านท่าแลหลาเป็นที่รู้จักในวงกว้างและเจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ได้อย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น