xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) สตูลรวมใจกวน "อาซูรอ" ขนมแห่งศรัทธา เชื่อมวัฒนธรรม สานสัมพันธ์ข้ามศาสนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์





เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา ที่ลานวัฒนธรรม “คฤหาสน์กูเด็น” ใจกลางเมืองสตูล ได้อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของธัญพืชและสมุนไพรพื้นบ้าน เมื่อชาวมุสลิมจากทั้ง 7 อำเภอ พร้อมด้วยเยาวชนและประชาชนทุกศาสนา ได้มารวมพลังครั้งสำคัญในกิจกรรม “กวนขนมอาซูรอ” ซึ่งจัดขึ้นภายใต้โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยใช้ขนมโบราณที่ทำเพียงปีละครั้งนี้ เป็นสื่อกลางในการสร้างความสามัคคี และสืบทอดเรื่องราวแห่งศรัทธาสู่คนรุ่นใหม่

ขนมอาซูรอ หรือ “ข้าวอาซูรอ” ไม่ใช่เป็นเพียงขนมหวานธรรมดา แต่มีรากฐานมาจากตำนานทางศาสนาที่เล่าขานถึงศาสดานบีนูฮ อะลัยฮิสสลาม เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโลก ท่านได้ให้ผู้รอดชีวิตนำเสบียงอาหารทุกอย่างที่หลงเหลืออยู่มารวมกัน แล้วกวนเป็นอาหารเพื่อประทังชีวิตและแบ่งปันกันในยามยากลำบาก ดังนั้น ขนมอาซูรอจึงเป็นสัญลักษณ์ของความหวัง การรอดพ้น และการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ

บรรยากาศในงานเต็มไปด้วยความคึกคักและมีชีวิตชีวา มีการแข่งขันกวนขนมจากตัวแทน 7 อำเภอ โดยใช้กระทะขนาดใหญ่ 7 ใบ ตั้งเรียงราย แต่ละกระทะต้องใช้เวลากวนนานถึง 4 ชั่วโมง และต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากคนในชุมชนเพื่อผลัดเปลี่ยนกันกวนจนขนมสุกได้ที่ ส่วนผสมในกระทะนั้นสะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเผือก มัน ฟักทอง กล้วย มะละกอ ถั่ว ข้าวสาร ผลไม้ตามฤดูกาลอย่างทุเรียน ไปจนถึงเครื่องเทศไทยที่ให้กลิ่นหอมเฉพาะตัว เช่น ข่า ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม และกะทิสด

รอยยิ้มและเสียงหัวเราะปรากฏอยู่ทั่วบริเวณงาน โดยเฉพาะภาพของเด็กและเยาวชนที่มาร่วมเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมด้วยความตื่นเต้น พร้อมทั้งเข้าชมกิจกรรมนิทรรศการ "รากเหง้าวัฒนธรรมอาหารมุสลิม" ที่จัดแสดงภาพถ่ายเก่าแก่ วัตถุดิบ และเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ ซึ่งนักเรียนหญิงคนหนึ่งจากโรงเรียนในเมืองสตูลได้เล่าความรู้สึกว่า “ดีใจมากที่ได้มารู้ว่าขนมอาซูรอมีตำนานเกี่ยวข้องกับศาสนา และได้เห็นทุกคนช่วยกันกวนอย่างมีความสุขค่ะ”

นายกิตตพงษ์ แก้วยอดทอง วัฒนธรรมจังหวัดสตูล กล่าวว่า “ขนมอาซูรอไม่ใช่แค่ขนมพื้นบ้าน แต่มันคือเครื่องมือเชื่อมใจคนต่างศาสนาในจังหวัดสตูลให้เข้าใจกันมากขึ้น เป็นวัฒนธรรมที่กินใจ และควรส่งเสริมให้เยาวชนได้เรียนรู้และมีส่วนร่วม”

เช่นเดียวกับที่นายคัมพร ทิพากร ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดสตูล ได้กล่าวเสริมว่า “นี่คือการฟื้นคืนวัฒนธรรมที่แท้จริง การกวนขนมอาซูรอเป็นทั้งประเพณี พิธีกรรม และบทเรียนชีวิต ที่ทุกศาสนา ชาติพันธุ์ในสตูลสามารถทำร่วมกันได้ จังหวัดเราคือเมืองพหุวัฒนธรรม และขนมนี้เป็นสัญลักษณ์ของการรวมพลังแห่งความดีงาม”

เมื่อขนมกวนจนเนื้อเหนียวข้นและส่งกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ จะถูกตักใส่ภาชนะต่างๆ ทั้งใบตอง พิมพ์ลายดอกไม้ หรือถาดไม้ ก่อนโรยหน้าด้วยงาดำคั่วหอม จากนั้นผู้อาวุโสจะกล่าว "ดุอา" หรือคำขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล แล้วจึงแจกจ่ายขนมให้ทุกคนได้ลิ้มรสความอร่อยและซาบซึ้งในคุณค่าทางวัฒนธรรมร่วมกัน

แม้ขนมอาซูรอจะหาทานได้ยาก เพราะจัดทำขึ้นเฉพาะช่วงเดือนมูฮัรรอมตามปฏิทินอิสลามปีละหนึ่งครั้ง แต่คุณค่าของขนมชนิดนี้ไม่ได้อยู่ที่รสชาติเพียงอย่างเดียว หากแต่คือคุณค่าทางจิตใจและบทเรียนที่สอนให้รู้ว่า ความร่วมมือ ความเข้าใจ และความศรัทธา คือรากฐานของสังคมที่งดงามอย่างแท้จริง โดยในปีนี้จะมีการต่อยอดกิจกรรมไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับประเทศต่อไป เพื่อให้มรดกทางวัฒนธรรมนี้คงอยู่สืบไป


กำลังโหลดความคิดเห็น