xs
xsm
sm
md
lg

นายอำเภอตั้งกรรมการสอบ อส.สุคิรินหลังคลิปทำร้ายร่างกายประชาชนว่อนโซเชียล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นราธิวาส - นอภ.สุคิรินยอมรับคลิป อส.นราธิวาสทำร้ายประชาชนเป็น อส.สังกัด อ.สุคิริน ปัดเหตุไม่ได้เกิดในช่วงปฏิบัติหน้าที่ ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ย้าย อส.คนดังกล่าวไม่ให้ทำงานพบปะประชาชนแล้ว

วันนี้ (10 ก.ค.) นายธีรศักดิ์ สังขโชติ นายอำเภอสุคิริน ในฐานะผู้บังคับกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอสุคิรินที่ 13 กล่าวถึงกรณีสื่อสังคมออนไลน์นำเสนอข้อมูลและเผยแพร่คลิปวิดีโอกรณี “โต๊ะบอมอ” หรือผู้ทำหน้าที่รักษาแบบพื้นบ้านหรือการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค ถูกทำร้ายร่างกาย โดยระบุว่า สมาชิกอาสารักษาดินแดน หรือ อส.ในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เป็นผู้กระทำ ซึ่งอาจเป็นการทรมานเพื่อบีบบังคับให้ยอมรับผิด และจากการนำเสนอมีประชาชนจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ ตำหนิการกระทำของเจ้าหน้าที่ อส. และอาจมีการเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากต้นสังกัด ซึ่งปรากฏในภายหลังว่าเป็น อส. สังกัดกองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอสุคิรินที่ 13

ดังนั้น จึงขอเรียนให้ทราบข้อเท็จจริง ว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่อยู่ในช่วงของการปฏิบัติหน้าที่ แล้วไปข่มเหงหรือขมขู่ประชาชน ส่วนสาเหตุที่มีการทำร้ายร่างกายกันคงต้องรอผลการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากคลิปที่เผยแพร่บางคลิปมีการพูดคุยโดยใช้ภาษามาลายู จำเป็นต้องใช้ล่ามแปล

ขณะนี้ทางอำเภอสุคิริน ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีปลัดอำเภอหัวหน้ากลุ่มงานความมั่นคง เป็นประธานคณะกรรมการ พร้อมรายงานให้ทางจังหวัดนราธิวาส ได้รับทราบ ทางด้าน อส. ผู้ที่ถูกกล่าวหา เดิมปฏิบัติหน้าที่ ณ ชุดคุ้มครองตำบล ได้มีคำสั่งให้มาปฏิบัติหน้าที่ ณ กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอสุคิรินที่ 13 งดการปฏิบัติงานที่เป็นการพบปะประชาชน ให้ทำงานด้านพัฒนา งดใช้อาวุธ จนกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการสอบสวนจะเสร็จสิ้น

ส่วนการดำเนินคดีทางอาญา ผู้เสียหายสามารถแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในท้องที่เกิดเหตุ และทางอำเภอสุคิริน จะได้มอบหมายให้ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสุคิริน ประสานงานกับพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป

กรณีที่ อส. กระทำผิดวินัยซึ่งมีการกำหนดไว้ 10 ข้อ ตามพระราชบัญญัติวินัยกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2509 โดยจะลงโทษภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม (ให้ทำงานสุขาภิบาล งานโยธา หรืองานพัฒนา) กักบริเวณ (แล้วแต่กรณีหลังจากคณะกรรมการพิจารณาแล้ว)

อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏแล้ว และมีความเห็นว่า อส. มีความบกพร่องในเรื่องวินัย หรือ ความประพฤติ จะเข้าข่ายความผิดในข้อที่ 4 เรื่อง กำหนดวิธีการให้ออกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน พ.ศ.2498 ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อดำเนินการสอบสวนอีกครั้ง โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จสามารถขอขยายระยะเวลาได้ แต่ต้องให้เหตุผลประกอบ ทั้งนี้ หากคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่าให้ออก ก็จะเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในฐานะผู้บังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นผู้อำนาจสั่งให้ออกจากการเป็นสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน

ทั้งนี้ ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า เมื่อการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการสอบสวนแล้วเสร็จ จะลงโทษตามบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเด็ดขาด ขณะที่ความผิดทางอาญา จะเป็นหน้าที่ของตำรวจดำเนินการตามกฎหมายต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น