xs
xsm
sm
md
lg

สนส. ม.อ. ร่วมกับ สสส. จัดเวทียื่นข้อเสนอเชิงนโยบาน ยกระดับ พชอ. ป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สนส. ม.อ. ร่วมกับ สสส. จัดเวทียื่นข้อเสนอเชิงนโยบายระดับกลุ่มจังหวัด ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและหนุนเสริมการทำงานของ พชอ. ต่อการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น 3 จังหวัดชายแดนใต้

วันนี้ (9 ก.ค.) สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สนส.ม.อ.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเวทียื่นข้อเสนอเชิงนโยบายระดับกลุ่มจังหวัด ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและหนุนเสริมการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครอบคลุม 33 อำเภอในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 8-9 กรกฎาคม 2568 ที่โรงแรมเซาท์เทอร์นแอร์พอร์ท หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี ดร.เพ็ญ สุขมาก ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ ม.อ. เป็นประธานเปิด พร้อมด้วย ดร.ซอฟียะห์ มินะ อาจารย์สถาบันนโยบายสาธารณะ ม.อ. และ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดโครงการฯ โดยมีบุคลากร ภาคีเครือข่ายด้านสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ประชุมผ่านระบบ Zoom เข้าร่วม

สำหรับโครงการดังกล่าว ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเสริมสร้างขีดความสามารถของ พชอ. ทั้งในด้านองค์ความรู้ ระบบข้อมูล เครื่องมือสนับสนุน และทีมงานที่เข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราการตั้งครรภ์ซ้ำในวัยรุ่นกลุ่มอายุ 10–19 ปี ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีเวทีแลกเปลี่ยนการทำงานของ พชอ.ในพื้นที่, การเสวนาภาพรวมสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ และบทบาท พชอ. รวมทั้งมอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับ พชอ.ดีเด่นทั้ง 3 ระดับอีกด้วย


ทั้งนี้ ตัวแทนคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) ได้ยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส เรื่องแนวทางการพัฒนาขีดความสามารถของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหากาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น กรณีจังหวัดปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส 4 เรื่องดังนี้ 1.สนับสนุนการจัดตั้งทีมสนับสนุนทางวิชาการระดับจังหวัด โดยกลไกการดำเนินงานของ Consortium, 2. กำหนดให้ประเด็นวัยรุ่นเป็นวาระสำคัญในแผน พชอ. และแผนจังหวัด, 3. ส่งเสริมการบูรณาการงบประมาณและทรัพยากรจากทุกภาคส่วนในระดับจังหวัด และ 4. ดำเนินการติดตามและเสริมพลัง พชอ. อย่างต่อเนื่องผ่านกลไกอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด

ด้าน ดร.ซอฟียะห์ มินะ อาจารย์สถาบันนโยบายสาธารณะ ม.อ. และ ผู้รับผิดชอบโครงการฯ เปิดเผยถึงผลลัพธ์ที่คาดหวังจากเวทีครั้งนี้คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ พชอ. ที่ชัดเจน พร้อมระบบติดตามและประเมินผล, การเพิ่มการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์และสวัสดิการทางสังคมของวัยรุ่น, การมีส่วนร่วมของชุมชนและเยาวชนในประเด็นสุขภาวะทางเพศ รวมถึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ ซึ่งคณะกรรมการจัดทำโครงการฯ หวังว่าเวทีครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ที่ช่วยยกระดับการทำงานของ พชอ. ในการป้องกันปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้อย่างเป็นรูปธรรม และยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น