xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ สงขลา นำทีมเยี่ยมชมสวนทุเรียนพื้นเมืองบ้านต้นปริง เสน่ห์ผลไม้อายุกว่า 200 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผู้ว่าฯ สงขลา นำทีมเยี่ยมชมสวนทุเรียนพื้นเมืองบ้านต้นปริง อ.นาหม่อม จ.สงขลา อัญมณีแห่งโคกเจ็ดเส้น เสน่ห์ผลไม้ท้องถิ่นอายุกว่า 200 ปี


วันนี้ (8 ก.ค.) นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นางปวีณ์ริศา เกิดสม นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา นายจรินศักดิ์ สงสุวรรณ นายอำเภอนาหม่อม นางสุนิสา รามแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา นางภัทรวดี จินดาพันธ์ เกษตรอำเภอนาหม่อม ได้นำคณะสื่อมวลชนจังหวัดสงขลา ลงพื้นที่เยี่ยมชม “สวนทุเรียนพื้นเมืองบ้านต้นปริง” หมู่ที่ 5 ต.คลองหรัง อ.นาหม่อม จ.สงขลา ซึ่งเป็นสวนทุเรียนโบราณของ นายประภาส จินดารัตน์ เกษตรกรท้องถิ่นผู้สืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้านในการอนุรักษ์พันธุ์ทุเรียนหายากที่มีอ่ยุยาวนานกว่า 200 ปี


พื้นที่สวนแห่งนี้ตั้งอยู่บนโคกเจ็ดเส้น ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเนินเขา ดินดี น้ำดี และมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ส่งผลให้ทุเรียนพื้นเมืองเจริญเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และเป็นแหล่งปลูกทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองที่หายาก อาทิ พันธุ์ไอ้ผีไม้ ไอ้บ่อ เขียวฟ้าโหะ ไอ้ขมิ้น และน้ำนม ซึ่งแต่ละพันธุ์ล้วนมีลักษณะเฉพาะด้านกลิ่น รส และสีของเนื้อทุเรียน เช่น พันธุ์ขมิ้นเนื้อเหลืองเข้ม รสหวานมันติดปลายลิ้น หรือพันธุ์น้ำนมที่เนื้อขาวนวลนุ่ม กลิ่นหอมละมุน

ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสงขลา ยังได้ร่วมปลูกต้นทุเรียนพันธุ์น้ำนม ด้วยวิธี “แทงสัก” หรือ “ตาเขียว” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวสวนทุเรียนท้องถิ่น เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์และต่อยอดพันธุ์พืชท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน


นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ทุเรียนพื้นเมืองที่นาหม่อมถือเป็นเสน่ห์เฉพาะถิ่น บางต้นมีอายุกว่า 300 ปี ต้องใช้คนถึง 11 คนโอบ ถือเป็นสายพันธุ์ที่ธรรมชาติคัดสรรและอยู่คู่ชุมชนมานาน แต่ละพันธุ์มีรสชาติเฉพาะตัว เช่น พันธุ์ไอ้บ่อ ลูกเล็ก เมล็ดลีบ เนื้อหนา หอมเหนียวหนึบ หรือพันธุ์น้ำนม สีขาวนวลดูเรียบง่ายแต่รสชาติซ่อนความละมุนลึกไว้แบบคาดไม่ถึง นับเป็นของดีที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์และต่อยอด


ทั้งนี้ ทางอำเภอและสำนักงานเกษตรอำเภอนาหม่อม มีแผนพัฒนาสวนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพันธุกรรมทุเรียน และส่งเสริมการผลิตแบบปลอดภัยจากสารเคมี ผ่านการขยายพันธุ์ การปรับปรุงต้นพันธุ์ให้ต้านทานโรค รวมถึงการพัฒนาให้ผลผลิตมีคุณภาพสูงขึ้น รองรับการตลาดที่กว้างขึ้น เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่อย่างยั่งยืน














กำลังโหลดความคิดเห็น