ศูนย์ข่าวภูเก็ต – มท.2 นำทีมหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญแถลงยืนยัน
แผ่นดินหมู่เกาะนิโคบาร์ ไม่ส่งผลกระทบชายฝั่งอันดามัน ไม่เกิดสึนามิ เป็นแผ่นดินไหวแนวระนาบ
ความแรงไม่ถึง 7.5 ริกเตอร์ ขอให้ประชาชนมั่นในระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยของไทยที่อยู่ระดับสากล
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (7 ก.ค.68) ที่ห้องประชุมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดภูเก็ต นายอดุลย์ ชูทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วย นายวิชิต สุทธโส ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ารับฟังการประชุมเพื่อซักซ้อมความเข้าใจการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหวและภัยสึนามิ เพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่ประชนผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา นายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายภาสกร บุญญลักษณ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเตือนภัย (ด้านปฏิบัติการเตือนภัยั) ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
โดยภายหลังการประชุมแล้วเสร็จนางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมผู้เข้าร่วมประชุมได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินเดีย และแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมไปรอยเลื่อนฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย แนวทางการเฝ้าระวังและการเตรียมการรับมือแผ่นดินไหวและสึนามิ และการเตรียมความพร้อมและแนวทางการรับมือแผ่นดินไหว และสึนามิ หลังจากเมื่อช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวบ่อยครั้งในบริเวณหมู่เกานิโคบาร์ และญี่ปุ่น ทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งอันดามันเกิดความวิตกกังวล
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ภัยพิบัติสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งเราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ได้มีการฝึกซ้อมแผนหนีภัย และอพยพในพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงได้มีการสั่งการให้ท้องถิ่นต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงสึนามิ เตรียมความพร้อมและมีการฝึกซ้อมการอพยพหนีภัยสม่ำเสมอ
และเน้นย้ำว่า “ภัยพิบัติไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด” พร้อมขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน โดยให้ยึดหลัก “ตระหนักแต่ไม่ตระหนก”
ด้านนายนัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาสามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวได้ทั่วโลกและตลอด 24 ชั่วโมง และมีเครื่องมือต่างๆ ในการวิเคราะห์เหตุแผ่นดินไหวในทะเลแต่ละครั้งว่ามีโอกาสที่จะเกิดสึนามิได้หรือไม่ สำหรับแผ่นดินไหวล่าสุดที่เกิดขึ้นบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ สาธารณรัฐอินเดีย เป็นแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแบบแนวระนาบ ไม่เกิดสึนามิ เช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่น ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน
นายสุเมธ สายทอง รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในทะเลบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ระหว่างวันที่ 24 มิ.ย.-4 ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นแผ่นดินไหวที่มีขนาดตั้งแต่ 3.2-4.9 ริกเตอร์ เกิดขึ้นทั้งสิ้น 114 ครั้ง ซึ่งในทะเลอันดามันทางฝั่งตะวันออกของหมู่เกาะนิโคบาร์ที่เกิดแผ่นดินไหว มีตำแหน่งสัมพันธ์กับรอยเลื่อนที่เป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งเป็นการเคลื่อนแบบระนาบ ไม่ใช่เป็นการยุบตัวของเปลือกโลกจะไม่ทำให้เกิดคลื่นสึนามิ และไม่เกิน 7.5 ริกเตอร์ แต่ถ้าเป็นการเคลื่อนแบบยุบตัวและความแรงเกิน 7.5 ริกเตอร์ ถึงจะมีมีความเสี่ยงในการเกิดสึนามิได้ จึงสรุปได้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ที่ผ่านมาไม่ทำให้เกิดสึนามิแต่อย่างใด และอยู่ห่างจากจังหวัดพังงา 450 กิโลเมตร ห่างจากภูเขาไฟใต้ทะเล 100 กิโลเมตร
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการเตือนภัย (ด้านปฏิบัติการเตือนภัย) จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้ประเทศไทยมีความพร้อมระบบเตือนภัยในระดับสากล จากที่ประเทศไทยเรามีระบบเตือนภัยถึง 3 ระบบ ประกอบด้วย ทุ่นเตือนภัยสึนามิน้ำลึก จำนวน 2 ทุ่น อยู่ในระดับที่ทำงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ระบบการประเมินคลื่นสึนามิจากฐานข้อมูล ซึ่งเป็นระบบล่าสุดของไทยที่มีการนำมาใช้แล้ว และระบบการสื่อสาร มีการนำเซลบอร์ดคลาสมาใช้เป็นครั้งแรกของประเศไทยและเอเซีย ซึ่งทั้ง 3 ระบบดังกล่าวมีความพร้อมระดับสากล ดังนั้นอยากจะเตือนประชาชนว่า เราอย่าตะหนกแต่ให้ตระหนัก เพราะเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นอย่างมากทั้งชีวิตและทรัพย์สินแม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในรอบ 400-600 ปี
ด้านการเตรียมความพร้อมรับมือ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานของกรมในการเฝ้าระวังและเตรียมการรับมือภัยแผ่นดินไหวและสึนามิ ว่า กรมป้องกันฯมีเครือข่ายในการแจ้งเตือนภัยในระดับสากล รวมไปถึงเครือข่ายระหว่างประเทศในการแจ้งเตือนภัยสึนามิ รวมไปถึงเรามีคลื่นตรวจวัดสึนามิอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย 2 ตัว ห่างจากเกาะภูเก็ต 965 กิโลเมตร ถ้าทุ่นดังกล่าวตรวจวัดสึนามิได้จะมีเวลาในการแจ้งเตือน 1.30 -1.45 ชั่วโมง ส่วนคลื่นวัดสึนามิตัวในที่ทะเลอันดามันตรวจวัดคลื่นสึนามิได้จะมีเวลาในการแจ้งเตือน 30-45 นาที ห่างจากเกาะภูเก็ต 370 กิโลเมตร นอกจากนี้ทางกรมฯได้มีการฝึกซ้อมแผนอย่างต่อเนื่องทุกปีในพื้นที่ชายฝั่งอันดามัน มีการทวบทวนแผนเผชิญเหตุของแต่ละจังหวัด ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจในข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเตือนภัย และการอพยพประชาชนไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย