ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ม.ราชภัฏภูเก็ต เดินหน้ายกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำโครงการวิจัย ขยายผลเทคโนโลยีสีธรรมชาติยั่งยืน สร้างนวัตกรชุมชน พัฒนาผ้าพื้นถิ่นในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และ กระบี่ เพื่อยกระดับรายได้ชุมชน
เมื่อเวลา 9.00 น. วันนี้ (5 กรกฎาคม พ.ศ.2568) ณ ห้องประชุมเทียนสิรินธร มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ได้จัดให้มีพิธีเปิดกิจกรรม “ชี้แจงรายละเอียดโครงการวิจัย การเก็บข้อมูลนวัตกร และสำรวจทรัพยากรท้องถิ่น” ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การขยายผลเทคโนโลยีสีธรรมชาติยั่งยืนเพื่อยกระดับรายได้ชุมชน: นวัตกรรม Eco-Resist และ Green Guard Batik” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย ทุมทอง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นประธานเปิด
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ภูวิณัฐ ปลัดสงคราม หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงที่มา ความสำคัญ รวมถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ โดยระบุว่า การดำเนินงานในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานวิจัยรายประเด็นของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (Research University - RU) ภายใต้ชื่อ “การขยายผลวิจัยเทคโนโลยีที่เหมาะสม (Appropriate Technology) เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน” ประจำปีงบประมาณ 2568 เป็นการต่อยอดจากผลการวิจัยในปีที่ผ่านมา ที่เน้นการผลิตสีธรรมชาติและพัฒนาเทคโนโลยีการพิมพ์ผ้าบาติกโดยใช้ทรัพยากรท้องถิ่น และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนใน 3 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และนครศรีธรรมราช โดยในปีนี้มีการขยายผลไปยังพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพิ่มเติม
ภายในงาน มีผู้เข้าร่วมกว่า 70 คน ประกอบด้วย กลุ่มผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน และ ผู้นำท้องถิ่น ชี้แจงรายละเอียดกระบวนการดำเนินงานวิจัย รวมถึงวัตถุประสงค์การเก็บข้อมูลในพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเวทีสนทนากลุ่ม (Focus Group) หารือประเด็นปัญหาและศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการและหารือเรื่องการค้นหาทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อวิเคราะห์และปรับใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมกับแต่ละชุมชน เพื่อคัดเลือกนวัตกรต้นแบบ และสรุปข้อมูลเชิงลึกด้านวิถีชีวิต ภูมิปัญญา และการใช้ทรัพยากร นอกจากนี้ มีการปฏิบัติการสาธิตเทคโนโลยีพร้อมใช้ ได้แก่ สูตรสารช่วยติดสีจากธรรมชาติ (Green Guard Batik), สูตรสารกั้นสีแทนเทียนสำหรับงานบาติก (Eco-Resist Batik)
โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทดลองใช้เทคโนโลยีที่วิจัยและพัฒนาแล้ว รวมถึงการวัดระดับความเป็น “นวัตกรชุมชน” เพื่อวางรากฐานสู่การขยายผลเชิงพื้นที่ในระยะยาว โดยทีมงานคณะผู้วิจัย ประกอบด้วย ผศ.ภูริณัฐ ปลัดสงคราม หัวหน้าคณะ ผศ.ดร.สุธิดา รัตนบุรี ดร.วาสนา ศรีนวลใย ผศ.ดร.อทิพันธ์ เสียมไหม
สำหรับหัวใจของโครงการมุ่งเน้นการส่งเสริมศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบการผ้าพื้นถิ่น ด้วยนวัตกรรม “Eco-Resist” และ “Green Guard Batik” ซึ่งผ่านกระบวนการวิจัยจนถึงระดับความพร้อมใช้งานทางเทคโนโลยี (TRL 7) โดยตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มรายได้สุทธิเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อเดือน ภายในระยะเวลา 2 ปี นอกจากนี้ โครงการยังได้ดำเนินการพัฒนานวัตกรชุมชนจำนวน 19 คน เพื่อเป็นแกนนำในการถ่ายทอดองค์ความรู้และขยายผลในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างยั่งยืน อีกทั้งยังสามารถผลักดันให้เกิดการจดสิทธิบัตรและสร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
โครงการนี้นับเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏในการเป็น “มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” โดยใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงและยั่งยืน