นครศรีธรรมราช - กระทรวงพาณิชย์เร่งแก้ปัญหาราคามังคุดนครศรีธรรมราช หลังราคาตกเหลือ 8 บาทต่อ กก. โดยระยะสั้นเตรียมรับซื้อผลผลิตกระจายไปยังเอกชนมากกว่า 3,000 ตัน ขณะที่ชาวสวนยังวิกฤติเผชิญต้นทุนสูงทำให้มีรายได้ต่ำกว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม
วันนี้ (4 ก.ค.) เกษตรกรชาวสวนมังคุดในจังหวัดนครศรีธรรมราช ยังเผชิญกับภาวะวิกฤติราคาที่ตกต่ำเหลือเพียง 8 บาทต่อกิโลกรัม และสูงสุดไม่เกิน 20 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งยังมีความผันผวนอย่างมาก ขณะที่ค่าแรงในการเก็บเกี่ยวผลผลิตเดิมทีอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม แต่หลังจากราคาตกต่ำจะมีการแบ่งค่าเก็บเกี่ยวผลผลิตจากเจ้าของสวนแบบร้อยละ 50 ของราคา คือหากมังคุดมีราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม ค่าแรงเก็บเกี่ยวจะอยู่ที่ 7.50 บาท ยังไม่นับรวมค่าปุ๋ยกระสอบละกว่า 1,000 บาท ค่าแรงงงานในการตัดหญ้ากำจัดวัชพืชในราคาไร่ละราว 500-600 บาท หลายสวนขณะนี้แม้จะเก็บเกี่ยวผลผลิตมาได้กว่า 1 สัปดาห์แล้ว แต่ยังไม่มีรายได้เพียงพอที่จะคืนทุน หรือชำระหนี้ประจำปี โดยเฉพาะกับธนาคารเพื่อการเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตร
โดยที่ศาลาหมู่บ้าน บ้านศาลาสามหลัง หมู่ 7 ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช และ ส.ส.อีกหลายจังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วม ในกิจกรรมเชื่อมโยงผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้
นายจตุพร กล่าวว่า การลงพื้นที่ในวันนี้เพื่อแก้ปัญหาความเดือนร้อนให้กับเกษตรกร ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเป็นภารกิจแรกหลังการเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งวันนี้เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น กรมการค้าภายในได้นำผู้ประกอบการทั้งห้างค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ สถานีบริการน้ำมัน รวมทั้งไปรษณีย์ไทย เข้ามาช่วยรับซื้อผลผลิตมังคุดในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนกว่า 2,200 ตัน เพื่อนำไปจำหน่ายยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวจะมีการหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ
สำหรับคาดการณ์ผลผลิตมังคุดในภาคใต้ มีปริมาณ 109,697 ตัน โดยเป็นผลผลิตของจังหวัดนครศรีธรรมราช ปริมาณ 40,063 ตัน โดยขณะนี้ของ จ.นครศรีธรรมราช ได้เริ่มออกสู่ตลาดแล้วกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการรองรับผลผลิตดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้มีแผนและมาตรการรองรับผลผลิตในส่วนของภาคใต้รวมกว่า 64,000 ตัน ผ่านมาตรการสำคัญต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงเข้าสู่ตลาดของผู้บริโภคโดยการรับซื้อจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) ที่ตั้งเป้าการรับซื้อกว่า 6,000 ตัน กิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ Thai fruit festival 2025 และห้างซุปเปอร์ชีปทั่วภาคใต้ กว่า 2,000 ตัน เชื่อมโยงมังคุดภาคใต้ผ่านห้างค้าปลีก-ส่ง ปริมาณ 6,000 ตัน ประสานผู้ส่งออกเร่งเข้ารับซื้อผลไม้ภาคใต้ในพื้นที่ ตั้งเป้ามังคุดนครศรีธรรมราช วันละ 300 ตัน รวมกว่า 15,000 ตัน เพิ่มศักยภาพและส่งเสริมสภาพคล่องให้ผู้รวบรวมรับซื้อผลไม้เพื่อส่งออก ทั้งทุเรียนและมังคุดปริมาณรวม 35,000 ตัน