มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัว “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” ปีงบประมาณ 2568 มุ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง เพื่อผลักดันศักยภาพของวิสาหกิจชุมชนและภาคประชาชนให้สามารถต่อยอดงานวิจัยและเทคโนโลยีสู่การใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่
วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมเปิดตัว “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ ห้องประชุมจิรพรรณ พีรวุฒิ อาคารเทพรัตน์วิทยรักษ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยมีนายรัฐศาสตร์ ชิดชู ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยทักษิณ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมอย่างคับคั่ง
รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้นำเสนอผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย "ด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่" พร้อมกล่าวว่า ทางอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้ดำเนินโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 7 โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน นิติบุคคล และผู้สนใจ ในเขตพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ พัทลุง ตรัง สงขลา สตูล พังงา กระบี่ และภูเก็ต สำหรับปีนี้มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรม 3 ด้านหลัก คือ นวัตกรรมด้านอาหาร (Food Innovation), นวัตกรรมด้านการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech Innovation) และนวัตกรรมด้านดิจิทัล (ARI Innovation) เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมี 3 ส่วนงานหลักของมหาวิทยาลัยทักษิณ ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสังคม ได้แก่ อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม สถาบันส่งเสริมการบริการวิชาการ และสถาบันวิจัยและนวัตกรรม
นายรัฐศาสตร์ ชิดชู ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นำเสนอนโยบาย “แนวทางการดำเนินงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมของจังหวัดพัทลุง” และกล่าวถึงความสำคัญของสถาบันการศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันนวัตกรรมสู่ชุมชนและส่งเสริมการนำไปใช้ประโยชน์จริงในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ไฮไลท์ของงาน คือ การนำเสนอ “นวัตกรรมพร้อมขยาย” ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งหมายถึง นวัตกรรมหรืองานวิจัยที่ได้รับการพัฒนาในระดับที่สามารถนำไปขยายผลใช้งานในพื้นที่อื่นหรือในเชิงพาณิชย์ได้แล้ว ซึ่งผ่านการพัฒนาในระดับต้นแบบแล้ว (Prototype Ready) มีการทดสอบใช้งานในสถานการณ์จริง หรือมีผลงานต้นแบบที่สามารถนำไปใช้ได้จริง มีการรับรองผลลัพธ์หรือประสิทธิภาพผ่านงานวิจัย หรือผลการประเมินที่แสดงให้เห็นว่านวัตกรรมนั้นมีประโยชน์จริง สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ได้ มีคู่มือ แนวทางการใช้ หรือหลักสูตรฝึกอบรมที่สามารถนำไปถ่ายทอดให้กับกลุ่มเป้าหมาย เป็นนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการขยายผลไปยังชุมชน และภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสำคัญอีกมากมาย อาทิ การแนะนำบทบาทของหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยนายคุณาวุฒิ บุญญานพคุณ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการเงินนวัตกรรมรายพื้นที่ และการนำเสนอผลงาน “นวัตกรรมหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง” โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นุกูล อินทระสังขา ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม ทั้งยังได้เยี่ยมชม “ตลาดนัดนวัตกรรมพร้อมขยายของมหาวิทยาลัยทักษิณ” จากคณะต่างๆ และการจัดแสดงนิทรรศการจากผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 20 บูธ ภายใต้แนวคิด “การขยายผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้สำหรับชุมชนในพื้นที่” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน
ภายในงานได้เปิดรับสมัคร “สุดยอดนวัตกรรมเพื่อสังคม” เพื่อเข้าร่วมโครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมประจำพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง โดยมีเป้าหมายคือมุ่งเน้นพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาสังคมในชุมชนพื้นที่ อย่างน้อย 10 ผลงาน ซึ่งจะมีงบประมาณสนับสนุน ไม่เกิน 300,000 บาท ต่อสถานประกอบการ หมดเขตรับสมัครในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568