ตรัง - คณะนักศึกษา และอาจารย์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง ร่วมกันวิจัยนวัตกรรม “ตะลิงปลิง-กัมมี่ขลู่ ลดความอยากบุหรี่” ด้วยการนำมาสกัดเป็นลูกอมเยลลี่ช่วยลดความอยากบุหรี่
วันนี้ (7 พ.ค.) จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มลดลงจากร้อยละ 26.4 ในปี 2554 เป็นร้อยละ 23.7 ในปี 2564 แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศร้อยละ 17.4 ทำให้จังหวัดตรังมีอัตราการสูบบุหรี่สูงเป็นอันดับที่ 7 ของประเทศ ซึ่งอำเภอนาโยง เป็นพื้นที่ที่มีความชุกของผู้สูบบุหรี่เป็นลำดับที่ 1 คิดเป็นร้อยละ 16.30 รองลงมาเป็นอำเภอวังวิเศษ ร้อยละ 12.15 และอำเภอย่านตาขาว ร้อยละ 11.55 จึงต้องมีการรณรงค์เพื่อแก้ปัญหาในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง โดยอาจารย์ที่ปรึกษา คือ ดร.ไพจิตร พุทธรอด และคณะนักศึกษา คือ นายนราวิชญ์ ศรีไพฑูรย์ นายนครินทร์ สุกใส นางสาวธิดารัตน์ เกื้อหล่อ นางสาวธิรดา พรรณรังสี และนางสาวนฐนนฑ ขุนทอง ได้ร่วมกันวิจัยนวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้ง่ายขึ้น จนเป็นที่มาของนวัตกรรม “ตะลิงปลิง-กัมมี่ขลู่ ลดความอยากบุหรี่” ด้วยการนำพืชผลในท้องถิ่นมาสกัดร่วมกับน้ำตาลแบะแซ (กลูโคสก้อน) เจลาติน และน้ำเปล่า จนกลายเป็นนวัตกรรมลูกอมเยลลี่ลดความอยากบุหรี่
โดยเฉพาะเม็ดของตะลิงปลิง จะมีคุณสมบัติคล้ายกับมะนาว มีสารประกอบฟินอลิก และกรดแกลกติก ส่วนใบของกัมมี่ขลู่ จะมีสารในกลุ่ม thiophene ที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ CYP2A6 จึงช่วยลดความอยากบุหรี่ ทั้งกลไกการคงระดับ Nicotine และ Dopamine ซึ่งได้มีการนำลูกอมเยลลี่ลดความอยากบุหรี่ ไปใช้กับผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ที่มารับบริการที่คลินิกฟ้าใส โรงพยาบาลนาโยง จังหวัดตรัง โดยให้เคี้ยววันละ 2 ครั้ง ชิ้นที่ 1 หลังตื่นนอนตอนเช้า ชิ้นที่ 2 ช่วงเวลาที่อยากสูบบุหรี่ และระหว่างวันตามที่ผู้สูบบุหรี่สะดวก และให้ทานต่อเนื่องกัน 1 เดือน
นายนราวิชญ์ ศรีไพฑูรย์ หนึ่งในคณะนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีตรัง บอกว่า รสฝาดและเปรี้ยว จากตะลิงปลิงและกัมมี่ขลู่ ซึ่งเป็นสมุนไพรในชุมชนที่หาได้ง่าย ราคาถูก และมีจำนวนมากนั้น มีสรรพคุณช่วยเปลี่ยนรสชาติของการสูบบุหรี่ให้ผิดแปลกไปเรื่อย ๆ จนทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ และมีจำนวนมวนบุหรี่ที่สูบในแต่ละวันลดลง อีกทั้งการลดการทำงานของเอนไซม์ ด้วยการใช้ตะลิงปลิงและกัมมี่ขลู่ ยังเป็นกระบวนการทางเลือกในการลดการสูบบุหรี่อย่างปลอดภัย และยังเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการรักษาโรคเรื้อรังทางสมอง เช่น โรคอัลไซเมอร์ อีกด้วย