ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เร่งช่วยเหลือ “ฉลามวาฬ” เศษอวนติดที่โคนหาง หลังได้รับแจ้ง ที่ หลังเรือพานักท่องเที่ยวไปดำน้ำ พบ ว่ายน้ำอยู่ กองหินริเชลิว ล่าสุดจ้าหน้าที่อุทยานฯ สุรินทร์ วางแผนเข่วยเหลือ จากการดำน้ำสำรวจวันนี้ยังไม่พบ ฉลามวาฬที่ติดเศษอวน
วันนี้ (5 พ.ค.) นายเกรียงไกร เพาะเจริญ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา รายงานว่า เมื่อวานนี้ (4 พฤษภาคม 2568) เวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้รับแจ้งจากผู้ประกอบการเรือดำน้ำลึก (เรือ Liveaboard) ชื่อ "ดีพ อันดามัน ควีน" ว่าเวลาประมาณ 10.30 น. นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่บนเรือ พบฉลามวาฬ ตัวเต็มวัย ความยาวประมาณ 6-7 เมตร มีเครื่องมือประมง ซึ่งคาดว่าเป็นเศษเชือกเก่าหรืออวนเก่า ติดพันอยู่บริเวณส่วนหางขณะดำน้ำชมทัศนียภาพใต้ท้องทะเลบริเวณกองหินริเชลิว
หลังรับแจ้ง ทาง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้ดำเนินการช่วยเหลือฉลามวาฬดังกล่าวโดยเร่งด่วน โดยวันนี้ (5 พฤษภาคม 2568) เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการดำน้ำของอุทยานฯ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่บริเวณกองหินริเชลิวด้วยการดำน้ำลึก (Scuba Diving) เพื่อสำรวจและติดตามหาฉลามวาฬ อย่างไรก็ตาม สภาพน้ำทะเลในวันนี้มีความขุ่น ทัศนวิสัยการมองเห็นใต้น้ำค่อนข้างต่ำ ประมาณ 5-10 เมตรเท่านั้น ทำให้ยังไม่พบฉลามวาฬตัวดังกล่าว
จากการสอบถามผู้ควบคุมนักดำน้ำลึกประจำเรือ Liveaboard ที่อยู่ในเหตุการณ์ ทราบว่าเมื่อวานนี้ได้พบเห็นฉลามวาฬตัวดังกล่าวถึง 2 ครั้ง ทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย แม้จะอยู่ในระยะไกล ส่วนวันนี้ยังไม่มีรายงานการพบเห็นฉลามวาฬตัวดังกล่าวแต่อย่างใด
ทางอุทยานฯ ได้ประชาสัมพันธ์กับผู้ประกอบการเรือดำน้ำลึกทุกลำที่ลอยลำอยู่บริเวณกองหินริเชลิว หากพบเจอฉลามวาฬตัวดังกล่าวให้รีบประสานมายังเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพื่อเร่งดำเนินการช่วยเหลือต่อไป พร้อมขอความร่วมมือผู้ควบคุมนักดำน้ำลึกประจำเรือให้แจ้งกับนักดำน้ำทุกคนว่า หากพบฉลามวาฬให้เว้นระยะห่างและไม่เข้าใกล้จนเกินไป เพื่อความปลอดภัยของทั้งนักดำน้ำและตัวฉลามวาฬเอง
นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ได้ติดต่อประสานงานกับทีมสัตวแพทย์จากศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, เจ้าหน้าที่ศูนย์อนุรักษ์อุทยานใต้ทะเลจุฬาภรณ์ และศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 (ภูเก็ต) เพื่อร่วมกันหารือแนวทางการช่วยเหลือฉลามวาฬ
สำหรับแผนการช่วยเหลือที่วางไว้คือ แบ่งทีมทำงานเป็น 3 ทีม ประกอบด้วย ทีมปลดเชือก ซึ่งจะใช้ความระมัดระวังในการตัดเศษเชือกเก่า/อวนและนำกลับขึ้นฝั่ง, ทีมควบคุมทิศทางสัตว์ และทีมเฝ้าระวังผู้ปฏิบัติงาน โดยเน้นย้ำถึงความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและสัตว์ที่ทำการช่วยเหลือเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมปฏิบัติการช่วยเหลือทันทีที่พบฉลามวาฬตัวดังกล่าว เนื่องจากเศษอวนหรือเชือกที่พันอยู่อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวและการดำรงชีวิตของฉลามวาฬได้