กระบี่ - กลุ่มชาวบ้านรักษ์บ้านเกิด อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ คัดค้านการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่เพื่อประกอบกิจการโรงโม่หินในพื้นที่ จ.กระบี่ และขอให้พิจารณาทบทวนถอดจังหวัดกระบี่ออกจากแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ จ.กระบี่
วันนี้ ( 2 พ.ค.68) กลุ่มชาวบ้านรักษ์บ้านเกิด จากหมู่ที่ 2 และ 12 ต.ปลายพระยา จ.กระบี่ นำโดย นายสากล ชูปลอด ได้รวมตัวกันเดินทางมาที่ศาลากลาง จ.กระบี่ เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการ จ.กระบี่ คัดค้านการอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่เพื่อประกอบกิจการโรงโม่หินในพื้นที่ จ.กระบี่ และขอให้พิจารณาทบทวนถอดจังหวัดกระบี่ออกจากแผนแม่บทบริหารจัดการแร่ จ.กระบี่ โดยมีนายสมปอง รัตนะ ผอ.กลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกระบี่ รับเรื่อง จากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้เดินทางไปที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกระบี่ พร้อมกับได้ยื่นหนังสือฉบับเดียวกัน ให้แก่ หัวหน้าสำนักงานอุตสาหกรรม จ.กระบี่ ด้วย
นายสากล ชูปลอด ประธานกลุ่มปลายพระยารักษ์บ้านเกิด กล่าวว่า ได้มีห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่ตรังภูทอง ได้ยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำโรงโม่หิน ที่1 /2567 เป็นการขอทำเหมืองแร่ประเภทที่ 2 แร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ในพื้นที่ ม.2 และ ม.12 ต.ปลายพระยา และอาณาเขตครอบคลุม พื้นที่ ม.1 และ ม.2 ต.คีรีวง อ.ปลายพระยา ด้วย และเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางอุตสาหกรรมจังหวัด ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ขึ้นที่ ร.ร.บ้านศรีพระยาราษฎร์บำรุง อ.ปลายพระยา ซึ่งประชาชน มีมติไม่เห็นด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มรักษ์ปลายพระยา ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ก่อนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นไม่เคยมีหน่วยงานใดติดประกาศแจ้งกับชาวบ้านให้ทราบถึงกระบวนการยื่นคำขอประทานบัตรโรงโม่หินในพื้นที่ สำหรับภูเขา ที่มีการขอประทานบัตร เหมืองหิน เป็นภูเขาต้นน้ำ เกรงว่าหากปล่อยให้มีการอนุญาตทำเหมืองหิน ชาวบ้าน จะได้รับผลกระทบในวงกว้าง ทั้งปัญหาแหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อม ตามมา อีกทั้งพื้นที่ที่ยื่นขอประทานบัตรเป็นพื้นที่ที่ยังคงความสมบูรณ์ เป็นภูเขาที่มีถ้ำ ประชาชนในพื้นที่เรียกว่า "ถ้ำดุก"สมัยก่อนน้ำหลากในช่วงฤดูฝนมีปลาดุกมาอาศัยอยู่ในถ้ำจำนวนมาก
ปัจจุบันภายในถ้ำมีความสวยงามเหมือนอยู่ในเมืองบาดาล มีหินงอกหินย้อยที่สวยงามแปลกตา และมีค้างคาวอาศัยอยู่ภายในถ้ำ แสดงให้เห็นถึงความสมดุลของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิทัศน์ภูเขาโดยรอบมีความสวยงามควรค่าแก่การอนุรักษ์และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวไม่ใช่โรงโม่หิน จึงรวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านประทานบัตรทำเหมืองแร่ และขอให้จังหวัดยกเลิกประกาศแหล่งแร่ ซื่งเป็นช่องทางให้นายทุนยื่นขอประทานบัตร สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยาวกับพื้นที่ด้วย