xs
xsm
sm
md
lg

เฉียบขาด! ผู้ว่าฯ ชุมพรมีความเห็นถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ไม่สมควรต่อสัมปทานบริษัทยักษ์ใหญ่ใช้พื้นที่ป่าปลูกปาล์มน้ำมัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชุมพร - เครือข่ายเกษตรกรขอบคุณ ผู้ว่าฯชุมพร เฉียบขาดมีความเห็นถึงอธิบดีกรมป่าไม้ ไม่สมควรอนุญาตให้ต่อสัมปทานให้บริษัทยักษ์ใหญ่ใช้พื้นที่ป่าสงวนปลูกปาล์มน้ำมัน หลังปล่อยเกียร์ว่างมานานนับ 10 ปี ทำรัฐเสียรายได้ไปปีละเกือบ 100 ล้าน


เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้ ( 28 เม.ย.68) นายกฤษฎ์ แก้วรักษ์ รองนายก อบจ.ชุมพร ในฐานะตัวแทนเครือเกษตรกรจังหวัดชุมพร นายสันต์ แซ่ตั้ง สส.ชุมพร เขต 2 ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร นายอวยพร มีเพียร ที่ปรึกษาคณะกรรมการที่ดินฯ นายนิยม สังข์เอียด อดีต นายก อบต.หงษ์เจริญ พร้อมเครือข่ายฯและชาวบ้านประมาณ 200 คน เดินทางมาที่ศาลากลางจังหวัดชุมพร เพื่อมาแสดงความขอบคุณต่อ นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ ผวจ.ชุมพร กรณีมีหนัสือถึง อธิบดีกรมป่าไม้ เรื่องมีความเห็นไม่สมควรอนุญาตให้ บริษัท วิจิตรภัณฑ์ ปาล์มออยล์ จำกัด (มหาชน) ต่อสัมปทานใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อและป่าสลุย ใช้ประโยชน์ ปลูกปาล์มน้ำมันต่อไปอีก หลังหมดอายุสัมปทานมานานตั้งแต่ ปี พ.ศ.2558 แต่ยังมีการดึงเวลาจนยืดเยื้อมาถึงปัจจุบันนาน 10 ปี ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก

นายกฤษฎ์ แก้วรักษ์ เครือเกษตรกรจังหวัดชุมพร กล่าวว่า พวกเรามาขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ที่มีความเห็นไม่สมควรอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวได้รับอนุญาตสัมปทานต่อ เพราะปัญหานี้ยืดเยื้อมานานนับ 10 ปีแล้ว เนื่องจากบริษัทที่ได้รับสัมปทานปลูกป่า ทำสวนปาล์มน้ำมัน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ารับร่อและป่าสลุย โดยอยู่ในท้องที่ตำบลหงษ์เจริญ เนื้อที่ 7,109 ไร่ 2 งาน 39 ตารางวา และในท้องที่ตำบลรับร่อ เนื้อที่ 16,256 ไร่ 2 งาน 34 ตารางวา รวมกว่า 23,000 ไร่ ซึ่งทั้ง 2 แห่ง หมดสัญญาสัมปทานมานานตั้งแต่ปี 2558 ปัจจุบัน 2568 แต่บริษัทยังเก็บเกี่ยวผลผลิตอยู่ในพื้นที่ โดยอ้างคำสั่งศาลปกครองยังให้ความคุ้มครองอยู่


นายกฤษฎ์ กล่าวต่อว่า ความจริงแล้วเรื่องนี้ มีการฟ้องไปที่ศาลปกครองกลาง และศาลปกครองสูงสุด ซึ่งให้ความคุ้มครองแก่บริษัท ภายใต้เงื่อนไขที่บริษัทจะต้องปฎิบัติตามกฎหมายของกรมป่าไม้ ในการยื่นขอเก็บของป่าทุกปี ต้องเสียค่าภาคหลวงตามที่กรมป่าไม้กำหนด หากไม่ดำเนินการดังกล่าวให้ถือว่าความคุ้มครองสิ้นสุดลงทันที แต่บริษัทไม่ได้ดำเนินให้เป็นไปตามกฎหมาย ตามที่ศาลปกครองสูงสุดให้ความคุ้มครอง จึงต้องถือว่าสิ้นสุดความคุ้มครองไปแล้ว แต่หน่วยงานรัฐก็กลับนิ่งเฉยไม่ดำเนินการใดๆ และมักจะอ้างกับประชาชนว่าศาลปกครองยังให้ความคุ้มครองแก่บริษัทอยู่ ทั้งๆที่นานถึง 10 ปีแล้ว ยังปล่อยให้เป็นแบบนี้ได้อย่างไร

นายกฤษฎ์ กล่าวว่า นอกจากนั้นจากการตรวจสอบพบว่า ช่วง 5 ปี หลังที่ก่อนจะหมดสัมปทานในปี 2553 -2558 รวม 5 ครั้ง บริษัทมายื่นขอเก็บของป่า กับทางจังหวัดชุมพร แต่ไม่มารีบหนังสือการขออนุญาต และไม่เสียค่าภาคหลวงแต่อย่างใด ซึ่งกรณีนี้ที่ผ่านมาทางจังหวัดชุมพร ได้มีหนังสือหารือไปยังอธิบดีกรมป่าไม้ และได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า หากบริษัทไม่มารับและไม่ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้จังหวัดชุมพร สนธิกำลังกับพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ตามประกาศกระทรวงฯ ตาม พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พรบ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 เข้าตรวจสอบพื้นที่ หากมีการฝ่าฝืนไม่ขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและไม่ขออนุญาตเก็บหาของป่า (ผลปาล์มน้ำมัน) หากพบการกระทำผิด ให้ดำเนืนคดีกับผู่กระทำผิดทุกตัวบทกฎหมาย ทั้งคดีอาญา คดีแพ่ง ภาษีอากรและคดีทางปกครอง

" ตนจึงขอให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง ปปช. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวยข้องได้ลงมาตรวจสอบกรณีนี้ที่บริษัทเพิกเฉย ไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไข ระเบียบและกฎหมายว่าด้วยการเก็บของป่า เป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย ซึ่งบริษัทจะต้องจ่ายค่าภาคหลวงและค่าบำรุงป่าตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1221 (พ.ศ.2535) ออกตามความใน พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ปีะละประมาณ 66,000,000 บาท (หกสิบหกล้านบาทถ้วน) สำหรับแปลงที่อยู่ในเขตตำบลรับร่อ และจำนวน 28,000,000 บาท (ยี่สิบแปดล้านบาทถ้วน) สำหรับแปลงที่อยู่ในตำบลหงษ์เจริญ และมีหน่วยงานรัฐใดบ้านที่ต้องรับผิดชอบ" นายกฤษฎ์กล่าว


ด้าน นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ ผวจ.ชุมพร กล่าวว่าหลังจากที่ตนมารับราชการที่ จ.ชุมพร ได้ไม่นาน นายกฤษฎ์ แก้วรักษ์ เครือเกษตรกรจังหวัดชุมพร ได้เข้ามาพบตนแล้วเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบริษัทที่หมดสัมปทานทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกว่า 2 หมื่นไร่ พร้อมหลักฐานเอกสารต่างๆ เมื่อตนฟังแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่มหากาพย์มากยาวนานมาถึง 10 ปี

หลังจากนั้น ก็ได้ตรวจสอบพบว่า บริษัทรับสัมปทานได้กระทำผิดเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาตเก็บของป่า และไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ว่าด้วยกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ หรือกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ ประกอบกับได้รับฟังข้อมูลปัญหาจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ เครือข่ายเกษตรกร และประชาชน มีความเห็นเหมือนกัน ตนในฐานะผู้ว่าราชการังหวัดจึงมีความเห็นไม่สมควรอนุญาตให้บริษัทใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น