ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สว.ไชยยงค์โต้ภูมิธรรม อย่ากดดันด้วยการขีดเส้นตาย 7 วันกับเจ้าหน้าที่รัฐ ย้ำดับไฟใต้ต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ ต้องมี “ชุดความจริง” เรื่องของ “ไฟใต้” เพียงชุดเดียว และต้องมีเครื่องมือคือ “กฎหมายก่อการร้าย” เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ในการแก้ปัญหา
จากกรณีที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ขีดเส้นตายให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใน 7 วัน หลังจากกองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นซุ่มโจมตีรถยนต์ของ ร.ต.ท.วัฒนา ชูมาปาน ตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ที่นำพระสงฆ์และสามเณรจำนวน 6 รูปไปบิณฑบาต เป็นเหตุให้สามเณรพงษกร ชูมาปาน ลูกชาย และสามเณรรวมทั้งพระภายในรถยนต์คันดังกล่าวได้รับบาดเจ็บนั้น
วันนี้ (25 เม.ย.) นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สว.กลุ่ม 18 จากจังหวัดสงขลา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เหตุความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เป็นเวลา 21 ปี จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้สถานการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบคลี่คลายใน 7 วัน เพราะถ้าสถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้แก้ง่ายอย่างนั้น เรื่องความรุนแรงของจังหวัดชายแดนภาคใต้คงยุติไปก่อนที่นายภูมิธรรมจะมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีกลาโหม
การขีดเส้นเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ต้องเร่งรัดในการยุติปัญหาความรุนแรงใน 7 วัน แม้แต่ในเคสของการยิงสามเณรก็ทำได้ไม่ง่าย เพราะเจ้าหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐาน พยานบุคคล ต้องมีการนำวัตถุพยานไปหาดีเอ็นเอ เพื่อเชื่อมโยงกับเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน 10 ได้พิสูจน์แล้วว่า ปืนที่ใช้ก่อเหตุเป็นปืนเอ็ม 16 ของตำรวจ สภ.นาประดู่ จ.ปัตตานี ที่ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตและยึดปืนไป ขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลเส้นทางรถไฟ ที่ อ.นาประดู่ เมื่อปี 2566 และมีการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไปทำการซักถาม การไปขีดเส้นให้แก่เจ้าหน้าที่ อาจเป็นการกดดันให้เกิดความเร่งร้อนในการสอบสวน จับกุม และอาจจะเกิดความผิดพลาดขึ้น ทำให้สถานการณ์รุนแรงตามมา
สิ่งที่นายภูมิธรรมต้องเร่งดำเนินการคือ การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานของทหาร ตำรวจ ปกครอง และหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ยังไม่มีการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการบูรณาการแบบหลวมๆ หลอกๆ ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างเอาตัวรอดในการรักษาหน่วยของตนเอง
ที่สำคัญ ทุกหน่วยงานมีชุดความจริงของสถานการณ์ และความเข้าใจในสถานการณ์คนละชุด สิ่งที่นายภูมิธรรมต้องเร่งดำเนินการคือ ต้องเอา “ชุดความจริง” ทุกชุดของทุกหน่วยงานมากางบนโต๊ะ และทำให้มีชุดความจริงเพียงชุดเดียว เพื่อใช้เป็น “คัมภีร์” ในการ “ดับไฟใต้” การได้ชุดความจริงเพียงชุดเดียวคือการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็นที่สุด
และสิ่งที่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกร้อง คือเครื่องมือในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นั่นคือการออก “กฎหมายก่อการร้าย” เพื่อให้ตำรวจ ทหาร มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการกับกลุ่มก่อการร้าย
ณ วันนี้ สถานการณ์ไม่ใช่แค่การก่อความไม่สงบ แต่เป็นสถานการณ์การก่อการร้าย ที่ต้องมีเครื่องมือใหม่คือ “กฎหมายก่อการร้าย” วันนี้เจ้าหน้าที่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ซึ่งเป็นกฎหมายล้าหลัง และเป็นกฎหมายพิเศษที่เป็นการ “เรียกแขก” ให้กล่าวหาเจ้าหน้าที่ว่า ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลายเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่เข้าทางของขบวนการบีอาร์เอ็น ในการเรียกร้อง ร้องเรียนต่อองค์กรสิทธิมนุษยชน และเป็นสาเหตุหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ เพราะกลัวถูกร้องเรียน และไม่มีใครช่วยเมื่อเกิดเหตุร้องเรียน
รัฐบาลโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม ทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องความไม่สงบของจังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 2 ปี แต่ไม่กล้าตัดสินใจปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไร ทั้งในเรื่องของกฎหมาย ยุทธศาสตร์ และยุทธวิธี ปล่อยให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และสภาความมั่นคงแห่งชาติ รำวงกันไปเรื่อยๆ เป็นการเดินบนเส้นทางเก่าที่เดินมาแล้ว 21 ปี เพื่อไปสู่แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่เป็นการเดินผิดทาง เพราะบีอาร์เอ็นเขาใช้เส้นทางสายใหม่ในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ
แล้วอย่างนี้ การแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะพบกับแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ได้อย่างไร ในเมื่อเส้นทางที่ฝ่ายรัฐบาลเดินอยู่เป็นทางตัน
แม้แต่เรื่องการขับเคลื่อนการเจรจาสันติภาพกับบีอาร์เอ็น นายภูมิธรรมก็กล้าๆ กลัวๆ ไม่มีความคืบหน้า มีแต่ประชุม รับฟังข้อมูลจากฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ แต่ไม่กล้าตัดสินใจ การแก้ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้อุ้งมือของนายภูมิธรรม จึงไม่ได้ผล และทำให้สถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้น