ศูนย์ข่าวภูเก็ต – คณะอนุกรรมาธิการด้านการกระจายอำนาจฯ วุฒิสภา ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นภูเก็ตปกครองรูปแบบพิเศษ ทุกฝ่ายเห็นพ้องถึงเวลาภูเก็ตปกครองพิเศษคล้าย กทม. เพื่อแก้ปัญหางบ อำนาจในการบริหารไม่เพียงพอในการแก้ปัญหา
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ ( 23 เม.ย.68) คณะอนุกรรมาธิการด้านการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจและการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ในคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา นำโดย นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น คนที่สี่ และประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เดินทางมาประชุมและรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในภูเก็ตถึงการปกครองรูปแบบพิเศษ โดยมี นายสมาวิษฎ์ สุพรรณไพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต และนายสมชาติ เตชถาวรเจริญ ส.ส.ภูเก็ต เขต 1 พรรคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วม ณ กล่าวต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมีหัวหน้าส่วนราชการ ภาครัฐ เอกชน เข้าร่วม ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต
การประชุมครั้งนี้ เพื่อมารับฟังความคิดเห็นและเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษจังหวัดภูเก็ต รวมถึงการหารือถึงปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาในอนาคตอย่างยั่งยืน
นายอภินันท์ เผือกผ่อง รองประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น คนที่สี่ และประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภา กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการด้านการกระจายอำนาจ การถ่ายโอนภารกิจและการจัดสรรรายได้ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ในคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา ได้ทำการศึกษาการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ นำร่องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และเชียงใหม่ โดยใช้รูปแบบการปกครองรูปแบบพิเศษเหมือนกรุงเทพมนานคร จึงได้ลงมารับฟังความคิดเห็นจากบริหารของจังหวัดภูเก็ต องค์กรปกครองส่วนท้องส่วนท้องถิ่นในภูเก็ตทั้ง 19 แห่ง หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อรับฟังความคิดเห็นภูเก็ตจังหวัดจัดการตนเองหรือภูเก็ตปกครองรูปแบบพิเศษ ใน 3 เรื่องหลักๆ คือ โครงสร้าง ที่เบื้องต้นกำหนดให้เป็นรูปแบบเหมือนกับกรุงเทพฯ แต่ทั้งนี้สามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ตามบริบทของเมืองและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อำนาจหน้าที่ในการบริหารเมือง และการรายได้
ซึ่งในส่วนของที่มารายได้ท้องถิ่นรูปแบบพิเศษนั้น จะต้องมีรายได้ที่มากกว่าท้องถิ่นทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ก่อนที่จะลงมารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนภูเก็ต ทางคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการหารือและพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เพื่อให้ท้องถิ่นที่ปกครองารูปแบบพิเศษมีรายได้ที่มากขึ้นในการบริหารจัดการและพัฒนาเมืองต่อไป
“ที่มาวันนี้ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภูเก็ต ในการเดินไปสู่จังหวัดปกครองตนเอง เพราะการศึกษาในครั้งนี้ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เข้าสู่ระบบอย่างเป็นทางการ ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นทางคณะอนุกรรมการฯจะนำไปประมวลผลเสนอต่อรัฐบาลในการที่จะให้ดจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดเชียงใหม่จัดการตนเองต่อไป”
ด้าน นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต เสนอต่อที่ประชุมว่า ทางจังหวัดภูเก็ตและภาคเอกชน ในนามของ กรอ.จังหวัดได้มีการหารือเรื่องภูเก็ตปกครองพิเศษและปัญหาของภูเก็ตมาโดยตลอด และเห็นว่าภูเก็ตสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศปีละมหาศาล โดยล่าสุดปี 2567 สามารถสร้างรายได้ได้ถึง 4.9 แสนล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา 14 ล้านคน จากการเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ทำให้ปัจจุบันนี้ภูเก็ตต้องเผชิญกับปัญหาหลายๆเรื่อง ที่รอการแก้ไขจากรัฐบาลในการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก จากที่โครงการต่างๆ ที่รัฐบาลจะทำยังไม่สำเร็จแม้แต่โครงการเดียว ปัญหาน้ำอุปโภค น้ำเสีย รวมไปถึงปัญหาขยะล้นเมือง ฯลฯ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จากปัญหาขาดงบประมาณ อำนาจการบริการจัดการไม่เพียงพอ การปกครองรูปแบบพิเศษน่าจะตอบโจทก์เมืองภูเก็ต
โดยทางภาคเอกชนได้นำเอารูปแบบการปกครองพิเศษของกรุงเทพฯมาศึกษาและปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับภูเก็ตมาระยะหนึ่งแล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 1 เดือนจากนี้ หลังจากนั้นจะได้รับฟังความคิดเห็นจาก 14 องค์กรเอกชนในภูเก็ต จนตกผนึก หลังจากนั้นจะนำเสนอรับฟังความคิดเห็นไปยังองค์กรอื่นและภาคประชาชนต่อไป
ประธานหอการค้าภูเก็ต กล่าวต่อว่า สำหรับภูเก็ตโมเดล ปกครองรูปแบบพิเศษนั้น เป็นรูปแบบการบริหารงานคล้ายกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯมาจากการเลือกตั้ง และสภาท้องถิ่น เหมือนกับกรุงเทพฯ มีอำนาจในการจัดการได้เองในบางเรื่อง เช่น การจัดการบุคลากร ผังเมือง สิ่งแวดล้อม เป็นต้น มีอำนาจออกเทศบัญญัติเพื่อบริหารจัดการเมืองได้ จัดเก็บภาษีได้เอง และส่งคืนส่วนกลางตามสัดส่วนที่เหมาะสม ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และบริหารงานเชื่อมโยงใกล้ชิดกับรัฐบาลส่วนกลาง เป็นต้น
ขณะที่ นายเฉลิมพร ปิยณรงค์โรจน์ ปลัดเทศบาลนครภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลนครภูเก็ตนั้น ทางผู้บริหารชุดที่ผ่านมา ได้ร่วมกับทางสถาบันพระปกเกล้าทำการศึกษาเทศบาลนครภูเก็ตปกครองพิเศษ โดยใช้โมเดลเมืองพัทยามาเป็นต้นแบบ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และทางฝ่ายบริหารได้ยื่นผลการศึกษาดังกล่าวไปยังรัฐบาลแล้ว โดยฝ่ายบริหารมองว่าการที่การที่จะผลักดันให้ภูเก็ตปกครองรูแบบพิเศษทั้งจังหวัดนั้นมีความเป็นไปได้อยาก จึงอยากจะย่อส่วนเฉพาะพื้นที่เทศบาลนครภูเก็ต
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ต่างเห็นด้วยที่จะให้ภูเก็ตมีการปกครองรูปแบบพิเศษ โดยมีการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุด รวมไปถึงมีสภาฯด้วย ในลักษณะคล้ายกรุงเทพฯ แต่จะต้องนำมาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับเมืองภูเก็ตที่เป็นเกาะและเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก