วันนี้ (22 เม.ย.) นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา กลุ่ม 18 จากจังหวัดสงขลา กล่าวถึงการที่กองกำลังติดอาวุธของขบวนการแบ่งแยกดินแดน บีอาร์เอ็น โจมตีรถยนต์ของ ร.ต.ท.วัฒนา ชูมาปาน ตำรวจ สภ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ขณะนำพระและเณรจำนวน 6 รูป จากวัดกุหร่า ต.เปียน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เพื่อไปบิณฑบาต ทำให้สามเณรพงษ์กร ชูมาปาน อายุ 16 ปี ลูกชายถึงแก่มรณภาพ และสามเณรโภคนิษฐ์ โมราศิลป์ ได้รับบาดเจ็บ ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสะเทือนขวัญของชาวไทยพุทธ ซึ่งการฆ่าพระไม่ได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายปี แม้ว่าสถานการณ์ความไม่สงบยังมีอยู่
สาเหตุที่กองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นปฏิบัติการต่อพระ ต่อชาวไทยพุทธอีกครั้ง มาจากสาเหตุของการยิงครูสอนศาสนาใน ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส และบีอาร์เอ็นเชื่อว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ จึงได้ตอบโต้ด้วยการเอาคืนกับคนไทยพุทธและพระสงฆ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งมีการโจมตีฐานปฏิบัติการที่ตั้งของเจ้าหน้าที่ที่มีความอ่อนแอ สถานการณ์ขณะนี้ ชาวไทยพุทธ พระ และวัด กลายเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากแนวร่วมและกองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็น
สำหรับในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นกว่า 1 ปีแล้ว การก่อเหตุด้วยการยิงตำรวจ และยิงสามเณรในครั้งนี้ จึงเป็นสัญญาณว่า สี่อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย คนไทยพุทธ วัด และพระสงฆ์ อาจจะตกเป็นเหยื่อสถานการณ์เพิ่มขึ้น ดังนั้นฝ่ายความมั่นคงต้องทำการยกระดับการรักษาความปลอดภัยต่อเป้าหมายในพื้นที่ และต้องติดตามจับกุมแนวร่วมในพื้นที่โดยเร็ว เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ประชาชน
ในส่วนของรัฐบาลนั้น การแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องแก้ให้ตรงประเด็น และต้องกล้าที่จะตัดสินใจ เพราะตั้งแต่รัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยทำหน้าที่บริหารประเทศ มีความผิดพลาดในการแก้ปัญหาของไฟใต้ โดยปล่อยให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า รับผิดชอบในการแก้ปัญหา วันนี้ทั้ง กอ.รมน.ภาค 4 และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นสององค์กรที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในด้านการรักษาความสงบและการพัฒนา รัฐบาลนี้ปล่อยให้อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้ขับเคลื่อนการดับไฟใต้ด้วยตนเอง เป็นการแก้ปัญหาของไฟใต้ที่ไม่ถูกจุด ไปพูดคุยกับแกนนำที่บีอาร์เอ็นจัดตั้งขึ้น ซึ่งไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ โดยเฉพาะการขอให้นายกรัฐมนตรีมาเลเซียดำเนินการอย่างเปิดเผยกับบีอาร์เอ็น กลายเป็นการสร้างความไม่พอใจให้กับบีอาร์เอ็น จนออกมาตอบโต้ด้วยการก่อเหตุให้รุนแรงยิ่งขึ้น
ในขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขาดความเข้าใจในขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น โดยให้สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ของการแก้ปัญหา ซึ่ง สมช. หรือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นองค์กรที่ล้มเหลวในการเขียนยุทธศาสตร์ของการดับไฟใต้มาโดยตลอด เพราะ สมช. ไปเชื่อองค์กรต่างชาติจากชาติตะวันตกว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการแก้ปัญหาสันติภาพ การดับไฟใต้จึงหลงทาง ไม่ตอบโจทย์ของข้อเท็จจริง
วันนี้ บีอาร์เอ็นมีความเข้มแข็งทางการเมือง มีเครือข่ายทางการเมือง ตั้งแต่ในสภาผู้แทนจนถึงในพื้นที่หมู่บ้าน ตำบล บีอาร์เอ็นมีหมู่บ้านเข็มแข็ง มีตำบลเข็มแข็งถึง 80 กว่าตำบล จนสามารถใช้อิทธิพลเพื่อควบคุมประชาชน บีอาร์เอ็นมีการสร้างขบวนการเยาวชนหญิงชาย เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานการเมือง โดยที่หน่วยงานความมั่นคงเข้าไม่ถึง และไม่มีแผนในการทำลายโครงสร้างของบีอาร์เอ็น งานการข่าวของทุกหน่วยงานในพื้นที่ล้มเหลว และการบูรณาการระหว่างทหาร ตำรวจ และปกครอง ยังอยู่แบบหน่วยใครหน่วยมัน เพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องรับมือกับบีอาร์เอ็นโดยไม่มีกฎหมายที่สอดคล้องกับสถานการณ์
การจัดการกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้ ไม่ใช่เรื่องการก่อความไม่สงบ แต่เป็นเรื่องการก่อการร้าย ที่รัฐบาลมีเพียง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเพียงกฎอัยการศึก ที่เป็นกฎหมายล้าหลัง ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่วนกฎหมาย ป.วิ.อาญา ใช้ได้กับอาชญากรทั่วไป ใช้ไม่ได้กับองค์กรก่อการร้าย ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจในการออก พ.ร.บ.การก่อการร้าย สถานการณ์ของไฟใต้ก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และจะสูญเสียมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดไป