คอลัมน์: จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมายัง “ปกติวิสัย” นั่นคือ มีทั้ง “เสียงระเบิด” การการซุ่มโจมตีและ “เสียงปืน” จากการซุ่มยิงเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ทุกวัน หรือวันเว้นวัน จนกลายเป็นความชาชิน หรือกลายเป็นงานประจำสำหรับเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ระเบิดและพิสูจน์หลักฐาน
ล่าสุดวางบึ้มเรือนนอนทหารพราน ฉก.พท.ที่ 54 ที่ไปตั้งฐานในวัดบ้านไทยหรือวัดชัยรัตนาราม ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ด้วยอนุภาพระเบิดนำหนัก 50 กก.ที่บรรทุกมากับรถโชเล่ย์หรือมอเตอร์ไซดสามล้อพ่วงข้าง นอกจากทหารพรานบาดเจ็บ 4 นาย ทำลายกำแพงวัดและบ้านน็อคดาวน์ที่เป็นเรือนนอนพังทลายแล้ว ยังพ่วงเอาบ้านเรือนประชาชนเสียหายไปด้วย
พิเคราะห์เหตุการณ์ครั้งนี้พบว่า แนวร่วม บีอาร์เอ็น ยังคง “หัวใจใหญ่กว่าตับ” ใช้ยุทธวิธีแบบเดิมๆ ที่ได้ผลมาแล้วกับฐานทหารพรานในจังหวัดเดียวกันเมื่อ 2 เดือนก่อนคือ แนวร่วมคนแรกขี่โชเล่ย์บอมบ์ไปจอดยังจุดเป้าหมาย แล้วมีแนวร่วมอีกคนขับจักรยานยนต์ไปรับ เมื่อได้โอกาสก็จุดระเบิดและพาหลบหนี นับเป็นวิธีการที่ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อน
เพียงแต่ หน่วยทหาร ในพื้นที่ไม่เคยจดจำ ซึมซับและหาทางป้องกัน เหมือนไม่มีการวางเวร-ยามโดยรอบ ซึ่งเกือบทุกฐานปฏิบัติการมักจะเป็นเช่นนี้ รวมถึงแทบไม่มี “งานการข่าว” กันเลย ต่างจากฝ่ายมือก่อวินาศกรรมฝ่ายบีอาร์เอ็นสามารถ “เข้าถึง” ความเคลื่อนไหวแต่ละฐานเจ้าหน้าที่ และส่งข่าวให้เข้าโจมตีได้แบบปราศจากการตอบโต้
หรือนี่เป็นเพียงแค่ “ปัญหาพื้นผิว” บนแผ่นดินไฟใต้
มีประเด็นที่น่าสนใจคือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาชนที่มี สส.ในชายแดนภาคใต้ 7 คน ได้กล่าวปราศรัยและสื่อมวลชนนำไปขยายต่อโดยหยิบยก “เขตปกครองตนเองซินเกียง” ของชาว “มุสลิมอุยกูร์” ของจีนมาเทียบเคียงกับ “จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่คนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม มีวัฒนธรรม ภาษาพูดและเขียนเป็นของตนเอง ทำให้เกิดเสียงวิพากษวิจารณ์ขรมตามมา
ซึ่งโดยข้อเท็จจริงเขตปกครองตนเองที่มณฑลซินเจียงของจีนมีความแตกต่างจากแผ่นดินชายแดนใต้ของไทย ทั้งในเรื่องที่มาและความต้องการควบคุม “ชาวอุยกูร์” ที่ไม่ใช่ “ชาวฮั่น” ให้อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐบาลจีน และมีการใช้ “กฎเหล็ก” ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพจนเกิดการต่อต้านหละหลบหนี ปัจจุบันรัฐบาลจีนก็ยังคงใช้การควบคุมมุสลิมอุยกูร์อย่างเข้มข้น
การเลือกหยิบเอาเฉพาะเรื่องศาสนา วัฒนธรรมและภาษามาใช้เทียบเคียง แต่ไม่ได้พูดถึงบริบทอื่นๆ ของเขตปกครองตนเองซินเจียง จนทำให้มีการ “ตีความ” ว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ต้องการให้แผ่นดินชายแดนใต้ของไทยได้ถูกยกเป็น “เขตปกครองตนเอง” ในแบบเดียวกัน นี่จึงเป็นเรื่อง “การบ้าน” ที่ถูกลากโยงให้ไปเป็นเรื่องของ “การเมือง” เพื่อใช้สร้างเงื่อนไขโจมตีเพื่อให้เกิดความเจ้าใจผิด จนอาจกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมาได้
ประเด็นสุดท้ายที่อยากบอกเล่าคือ การเผยแพร่ “งานวิจัย” ของ ดร.ซาสชา เฮลบาร์ต (Dr.Sascha Helbardt) นักวิชาการชาวเยอรมันใน “โครงการแนวความคิดในการต่อต้านความรุนแรงแบบสุดโต่ง กับการแก้ไขความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” ที่สรุปว่า ความรุนแรงในชายแดนใต้ “บีอาร์เอ็น” คือผู้แสดงหลักในฐานะ “คู่ขัดแย้ง” และมี “เจตจำนง” ปลอดปล่อยรัฐปัตตานี
ความสำคัญของประเด็นนี้อยู่ที่การกล่าวว่า 21 ปีไฟใต้ระลอกใหม่ยังไม่เห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” เหตุรุนแรงยังไม่ลดลง มีเพียงเจ้าหน้าที่ออกลาดตระเวนน้อยลงเพื่อมิให้ตกเป็นเหยื่อมถูกโจมตี “ชาวไทยพุทธ” อพยพออกไปแล้วไม่ยอมคืนถิ่น แสดงให้เห็นว่ายังไม่มี “ความปลอดภัย” อีกทั้ง “เจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน” ยังไม่กล้าลงพื้นที่ โรงเรียนรัฐมี “ครูไทยพุทธ” น้อยลงทำให้การโจมตีโรงเรียนและครูลดลงตามไปด้วย
นักวิชาการชาวเยอรมันผู้นี้ยังให้รายละเอียดไว้ในงานวิจัยด้วยว่า แนวโน้มการก่อการร้ายในเดือนพฤษภาคม 2568 หรือเดือนหน้านี้จะรุนแรงมากขึ้น เพราะบีอาร์เอ็นมีการฝึกหลักสูตรการก่อการร้ายที่เรียกว่า “มินิคอมมานโด” สำเร็จไปแล้วหลายรุ่น โดยจะใช้ “ยุทธการ” โจมตีแบบปูพรมต่อฐานปฏิบัติการและตัวเจ้าหน้าที่รัฐ
อีกทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นจะใช้ “เยาวชน” ออกปฏิบัติการเพื่อให้เกิดความขัดแย้งด้วยอาวุธ หรือที่เรียกว่า “อาร์มคอนฟิกซ์” เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐตอบโต้ เมื่อภาพความสูญเสียของเยาวชนปรากฏ จึงเข้าเงื่อนไขให้ “องค์กรระหว่างประเทศ” แทรกแซงหรือเข้ามามีบทบาทเป็น “คนกลาง” แก้ปัญหา แถมยังใช้เยาวชนที่เป็น “มวลชน” ในปีกการเมืองบีอาร์เอ็นเคลื่อนไหวแสดงพลังโดยอ้างอัตลักษณ์ ซึ่งแท้จริงก็คือความเคลื่อนไหวทางการเมืองนั่นเอง
นี่คือการชี้ประเด็นของงานวิจัยจากนักวิชาการ “ชาติตะวันตก” ที่ใช้ทุนจาก “องค์กรเยอรมัน” ที่ทำตัวเป็น “พี่เลี้ยง” ให้บีอาร์เอ็นต่อสู้กับรัฐไทย โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนบน “โต๊ะเจรจาสันติภาพ” ตั้งแต่ในยุค รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
ที่น่าสนใจอีกคือ “องค์กรชาติตะวันตก” นี้เป็นเจ้าของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวมที่คณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทยและบีอาร์เอ็นเห็นชอบ หรือที่เรียกว่า “JCPP” ที่มีการ “ยกร่าง” ขึ้นมาในสมัยที่ นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมาช.) ทำหน้าที่เป็น “หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุข” และได้เจรจากับ นายหิพนี มะเระ อดีตอิหม่ามบันนังสตา ที่ครานั้นนั่งเป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายบีอาร์เอ็น
ทั้งหมดคือบทสรุปไฟใต้ในรอบสัปดาห์ที่ควรแก่การสนใจยิ่ง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ที่เป็นเจ้าภาพดับไฟใต้ควรต้องนำไปวิเคราะห์เพื่อหาข้อเท็จจริงและนำไปสู่การวางแผนป้องกัน เพราะต้องยอมรับความจริงว่า กว่า 21 ปีสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ระลอกใหม่ยังไม่เห็น “แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์” อย่างที่นักวิชาการชาวเยอรมันผู้นี้ได้นำเสนองานวิจัยไว้นั่นเอง