วันที่ 20 เมษายน 2568 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่พบปะแรงงานต่างด้าวที่ปฏิบัติงานบริเวณหน้าท่า เพื่อแนะแนวการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวจังหวัดนครศรีธรรมราชตามนโยบายรัฐบาล พร้อมเยี่ยมชมบูธหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมี นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี คณะทำงานรัฐมนตรีด้านการบริหารจัดการแรงงานผิดกฎหมาย นายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน นายสมชาย ลีหล้าน้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวต้อนรับ
นายพิเชษฐ์ ทองพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน หัวหน้าส่วนราชการกระทรวงแรงงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ประกอบการ ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ผู้นำชุมชนท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับ ณ แพปลา ว.นิตย์ภวรรณ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า การตรวจติดตามการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งรัฐบาลมีเป้าหมายว่า แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในประเทศไทยต้องอยู่ในระบบถูกกฎหมาย และได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานสากล เพื่อทั้งปกป้องสิทธิของแรงงานและสร้างความมั่นใจให้กับภาคธุรกิจ ตลอดจนภาพลักษณ์ในการบริหารจัดการแรงงานของประเทศ กระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน จึงมุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างเป็นระบบบ โดยมีการตรวจเยี่ยมศูนย์ควบคุมแจ้งเรือเข้า-ออก ติดตามการทำงานและให้คำแนะนำในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการรวมถึงพูดคุยกับนายจ้าง ลูกจ้าง และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาอย่างตรงไปตรงมา พร้อมนำข้อเสนอแนะไปพัฒนานโยบายให้ตอบโจทย์การใช้งานจริง
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่ตรวจศูนย์ควบคุมแจ้งเรือเข้า-ออก หรือ PIPO ในวันนี้เป็นภารกิจหนึ่งของกระทรวงแรงงาน เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการเจ้าของแพปลาเพื่อให้ผู้ประกอบการทราบว่าการปฏิบัติต่อลูกจ้างแรงงานต่างด้าวเท่าเทียมกับแรงงานคนไทย เพื่อทำให้ไม่เกิดช่องว่างระหว่างนายจ้าง และแรงงานต่างด้าว ซึ่งในเรื่องนี้ กระทรวงแรงงานบูรณาการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย พม.คมนาคม เกษตร ฝ่ายความมั่นคง และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
(ศรชล) ที่สำคัญเน้นการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ที่สถานะประเทศไทยอยู่ในระดับเทียร์ 2 ในขณะนี้ เพื่อยกระดับสถานะให้ดีขึ้น
"ผมขอชื่นชมผู้ประกอบการประมงที่ดำเนินการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จัดให้มีใบอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง สนับสนุนการเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 และดูแลแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน นี่คือแนวทางที่ทางกระทรวงแรงงานต้องการให้เกิดขึ้นในทุกพื้นที่" นายพิพัฒน์ กล่าว
สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชมีแรงงานต่างด้าวทั้งหมดรวม 24,762 คน จำแนกเป็นสัญชาติเมียนมา 17,509 คน ลาว 5,989 คน กัมพูชา 1,252 คน และเวียดนาม 12 คน แรงงานต่างด้าวที่ทำงานในกิจการประมงและได้รับใบอนุญาตทำงานในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1,894 คน จำแนกเป็นสัญชาติเมียนมา 1,618 คน กัมพูชา 226 คน และลาว 50 คน