ตรัง - กลุ่มตัวแทนชาวสวนยางตรังบุกศาลากลาง ยื่นหนังสือถึง ครม.-รมว.พาณิชย์-รมว.เกษตร-บอร์ดการยาง ทวงคืนราคายางที่หายไป แฉนายทุนอ้างภาษีทรัมป์ทุบราคาดิ่งหนัก บี้งัด พ.ร.บ.คุมราคาสินค้าฯ - ควบคุมยางฯ ลงโทษเด็ดขาด
วันนี้ (21 เม.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง ตัวแทนชาวสวนยางและตัวแทนเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง ประมาณ 40 คน นำโดย นายวิรัตน์ อันตรัตน์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง และนายประทบ สุขสนาน ประชาสัมพันธ์เครือข่ายฯ เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ผ่านไปถึง คณะรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ประธานคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย, คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ และอธิบดีกรมสรรพากร โดยมี พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นตัวแทนรับหนังสือ
ทั้งนี้ หนังสือระบุถึงการเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากกรณีสหรัฐอเมริกาประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกและของไทยปรับขึ้นร้อยละ 36 มีผลเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา โดยสินค้าประเภทยางพาราส่งออกไปอเมริกาจำนวนเพียงประมาณ 2 แสนตันเท่านั้น แต่ปรากฎว่าบริษัทยักษ์ใหญ่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้กดราคารับซื้อยางพาราจากเกษตรกรลงในทันที ในวันที่ 8-10 เมษายน 2568 รวมประมาณทั้งหมด กก.ละ 14 บาท เฉพาะวันที่ 8 เม.ย.68 วันเดียวลง กก.ละ 10 บาท
โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 9 ข้อ โดยสรุป เช่น 1.ให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ออกประกาศกำหนดราคาซื้อตามมาตรา 25พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯพ.ศ.2542 ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมต่อชาวสวนยาง ให้ผู้รับซื้อยางพาราแจ้งปริมาณ ณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายแผนการผลิต แผนการซื้อ แผนการขาย แผนการนำเข้า แผนการส่งออก แผนการเปลี่ยนแปลงราคา หรือรายการอื่นใดที่เกี่ยวข้องในการรับซื้อ กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าพฤติการณ์ใดเข้าข่ายการกระทำให้ราคาสินค้ายางพาราต่ำเกินสมควร สูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนราคา
2.ปรับปรุงกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 เพื่อให้สามารถคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ควบคุมยางฯ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยควบคุมสินค้าและบริการ เข้าตรวจบัญชีการรับซื้อยาง บัญชีคุมสินค้า ตามประกาศคณะกรรมการ กลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ , พ.ร.บ.ควบคุมยางฯ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3. ให้รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ สั่งการอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าไปตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับนายทุน บริษัทรับซื้อยางพาราที่จงใจกดราคารับซื้อให้ต่ำกว่าราคาเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั้นป่วนซึ่งราคายางพารา ตรวจสอบบัญชีรับซื้อ ราคาซื้อ ราคาขาย ปริมาณ ว่าตรงกับความเป็นจริงและต้นทุนจริงหรือไม่ หรือหลีกเลี่ยงภาษีตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการฯ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการขนย้ายยางพาราในพื้นที่ชายแดน ที่มีความเสียงต่อการนำยางพาราที่มีแหล่งกำเนิดจากต่างประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ เข้ามาสวมสิทธิ์ เป็นยางพาราในราชอาญาจักรไทย โดยทำการตรวจค้น ยึด หรืออายัดบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวกับหรือสันนิษฐานว่าเกี่ยวกับภาษีอากรที่จะต้องเสีย เพื่อดำเนินการตามประมวลรัษฎากร ให้มีการชำระภาษีแก่รัฐโดยถูกต้องครบถ้วน โดยให้เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เจ้าพนักงานตำรวจ และเจ้าพนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการตามกฎหมายทุกบทความผิดต่อไปด้วย
และ 4.ให้ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการสินเชื่อเงินกู้ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง ซึ่งเกิดขึ้นในสมัย คสช.จำนวน 10,000 ล้านบาท สำหรับให้สถาบันเป็นเงินทุนหมุนเวียน และอีกจำนวน 5,000 ล้านบาท ที่ใช้สำหรับต่อยอดลงทุน เช่น ก่อสร้างโรงงาน หรือจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่อยอดธุรกิจ ที่ผ่านคณะกรรมการยางธรรมชาติ(กนย.) เพื่อขยายเวลาการชำระหนี้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) แต่ทางธกส.ยังทำเฉย ไม่ปล่อยกู้ให้สถาบันเกษตรกร
“ทั้งนี้ ให้เวลาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตอบกลับภายใน 15 วัน หากกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางไม่ได้รับคำตอบ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม จะยกระดับการขับเคลื่อนเพื่อต่อสู้เรื่องนี้ต่อไป” หนังสือเรียกร้องระบุ
นายวิรัตน์ อันตรัตน์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง กล่าวว่า สถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำในขณะนี้ หากอ้างอิงราคายาง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา กับราคาที่ถูกนายทุนยางกดราคารับซื้อลงในวันที่ 8-10 เมษายน 2568 ราคาตกลงมาอย่างรวดเร็วกว่า 10 บาท เช่น ราคาน้ำยางสดจาก กก.ละ 62 บาท เหลือ กก.ละ 48 บาท, ยางแผ่นรมควันจาก กก.ละ 73 บาท เหลือกก.ละ 60 บาท , ยางก้อนถ้วย จาก กก.ละ 35 บาท เหลือ กก.ละ 20 บาท
แม้ตอนนี้ราคากลับมาบ้างแล้ว เช่น น้ำยางสด วันนี้ (21 เม.ย.) ราคากก.ละ 50 บาท ยางแผ่นรมควันกก.ละ 65 บาท จึงออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบังคับใช้กฎหมาย ตรวจสอบ เอาผิด ดำเนินคดีนายทุนที่ฉวยโอกาสเอาเปรียบชาวสวน และเรียกร้องให้เร่งคืนราคายางให้กลับมาอยู่ในราคาปกติภายใน 15 วัน ทั้งนี้ หากครบกำหนด 15 วัน ไม่มีคำตอบทางเครือข่ายสถาบันเกษตรกรทั่วประเทศจะยกระดับการเรียกร้องต่อไป
ด้าน นายจักรกฤษ แก้วทอง ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางคลองปาง อ.รัษฎา จ.ตรัง กล่าวว่า ช่วงที่นายทุนฉวยโอกาสทุบราคายางลงใกล้จะเป็นวันหยุดยาวสงกรานต์ เฉพาะวันที่ 8 เมษายนวันเดียว ลงทันที 10 บาท/กก. หลังจากนั้นเป็นวันหยุดยาวตลาดกลางยางพาราไม่เปิดราคา ทั้งนี้ ราคายางแผ่นรมควันขณะนั้น ราคา กก.ละ 70 บาท ชาวสวนคาดว่าตลาดกลางหากจะลงก็คงประมาณ 2 บาท เพราะที่ผ่านมาไม่เคยลงมากว่านั้น
ขณะที่ตลาดเอกชนเปิดราคารับซื้อยางแผ่นรมควันกดลงทันที ราคาลงกก.ละ 10 บาท เหลือกก.ละ 60 บาท ทำให้สถาบันฯไม่ขายให้เอกชน แล้วกันเสนอขายในตลาดกลางยางพารา แต่นายทุนก็ตามเข้าไปทุบราคาในตลาดกลางเหลือกก.ละ 60 บาท เฉพาะวันนั้นวันเดียวมียางทั้งหมดกว่า 3 แสนกิโลกรัม ทำวันเดียวเสียหายกว่า 3 ล้านบาท ยางและเงินส่วนต่างนั้นไปอยู่ในสต๊อกของใคร ทำให้ชาวสวน และสถาบันเกษตรกรได้รับความเสียหายและเดือดร้อนเป็นอย่างมาก แต่เวลาจะกลับขึ้นมาแค่วันละ 50 สตางค์ถึง 1 บาทเท่านั้น
ด้าน นายสุธรรม พลบุญ ประธานสหกรณ์กองทุนสวนยางทุ่งใหญ่พัฒนา อ.ปะเหลียน จ.ตรัง กล่าวว่า ของตนเองมียางแผ่นรมควันที่ใช้เวลารวบรวมมานาน 1 เดือน ประมาณ 1 แสนกิโลกรัม โชคดีไม่ทันได้ขายออก หากขายออกจะขาดทุนทันทีวันเดียว 1 ล้านบาท ทำให้ตอนนี้ยังขาดทุนไม่สามารถขายยางออกได้ ต้องรอราคาให้กลับขึ้นมาก่อน จุดคุ้มทุนราคายางแผ่นรมควันจะต้องไม่ต่ำกว่า กก.ละ 71 บาท ซึ่งถ้านายทุนไม่ฉวยโอกาสอ้างเรื่องกำแพงภาษี แล้วปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไก ตอนนี้ราคายางแผ่นรมควันจะต้องไม่ต่ำกว่า กก.ละ 73 บาทแล้ว