วันที่ 17 เมษายน 2568 จังหวัดสุราษฎร์ธานีจัดประชุมหารือแนวทางการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ และเชื่อมโยงเศรษฐกิจเกาะกับการท่องเที่ยวบนฝั่งแบบองค์รวม โดยนายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี พร้อมด้วยนายรัชชพร พูลสวัสดิ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ประกอบการภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมเฉวง ชั้น 3 วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
การประชุมในครั้งนี้ สืบเนื่องจากการลงพื้นที่ของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ณ อำเภอเกาะสมุย ซึ่งได้พบปะผู้ประกอบการในพื้นที่และรับฟังปัญหาโดยตรง พบว่า เกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกิจการสปา เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะตำแหน่ง หมอนวดหรือพนักงานนวดที่มีฝีมือ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการและภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย ซึ่งจากข้อมูลในพื้นที่ พบว่าสาเหตุสำคัญของการขาดแคลนแรงงาน ได้แก่ขาดแรงงานใหม่ที่มีทักษะผ่านการรับรอง ขาดระบบฝึกอบรมท้องถิ่นที่ต่อเนื่อง แรงงานย้ายออกไปทำงานในเมืองใหญ่หรือกลับภูมิลำเนา ค่าครองชีพสูงในพื้นที่เกาะ ทำให้แรงงานใหม่ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า จึงได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งแก้ปัญหาแบบบูรณาการ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานฝึกอาชีพเชิงระบบ ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 11 สุราษฎร์ธานี สมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย และ สมาคมโรงแรมและการท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะสมุย พะงัน และเต่า ซึ่งความร่วมมือนี้จะนำไปสู่ การจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมที่เหมาะสมกับความต้องการจริงของสถานประกอบการ พร้อมเชื่อมโยงไปสู่การจ้างงานจริงทันที โดยเฉพาะในโรงแรม สปา และธุรกิจบริการอื่น ๆ
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการหารือในประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตแรงงานและนักท่องเที่ยว เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เกาะ ปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอ รวมถึงกรณีข้อร้องเรียนจากประชาชนเรื่องการนำรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ลงเรือเฟอร์รี่ไม่ได้ ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานแก้ไขกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“ทั้งหมดนี้ เป็นต้นแบบของการทำงานเชิงรุกของกระทรวงแรงงาน ที่เดินหน้าแก้ไขร่วมกับท้องถิ่น ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาอย่างแท้จริง โดยวางแนวทาง ระยะสั้น – ผ่านการฝึกอบรมเร่งด่วน และ ระยะยาว – ผ่านการพัฒนาระบบฝึกงาน-จ้างงานต่อเนื่อง ให้พื้นที่สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง มีอาชีพ และเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างแท้จริง” นายพิพัฒน์ กล่าวปิดท้าย