xs
xsm
sm
md
lg

บีอาร์เอ็นปั่นให้ปฏิเสธ “จุฬาราชมนตรี” ผนวก “จ.สตูล” เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปาตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์: จุดคบไฟใต้ โดย… ไชยยงค์ มณีพิลึก
เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่วาระเฉลิมฉลองฮารีรายอปี 2568 นี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดน “บีอาร์เอ็น” ได้ออกแถลงการณ์ในนาม “กองอำนวยการรักษาความเสมอภาคในอาณาจักรปาตานี (กอ.รสภน.)” เพื่อส่งสารต่อประชาชนในพื้นที่ โดยอ้างว่าอาณาจักรปาตานีต้องมีการประกาศกำหนด “วันอีฎิ้ลฟิตริ” ของตนเอง และห้ามทำตามประกาศของ “จุฬาราชมนตรี
มีประเด็นที่ต้องขบคิดคือ หนึ่งมี “องค์กรใหม่” เกิดขึ้นภายใต้ “ปีกการเมือง” ของบีอาร์เอ็น สองบีอาร์เอ็นให้ความสำคัญกับ “สภาอูลามา” จึงนำ “ศรัทธาทางศาสนา” มาเป็นเครื่องมือปลุกระดมให้มุสลิมชายแดนใต้ปฏิเสธ “ประมุข” ผู้นับถือศาสนาอิสลามในไทย
สามชื่อองค์กรใหม่ที่ว่า “กองอำนวยการรักษาความเสมอภาคในอาณาจักรปาตานี (กอ.รสภน.)” ถูกตั้งขึ้นเพื่อล้อกับชื่อ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.)” แถมยังมีตำแหน่ง “โฆษก กอ.รสภน” ที่ล้อกับ “โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” ซึ่งมี “ต่วนกูตารา บินต่วนกูตานี” ทำหน้าที่นี้
สี่จากแถลงการณ์มีการใช้คำว่า “อาณาจักรปาตานี” ที่ชัดเจนว่าประกอบพื้นที่ด้วย “4 จังหวัดชายแดนภาคใต้กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา” นั่นเท่ากับแสดงว่าบีอาร์เอ็นได้ผนวกรวมเอา “จ.สตูล” เข้าไว้ด้วย จากที่เคยเป็นที่รู้กันว่าพื้นที่เคลื่อนไหวปฏิบัติการมีแค่ 3 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส กับ 4 อำเภอ จ.สงขลา ได้แก่ จะนะ เทพา นาทวีและสะบ้าย้อย เท่านั้น
เรื่องนี้เห็นจะต้องถามประชาชนชาวสตูลว่า คิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้ และที่ต้องติดตามคือเมื่อผนวกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรปาตานีตามแถลงการณ์ไปแล้วนั้น ก็ต้องจับตาว่าในอนาคตบีอาร์เอ็นจะขยายปฏิบัติการก่อเหตุร้ายเข้าสู่พื้นที่ จ.สตูล ด้วยหรือไม่
ปรากฏการณ์ใหม่ในชายแดนใต้ดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่อง “ตลก” หรือ “ปาหี่” แต่ต้องถือเป็น “อีกก้าวสำคัญ” ของบีอาร์เอ็นเพื่อให้สอดรับกับ “การเจรจาสันติภาพ” ที่กำลังจะมีขึ้นครั้งใหม่ภายใต้การนำของ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพคนใหม่แทน นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
จึงเชื่อว่าเวลานี้สังคมไทย และโดยเฉพาะคนชายแดนใต้อยากเข้าใจคือ “กอ.รสภน.” ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และเกี่ยวข้องกับ “กระบวนการพูดคุยสันติภาพ” ที่กำลังจะมีการขับเคลื่อนกันต่อในเร็วนี้อย่างไร ดังนั้นหน่วยงานด้านความมั่นคงคือ “กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า” และโดยเฉพาะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ควรต้องรีบให้ความกระจ่างกับประชาชนโดยพลัน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องจับตาใกล้ชิดอีกคือ การจัดงาน “มลายูรายอ 2025” ที่เพิ่งถูกเปลี่ยนชื่อมาจากที่เคยจัดต่อเนื่องมาคือ “มลายูเดย์” ปีนี้แม้ พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะ ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้ใช้แผนรุกกลับด้วยสนับสนุนให้ “จัดการชุมนุม” ได้ภายใต้เงื่อนไขการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ การแต่งกายและภาษา แต่ปรากฏว่าไม่ว่าที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูตามา
มีการจัดงานไปแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ณ หาดวาสุกรี เขตเทศบาลตำบลตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งมีปัญหาว่าคณะผู้จัดบางส่วนถูกดำเนินคดีด้านความมั่นคงอยู่ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยจึงมีการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด เพื่อคัดกรองและป้องกันมือที่สามข้าไปสร้างสถานการณ์ โดยเฉพาะการแสดงสัญลักษณ์บีอาร์เอ็นเหมือนที่ผ่านมาจนกลายเป็นคดีความไปแล้วนั้น
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ตามมาคือ การแสดงความไม่พอใจของคณะผู้จัดงานที่มีต่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ในทำนองแม้จะสนับสนุนการจัดงาน แต่กลับการควบคุมเข้มงวดจนเข้าข่ายการ “ลิดรอนเสรีภาพ” ในการแสดงออกของผู้ร่วมชุมนุม
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีแถลงการณ์ของทีมผู้จัดงานออกตามมาด้วย พร้อมมีข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นคือ “รัฐไทย” ต้องยอมรับในอัตลักษณ์ของชาวมลายู ซึ่งโดยข้อเท็จจริงถ้าการชุมนุมอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และผู้ชุมนุมไม่ทำผิดกฎหมายก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร จนทำให้คิดว่าน่าจะเป็นการสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเสียมากกว่า
ข้อเรียกร้องที่ต่อมาคือ “เศรษฐกิจที่เป็นธรรมเพื่อประชาชนมลายูปาตานี” ก็ต้องถามกลับไปว่าที่ผ่านมาไม่ได้รับความเป็นธรรมตรงไหน ในเมื่อคนมลายูในพื้นที่มีโอกาสที่เท่าเทียมกับคนไทยพุทธและคนไทยเชื้อสายจีนในการประกอบอาชีพที่ตนเองต้องการ ซึ่งการมี “ธนาคารอิสลาม” ก็เป็นเครื่องยืนยันที่สำคัญมากอยู่แล้วไม่ใช่หรือ
ข้อสุดท้ายคือ “คืนสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ก็ในเมื่อทุกคนคือ “พลเมืองไทย” นั่นย่อมมีความเท่าเทียมกันอย่างเสมอหน้าในทุกด้านอยู่แล้ว มิพักต้องการถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถ้าทุกคนช่วยกันดูแลก็สามารถที่ใช้อได้ย่างเท่าเทียมและยั่งยืน ที่สำคัญคงไม่สามารถยกทรัพยากรธรรมชาติให้ชาวมลายูไปบริหารจัดการได้เพียงกลุ่มเดียว
อีกทั้งที่ระบุถึง “การยอมรับความแตกต่าง” เป็น “รากฐานของสันติภาพ” ก็ต้องถามกลับไปว่า วันนี้รัฐไทยไม่ยอมรับความแตกต่างของคนมลายูพื้นที่ตรงไหน ในเมื่อมีข้อเท็จจริงประจักษ์แจ้งว่าสังคมของคนในชายแดนใต้ มีการอยู่ร่วมกันอย่าง “สันติสุข” ท่ามกลาง “ความแตกต่าง” อยู่แล้ว
เพียงแต่มี “ขบวนการแบ่งแยกดินแดน” ค่อยก่อความไม่สงบ ยุยง ปลุกปั่น สิ่งนี้ต่างหากที่เป็น “ต้นเหตุแห่งปัญหา” ที่ไม่ยอมที่ให้ประชาชนได้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขท่ามกลางความแตกต่าง

ทั้งหมดจึงเป็นข้อเรียกร้องของฝ่ายผู้จัดงานมลายูรายอ 2025 ที่เป็นเพียงต้องการสร้าง “วาทกรรม” ที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง แต่ต้องการสร้าง “เงื่อนไข” ให้เกิดความแตกแยกเพื่อให้เป็นไปตาม “ธง” ของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น