xs
xsm
sm
md
lg

เรียกร้องมา 40 ปี ขอรัฐขายที่ดินคืนให้ชาวบ้าน หลังบังคับซื้อให้ฝรั่งทำเหมืองแร่ ครม.มีมติ 2 ครั้งแต่เรื่องเงียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “นายกมาโนช” หอบหลักฐาน ยื่น สว. ขอให้รัฐฯ ทำตามมติ ครม. ขายคืนที่ กว่า 700 ไร่ ให้ชาวบ้าน หลังถูกรัฐบังคับซื้อให้ต่างชาติทำเหมืองแร่ แต่เรื่องกลับเงียบ ต่อสู้กันมา 40 ปียังไม่ได้รับความเป็นธรรม


นายมาโนช พันธ์ฉลาด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล เปิดเผย ว่า เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา ตนซึ่งในฐานะผู้นำท้องถิ่น และ ตัวแทนชาวบ้าน ในพื้นที่ หมู่ 2 หมู่ 3 และ หมู่ 5 บ้านบางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต บางส่วน ซึ่งได้รับความเดือดร้อน จากกรณีที่รัฐได้บังคับซื้อที่ดิน ของชาวบ้าน จำนวน 704 ไร่ 3 งาน จากประชาชนกว่า 1,000 ครัวเรือน ตั้งแต่ปี 2463 เพื่อนำไปให้บริษัทต่างชาติสัมปทานทำเหมืองแร่ ซึ่งในขณะนั้นมีการระบุว่า หลังที่เหมืองแร่หมดสัมปทาน และมีการส่งคืนที่ดินกลับมาให้รัฐ และรัฐจะต้องขายคืนกลับมาให้ชาวบ้าน แต่จนถึงขณะนี้ที่ดินแปลงดังกล่าวยังไม่ได้กลับถึงมือของชาวบ้านเลย

ตน จึงได้นำหลักฐานเอกสาร ยื่นต่อ สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ตามโครงการ สว.พบประชาชน กลุ่มภาคใต้ (ตอนบน) เปิดเวทีรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชาวภูเก็ต เพื่อให้ทาง คณะ สว. ที่ลงพื้นที่ นำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเข้าสู่การพิจารณาของสภา และ เรียกร้องให้ทางหน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามมติ ครม. ที่ออกมาแล้ว 2 ครั้ง ให้รัฐขายคืนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับประชาชน


สำหรับที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินเลขที่ ภก.263 พื้นที่ 704 ไร่ 3 งาน เดิมมีเอกสารสิทธิ์โฉนด จำนวน 202 แปลง ครอบคลุมพื้นที่ หมู่ 2 ประมาณ 60 % หมู่ที่ 3 และ หมู่ที่ 5 บางส่วน แต่เมื่อพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มีผลบังคับใช้ และ สิทธิการสัมปทานที่ดินแปลงนี้สิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2520 ทางจังหวัดจึงได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนที่ดินแปลงนี้เป็นที่ราชพัสดุ ประเภททรัพย์สินของแผ่นดิน เมื่อปี พ.ศ. 2524 ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 จังหวัดมีแผนดำเนินการรังวัดพื้นที่ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ซึ่งอยู่อาศัยมาก่อนทราบข่าวและรวมตัวกันประท้วง เรียกร้องสิทธิในดินดังกล่าว จนเรื่องเงียบไป แต่ในส่วนของชาวบ้านยังคงเรียกร้องเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2529 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ขายคืนที่ดินตามข้อตกลงเดิม อย่างไรก็ตาม ภายหลังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมใด ๆ ส่งผลให้ประชาชนยังคงเดินหน้าร้องขอความเป็นธรรมต่อเนื่อ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2543 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอีกครั้ง พร้อมให้ดำเนินการสำรวจและรังวัดพื้นที่อีกครั้ง ซึ่งได้มีการจำแนกผู้ถือครองออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มทายาทของผู้ถือครองเดิม จำนวนประมาณ 300 ราย 2. กลุ่มผู้ครอบครองและอยู่อาศัยต่อเนื่องเกิน 30 ปี จำนวนประมาณ 700 ราย 3. กลุ่มผู้ครอบครองไม่ถึง 30 ปี จำนวนประมาณ 10 ราย ซึ่งอยู่ในข่ายต้องเช่าที่ราชพัสดุ


แต่ปัจจุบันระยะเวลาล่วงเลยมาแล้ว กว่า 25 ปี หลังจากมติครม.ครั้งล่าสุด เรื่องก็ยังไปไม่ถึงใหน ยังไม่มีการดำเนินการขายคืนที่ดินแปลงดังกล่าวให้กับชาวบ้านแต่อย่างใดขณะที่ในส่วนของประชาชนในพื้นที่ยังคงเรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเดิม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและยุติข้อพิพาทที่ดำเนินมายาวนานกว่า 40 ปี ในการลงพื้นที่รับฟังปัญหาของสมาชิกวุฒิสภาในครั้งนี้ ตนจึงได้นำเรื่องและปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเสนอต่อวุฒิสภา เพื่อขอให้ชาวยเหลือชาวบ้าน และผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่สภาอีกครั้ง อย่างไรก็ตามหลังจากรับหนังสื่อทางวุฒิสภารับว่าจะนำเรื่องนี้ไปศึกษาเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น