นราธิวาส - ตรวจพื้นที่ก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส พบวิศวกรเป็นคนในพื้นที่ พักงาน 3 วันช่วงฮารีรายอ หน่วยงานในพื้นที่ไม่ให้รายละเอียด ปัดให้ไปถามกรมท่าอากาศยาน
วันนี้ (2 เม.ย.) ความคืบหน้ากรณีนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เตรียมยกเลิกสัญญาโครงการจ้างก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่และสิ่งก่อสร้างประกอบอื่นๆ พร้อมครุภัณฑ์อำนวยความสะดวก ท่าอากาศยานนราธิวาส วงเงิน 639 ล้านบาท ที่มีผู้รับจ้างคือ กิจการร่วมค้าซีไอเอส ที่ประกอบด้วยบริษัท ไอเอสโอเอนจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ไชน่าเรลเวย์นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่สร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกิดเหตุถล่มลงมาจากแผ่นดินไหวช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากมีแนวโน้มว่าจะผิดสัญญาจ้าง ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น
จากการตรวจสอบของผู้สื่อข่าว โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส ซึ่งการก่อสร้างอยู่ด้านข้างของอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเก่า พบว่า ในวันนี้ไม่ได้มีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด โดยสังเกตได้มีรถเครนรถบรรทุกของโครงการจอดอยู่ภายใน และยังมีอุปกรณ์นั่งร้านไว้สำหรับต่อขึ้นเพื่อก่อสร้างชั้นสูงวางอยู่ เหมือนลักษณะโครงการดังกล่าวยังไม่ได้ทิ้งร้างจากผู้รับเหมาแต่อย่างใด
จากการสอบถาม รปภ.บริเวณโครงการก่อสร้างดังกล่าว ทราบว่า โครงการดังกล่าวได้หยุดงานตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. 68 ถึงปัจจุบันเป็นเวลา 3 วัน เนื่องจากวิศวกรคุมงานเป็นคนมุสลิมในพื้นที่ จึงขอหยุดงานในช่วงเทศกาลวันฮารีรายอของชาวไทยมุสลิม ที่ปัจจุบันมีคนงานก่อสร้างเป็นชาวพม่าประมาณ 60 คน และจากการติดต่อของ รปภ.ไปยังวิศวกร เพื่อขออนุญาตให้สื่อได้เข้าไปถ่ายภาพการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว ทราบว่า วิศวกรไม่ได้อยู่ในพื้นที่ได้ขึ้นไปทำธุระที่กรุงเทพมหานคร
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อสอบถามและประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของโครงการกอ่สร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนราธิวาส ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแจ้งว่า ถ้าต้องการทราบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ต้องไปสอบถามทางกรมท่าอากาศยานกรุงเทพฯ เท่านั้น
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่ากาศยานนราธิวาสแห่งนี้ ผู้ตรวจราชการสำนักงาน ป.ป.ช.ได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนราธิวาสประสานข้อมูลกับท่าอากาศยานนราธิวาส ในประเด็นที่ได้มีการตั้งข้อสังเกตไว้ สำหรับโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ และสิ่งก่อสร้างประกอบอื่นๆ พร้อมครุภัณฑ์อำนวยความสะดวกท่าอากาศยานนราธิวาส ทางกรมท่าอากาศยาน กระทรวงคมนาคม ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ปี 2563 ถึง 2565 จำนวน 800 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการฯ โดยกิจการร่วมค้า ซีไอเอส เป็นผู้รับจ้าง ตามสัญญาเลขที่ 63/2565 เริ่มสัญญา 16 มีนาคม 2565 สิ้นสุดสัญญา 29 พฤศจิกายน 2567 ระยะเวลาในสัญญาคงเหลือ 101 วัน มีการแจ้งหนังสือเร่งรัดความก้าวหน้างานก่อสร้าง จำนวน 13 ฉบับ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่มีวงเงินงบประมาณสูง และเกรงว่าจะก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เนื่องจากพบปัญหาอุปสรรคหลายประการ
กอปรกับจะมีการขอขยายระยะเวลา สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนราธิวาสจึงได้เข้ามาให้คำแนะนำและข้อสังเกตในประเด็นต่างๆ เพื่อหาแนวทางดำเนินโครงการให้ประสบความสำเร็จ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการและประชาชน รวมถึงป้องปรามการทุจริต
โครงการดังกล่าวเริ่มทำสัญญาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 สิ้นสุดสัญญาเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 ซึ่งในช่วงปลายปี 2567 ได้เกิดอุทกภัยในพื้นที่ จ.นราธิวาส ทำให้ได้รับการขยายอายุสัญญา โดยผลงานของโครงการในเดือน ก.พ. 2568 มีความคืบหน้าเพียง 0.64% ส่งผลให้ภาพรวมของโครงการล่าช้า 61.27% มีแนวโน้มว่าผู้รับจ้างไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จตามสัญญา
ทั้งนี้ กรมท่าอากาศยานได้เชิญผู้รับจ้างเข้าประชุมเร่งรัดงานเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2568 และมีเงื่อนไขว่า หากภายใน 2 เดือน โครงการไม่คืบหน้าเดือนละ 5% กรมท่าอากาศยานจะยกเลิกสัญญา และแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงาน เนื่องจากผิดสัญญาจ้างตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ปัจจุบันอยู่ในช่วงติดตามผลการเร่งรัด ซึ่งผู้รับจ้างทำผลงานเดือนที่ 1 (มี.ค. 2568) พบว่าได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาก มีความคืบหน้าเพียง 0.51% ส่งผลให้ภาพรวมโครงการคืบหน้าเพียง 39.24% ล่าช้ากว่าแผน 60.76% หรือล่าช้ากว่า 631 วัน กรมท่าอากาศยานได้ส่งจดหมายเตือน และติดตามผลงานในเดือนที่ 2 (เม.ย.2568) ต่อไป หากผู้รับจ้างไม่สามารถเร่งรัดงานได้ตามที่กำหนด แสดงว่าผู้รับจ้างไม่มีความสามารถที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จตามสัญญาได้ กรมท่าอากาศยานจะยกเลิกสัญญา และแจ้งชื่อเป็นผู้ทิ้งงานจะทำให้ไม่สามารถรับงานกับหน่วยงานรัฐได้อีก
นอกจากนี้ นางมนพรได้มอบหมายให้กรมท่าอากาศยานแจ้งที่ปรึกษาควบคุมงานตรวจสอบมาตรฐานการก่อสร้าง มาตรฐานวัสดุ อุปกรณ์ในการก่อสร้างของผู้รับเหมา ที่ได้ดำเนินการมาแล้วทั้งระบบอย่างละเอียด และให้รายงานทราบภายใน 3 วัน หากพบสิ่งผิดปกติให้รายงานและแก้ไขโดยเร่งด่วนด้วย และยืนยันว่า กระทรวงคมนาคมได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการก่อสร้าง โดยเฉพาะในเรื่องวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างจะต้องได้มาตรฐานตามแบบแผนที่กำหนด รวมถึงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและผ่านตรวจเช็คจากวิศวกรผู้ควบคุมงานอย่างใกล้ชิดนั้น