ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ผู้ประกอบภูเก็ต ขอนายก “อิ๊งค์” สนับสนุนวิตามิน B ช่วย มังกรภูเก็ต กลับมาผงาดในทะเลอันดามัน หลังป่วยเพราะปัญหารุมเร้า ในโอกาส เป็นประธานเปิดงาน “Thailand Sustainable Tourism Conference 2025” ครั้งที่ 1
วันนี้ (28 มี.ค.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ประธานเปิดงาน Thailand Sustainable Tourism Conference 2025 ครั้งที่ 1 (TSTC 2025) และ กล่าวปาฐกพิเศษในหัวข้อ “ซอฟพาวเวอร์ : กลไกการสร้างความยั่งยืนให้การท่องเที่ยวไทย ซึ่ง มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28-29 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์ประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต โดยมี ดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
เพื่อสร้างเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย ในภาคการท่องเที่ยว สนับสนุนการพัฒนาและนำนโยบายการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวพบปะคู่ค้าทางธุรกิจที่นำเสนอสินค้าและบริการด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม และ ส่งเสริมงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนผ่านการประชุมวิชาการ
อย่างไรก็ตาม นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน กล่าวว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวของไทยอยู่ในกับดัก ที่อาจจะไม่สามารถไปต่อได้ สิ่งที่ทำให้เราเติบโตมาในอดีตอาจจะไม่สามารถทำให้เราไปต่อในได้ปัจจุบันและอนาคต และหลายประเทศก็อยากที่จะได้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวในประเทศเขาเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่จะทำให้การท่องเที่ยวไทยไปต่อได้คือ เรื่องของซอร์ฟพาวเวอร์ สำหรับในส่วนของจังหวัดภูเก็ตการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ผ่านมา ภูเก็ตทำมาหลายเรื่องซึ่ง ภูเก็ตเปรียบเสมือนมังกรทอง แต่ที่ผ่านมาเราเจอวิกฤติมากมาย แต่เราก็สามารถผ่านมาได้ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
แต่ปัจจุบัน มังกรทอง ตัวนี้กำลังป่วย จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาปัญหาขยะที่กำลังล้นเกาะ ปัญหาเรื่องน้ำเสียที่กำลังเกิดขึ้น รวมทั้งปัญหาการจราจร และเราเชื่อว่าถ้ามังกรตัวนี้ได้รับวิตามิน B เข้ามาเสริม จะทำให้มังกรตัวนี้กลับมาผงาดในทะเลอันดามันอีกครั้ง ซึ่งวิตามิน B ก็คือ Budgeting และ วันนี้ภูเก็ตอยากขอวิตามิน B จากท่านนายกรัฐมนตรี เผื่อให้มังกรตัวนี้กลับมาผงาดในอันดามันอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามในส่วนของวิตามิน B ที่เราจะขอ นั้นตนก็เข้าใจว่ารัฐบาลต้องใช้ในการดูแลหลายจังหวัด แต่สิ่งที่เราอยากขอวันนี้ คือ เราขอเป็นเหาฉลาม ของ กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเรามี ฉลามที่ ชื่อ “สรวงศ์ เทียนทอง” ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มีแนวคิดที่จะเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยว เพราะฉะนั้นภูเก็ตขอเป็นเหาฉลาม โดยขอเด็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวที่เข้าภูเก็ต หัวละ 150 บาท เพื่อนำมาเป็นวิตามิน B ให้กับมังกรตัวนี้ได้ฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง ซึ่งดูจากตัวเลข นักท่องเที่ยวที่บินตรงเข้าภูเก็ตปี 5.5 ล้านคน เราจะได้วิตามิน B เข้าภูเก็ตปีละ 800 ล้านบาท เงินอาจจะไม่เยอะแต่มากพอที่จะทำให้มังกรตัวนี้กลับฟื้นตัวมาอีกครั้งและทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน
นายภูมิกิตติ์ กล่าวต่อไปว่า การจะทำให้การท่องเที่ยวเดินต่อไปได้ จะต้องทำ 2 เรื่อง คือ ซอฟต์พาวเวอร์ และ Sustainality ที่จะทำให้การท่องเที่ยวของไทยอยู่ต่อบนแผ่นที่ท่องเที่ยวโลกได้ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ใช่ภูเก็ตแล้วจะเป็นใคร และถ้านายกไม่ให้วิตามินB ตอนนี้แล้วจะไปให้ตอนใหน
ขณะที่น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องวิตามิน B ที่ภาคเอกชนเสนอเพื่อเป็นวิตตามินเสริมให้กับจังหวัดภูเก็ต นั้นเรื่องนี้มีความพยายามในการที่จะสนับสนุนและจัดหางบประมาณอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่ลงมาภูเก็ต ก็พยายามอย่างเต็มที่ ส่วนการประชุมในครั้งนี้ เป็นการจัดในรูปแบบของความยั่งยืน (Sustainability) สอดคล้องกับทั่วโลกที่เน้นเรื่อง Green อาทิ Green Energy ซึ่งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติทุกวัน มีความเสื่อมโทรม จำเป็นต้องหาทางฟื้นฟูกลับด้วย เพื่อที่ให้เกิดความสมดุล ให้รู้สึกว่าเมื่อใช้ไปแล้ว ก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด
“มนุษย์ 1 คนผลิตขยะคนละกิโลกว่าต่อต่อวัน ขยะต่อวันจึงค่อนข้างเยอะมาก และ จังหวัดภูเก็ตก็มีปัญหาเรื่องขยะและน้ำเสีย เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล และแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยจะต้องเปลี่ยนจากขยะกองโตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องสร้างความสมดุลระหว่างการท่องเที่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทำให้สังคมและประชาชนรับรู้ว่าการที่จะทำให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ต้องทำอย่างไร ซึ่งเราต้องทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างเพิ่มมากขึ้นด้วย”
นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวแสดงความยินดีที่จังหวัดภูเก็ตได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพการประชุมการท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (GSTC - Global Sustainable Tourism Conference) ในปี 2026 โดยที่ผ่านมาประเทศไทย ได้รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในหลาย ๆ อีเว้นท์ สะท้อนให้เห็นศักยภาพและความเชื่อมั่นของประเทศไทยเริ่มกลับมาอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ประกาศว่าประเทศไทยมีการลงทุนจากต่างชาติสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยจะเห็นได้ว่าต่างชาติในกลุ่ม Luxury หรือ Ultra Luxury ให้ความสนใจประเทศไทยมากขึ้น นำมาสู่คำถามที่ว่าบุคลากรในประเทศมีความพร้อมที่จะรองรับกลุ่มลูกค้ามากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นที่ต้องเตรียมความพร้อมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย นอกจากนี้ Spending per Head ของนักท่องเที่ยวที่มาภูเก็ตมีแนวโน้มสูงขึ้น รัฐบาลจึงต้องการสนับสนุนและรองรับการเติบโตนี้
ทั้งนี้ การเดินทางมาตรวจราชการที่ จังหวัดภูเก็ตที่ผ่านมา ได้มีการหารือเกี่ยวกับเรื่อง ท่าเรือยอชท์ แล ะการบำรุงรักษา (Maintenance) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการท่องเที่ยว และต้องการเป็น Facilitator ให้กับภาคเอกชน เนื่องจากภาครัฐเป็นองค์กรขนาดใหญ่ อาจไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในทุกมิติ ในขณะที่ภาคเอกชนมีความรู้ความเข้าใจและประสบการณ์ตรง จึงเป็นเหตุผลในการจัดตั้ง “อนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์” ขึ้น เพื่อให้ภาคเอกชนช่วยแสดงความคิดเห็น วางแผน และมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าอาเซียน ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลต้องคำนึงถึงการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า วันนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับภาคเอกชน หากมีข้อเสนอแนะ รัฐบาลยินดีรับฟัง เพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการพัฒนานโยบายที่เหมาะสม การท่องเที่ยวไม่สามารถจะเดินทางคนเดียวโดยรัฐได้ จำเป็นต้องอาศัยภาคเอกชน ภาคประชาชนร่วมมือกันในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศให้ครบทุกมิติ เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ครบจบแก่นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ทุกจังหวัด โดยรัฐบาลมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ “เที่ยวได้ตลอดทั้งปี” ไม่ใช่แค่ช่วง High Season เท่านั้น เพราะหาก สามารถกระจายการท่องเที่ยวตลอดปีได้ อัตราค่าห้องพัก (Room Rate) ก็จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
จากนั้นนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมนิทรรศการและบูธกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของจังหวัดภูเก็ต โดยนายกรัฐมนตรีได้สอบถามแนวคิด พร้อมพูดคุยให้กำลังผู้ประกอบการ เช่น บูธโครงการสร้างฝัน สร้างอาชีพ ยาหยีแบรนด์ ของคนภูเก็ต โดยคนภูเก็ตเพื่อคนภูเก็ต ร่วมกับโรตารีเหมืองแร่ภูเก็ต ซึ่งเป็นการต่อยอดเรื่องราววัฒนธรรมของคนภูเก็ต โดยการนำเศษผ้ามาออกแบบและตัดเย็บจากฝีมือคนในชุมชนภูเก็ต สู่การสร้างอาชีพจากเศษผ้า สู่สินค้าฝีมือผู้ต้องขังหญิงเรือนจำจังหวัดภูเก็ต ที่สร้างสรรค์ และสร้างอาชีพอย่างยั่งยืนให้กับผู้ต้องขัง อีกทั้งยังลดเศษขยะจากเศษเหลือใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอตามเป้าหมาย โครงการ Zero Waste ของยาหยี
และในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ นายกรัฐนตรี จะประชุมติดตามการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน จากส่วนกลางและภูเก็ต ณ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ตภูเก็ตพร้อมจัดงาน Thailand Sustainable Tourism Conference 2025 ครั้งที่ 1 เผยเป็นงานสัมมนาระดับนานาชาติที่มุ่งเน้นพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย