xs
xsm
sm
md
lg

ภูเก็ตพร้อมจัดงาน Thailand Sustainable Tourism Conference 2025 สร้างเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเตรียมเป็นเจ้าภาพ GSTC ในปี 2026

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวภูเก็ต - มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน ผนึกกำลังภาครัฐ-เอกชน จัดงาน Thailand Sustainable Tourism Conference 2025 สร้างเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รวมถึงสร้างการรับรู้เจ้าภาพจัดงาน Global Sustainable Tourism Conference (GSTC) ในปี 2569



นายสมาวิษฎ์ สุพรรณไพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายชลำ อรรถธรรม รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และนายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน และรองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าวการจัดงาน Thailand Sustainable Tourism Conference 2025 ครั้งที่ 1 (TSTC 2025) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นวันที่ 28-29 มีนาคม 2568 ณ ศูนย์ประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด (PKCD)

สำหรับงานดังกล่าวซึ่งเป็นงานสัมมนาระดับนานาชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการสัมมนาและกล่าวปาฐกพิเศษในหัวข้อ ซอฟต์เพาเวอร์ : กลไกการสร้างความยั่งยืนให้การท่องเที่ยวไทย พร้อมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในวงการท่องเที่ยวยั่งยืนจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ แนวปฏิบัติที่ดี และสร้างความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน


นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน
นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม ประธานมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน กล่าวว่า จากการที่จังหวัดภูเก็ต ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Global Sustainable Tourism Conference (GSTC) ในปี 2026 ภายใต้การทำงานและการสนับสนุนของมูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ปีนี้ จังหวัดภูเก็ตจะเดินทางไปรับธงเป็นเจ้าภาพการจัดงาน GSTC 2025 ที่ประเทศ Fiji ดังนั้น เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับแนวทางการท่องเที่ยวยั่งยืน จึงกำหนดจัดงาน Thailand Sustainable Tourism Conference 2025 ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสามารถพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบทางลบจากการท่องเที่ยว และเพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้ TSTC 2025 ยังมีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว ผ่านการนำเสนอแนวทางการปรับตัว การพัฒนารูปแบบการบริหารธุรกิจที่ยั่งยืน และการเชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การพัฒนาแนวทางเหล่านี้จะช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ 


“ปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ได้เพิ่มแรงกดดันให้ภาคการท่องเที่ยวในการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน นักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการเลือกจุดหมายปลายทางที่มีมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางสากล เช่น การลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของธุรกิจ การใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และการพัฒนาโครงการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงชุมชน” ประธานมูลนิธิพัฒนาท่องเที่ยวยั่งยืน กล่าวและว่า

นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ องค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) และสหภาพยุโรป กำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดมากขึ้นเกี่ยวกับแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน เช่น การรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยต้องปรับตัวและดำเนินการตามมาตรฐานที่สูงขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก การจัดงานนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และแนวปฏิบัติที่จำเป็นต่อการรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีการท่องเที่ยวนานาชาติ และเป็นการเตรียมความพร้อมของจังหวัดภูเก็ตในการจัดงาน Global Sustainable Tourism Conference ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน 2569


สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดสัมมนา ประกอบด้วย เพื่อสร้างเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในภาคการท่องเที่ยว สนับสนุนการพัฒนาและนำนโยบายการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวพบปะคู่ค้าทางธุรกิจที่นำเสนอสินค้าและบริการด้านความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนผ่านการประชุมวิชาการ

โดยงานดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การสัมมนา (Conference) การบรรยายและเสวนาโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่า 20 ท่าน 2.การออกบูทนิทรรศการและการจับคู่ธุรกิจ : พื้นที่จัดแสดงนวัตกรรมและแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนของธุรกิจท่องเที่ยว พร้อมโอกาสในการจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการโดยมีผู้ประกอบการนำเสนอสินค้าและบริการไม่น้อยกว่า 30 ราย และผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการและการจับคู่ธุรกิจเป็นผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 200 ราย และ 3.การทำ Workshop โดยมีการจัด Workshop ในเรื่องต่างๆ เช่น MICE Sustainability การปลูกต้นไม้เพื่อการได้ Carbon Credit และการเปลี่ยนขยะเป็นรายได้ โดยผู้เข้าร่วม workshop จะได้ประกาศนียบัตร


สำหรับผู้เข้าร่วมงานจะได้รับการพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในประเทศไทย การเชื่อมโยง และสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ การกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นผ่านการจัดงานประชุมและนิทรรศการ การสนับสนุนธุรกิจที่มีแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย และได้นำเสนอภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนของประเทศไทยสู่การท่องเที่ยวโลก และยังได้รับสิทธิส่วนลดจากผู้ร่วมออกนิทรรศการ

สนับสนุนการจัดงานโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (TCEB) องค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต และบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่มูลนิธิพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืน โทร.0-7661-0365-6 E-mail : phuketstdfinfo@gmail.com




กำลังโหลดความคิดเห็น