ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ส.ว.ไชยยงค์เป็นห่วงเจ้าหน้าที่รัฐตกเป็นเป้า “สไนเปอร์ บีอาร์เอ็น” จี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเร่งหาแผนป้องกัน "คาร์บอมบ์" ใน 15 วันสุดท้ายเดือนรอมฎอน จี้กรมการปกครองตรวจสอบเรียกรับเงินบรรจุ อส.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้หัวละ 150,000 บาท
วันนี้ (17 มี.ค.) นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ถูกพลแม่นปืนสไนเปอร์ของกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นซุ่มยิงได้รับบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตไปแล้ว 5 รายด้วยกัน โดยล่าสุด คือ ร.ท.ภูวิวัฒน์ คำสง ผบ.มว.ปล. ขณะปฏิบัติหน้าที่ที่ฐานปฏิบัติการจาเต๊ะ ต.เขื่อนบางบาล อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหาก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าไม่มีการป้องกันและแก้ปัญหา จะเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูง เช่น ผู้บังคับหน่วย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และ ข้าราชการระดับหัวหน้าส่วน ที่ต้องลงพื้นที่ไปปิดเปิดงานต่างๆ เช่น การแข่งขันกีฬา การแข่งขันนกเขา และอื่นๆ ที่จะต้องมีแผนในการระวังป้องกัน และขอเรียกร้องให้ใช้โดรนเข้ามาร่วมปฏิบัติการในการลาดตระเวนเส้นทางหมู่บ้านของทหารและชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) เพื่อป้องกันความสูญเสีย
โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 16 มีนาคม แหล่งข่าวจาก "นารายณ์ 102" รายงานว่า พบความเคลื่อนไหวของนายอับดุลมาน๊ะ อูเซ็ง ซึ่งเป็นมือปฏิบัติการก่อวินาศกรรมของบีอาร์เอ็น นำระเบิดแสวงเครื่องเข้ามาในพื้นที่ จ.นราธิวาสจำนวนหนึ่ง เพื่อใช้ในการก่อวินาศกรรมด้วยการทำคาร์บอมบ์และระเบิดแสวงเครื่องแบบเตารีด เป้าหมายคือ สถานบันเทิง สถานที่ราชการ และฐานปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่อ่อนแอในห้วงเวลา 15 วันก่อนสิ้นสุดเดือนรอมฎอน
นายไชยยงค์ กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ยังไม่ลดลง มีเหตุความสูญเสียเกิดขึ้นทุกวัน มีทั้งการวางระเบิดชุดคุ้มครองครู ที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และการวางระเบิดกำลังของทหารนาวิกโยธิน ที่ อ.เมือง จ.ปัตตานี สองวันซ้อน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความวิตกกังวลให้แก่ประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง และเห็นได้ชัดว่าการป้องกันเหตุของเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายยังไม่ได้ผล แม้ว่า พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 และ ผอ.รมน.ภาค 4 จะเรียกประชุมเจ้าหน้าที่สามฝ่าย เพื่อให้บูรณาการการป้องกันเหตุ และมีการส่งกำลังหน่วยปฏิบัติการพิเศษลงไปในพื้นที่ จ.นราธิวาสแล้วก็ตาม
อีกเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องของการรับสมัครบุคคลภายนอกเข้าไปเป็นอาสารักษาดินแดน หรือ อส.ประจำอำเภอและจังหวัด ที่มีข่าวอื้อฉาวมาโดยตลอดว่า การรับสมัคร อส.ของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีขบวนการเรียกรับเงินหัวละ 120,000-150,000 บาท เนื่องจากมีบุคคลที่ว่างงานต้องการเป็น อส.เป็นจำนวนมาก มีการวิ่งเต้น นำที่ดินไปจำนองจำนำ และหยิบยืนเงินกู้มาเพื่อให้ในการบรรจุเป็น อส. นี่อาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ อส.ที่เข้ามาทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยไม่มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่เท่าที่ควร ที่สำคัญ ขบวนการหาเงินจากการบรรจุบุคคลเข้าเป็น อส. เป็นเรื่องของการหากินบนความตายของเจ้าหน้าที่ จึงอยากให้กรมการปกครอง หรือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย เร่งสอบสวนข้อเท็จจริงของเรื่องการเรียกเงินจากการเป็น อส. ในครั้งนี้