นครศรีธรรมราช - เปิดไอเดียสุดบรรเจิด รักษ์สิ่งแวดล้อม นำหางประทัดแก้บนไอ้ไข่ผลิตกระเป๋า สร้างความหมายดีๆ ผ่านวัสดุมีที่มาจากความสำเร็จนับพันล้าน จากความศรัทธา ความเชื่อ สร้างเศรษฐกิจจากฐานราก เป็นวิธีคิดจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ส่งต่อไปยังกลุ่มชาวบ้านนำวัสดุที่ถูกทิ้งไร้ประโยชน์ผ่านจากความสำเร็จ สู่กระเป๋ามูลค่านับพันล้านต่อใบ
ที่วิสาหกิจชุมชนคนรักสิ่งแวดล้อม บ้านเขาทราย ต.เปลี่ยน อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำโครงการวิจัยการจัดการทุนทางวัฒนธรรมฐานความเชื่อโดยรอบสันทรายโบราณเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช โดยการอุดหนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เข้าร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วัดเจดีย์ หรือที่รู้จักในชื่อวัดไอ้ไข่ นำเอาวัสดุที่แต่เดิมนั้นเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีที่มาจากการแก้บนจากความสำเร็จของผู้คนที่มีความศรัทธาต่อไอ้ไข่วัดเจดีย์ เมื่อมีความสำเร็จตามการบนบานแล้วได้หลั่งไหลมาประกอบพิธีแก้บนด้วยการจุดประทัด สิ่งที่เหลือจากการจุดประทัดคือหางประทัดเป็นเครื่องหมายแห่งความสำเร็จที่ถูกทิ้งกลายเป็นขยะจำนวนมากเป็นภาระการจัดการของวัด
ล่าสุด ปัญหานี้กำลังจบลง หางประทัดจำนวนมากกำลังนำมาถูกให้ความหมายจากที่มาของความสำเร็จของผู้คนที่มีความศรัทธา กลายเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่านับพันล้าน แต่มีราคาจำหน่ายแค่หลักพันบาท เนื่องจากทุกคนที่มาจุดประทัดแก้บนมีความหลากหลาย ส่วนใหญ่มีความสำเร็จต่อการแก้บนมูลค่าหลายล้านบาท เช่น ความสำเร็จทางธุรกิจ การซื้อขายที่ดิน โชคลาภ หางประทัดจากความสำเร็จถูกนำมาเป็นกระเป๋าสมัยใหม่จากฝีมือชาวบ้านสมาชิกในชุมชนร่วมกันผลิตออกมาได้อย่างสวยงาม แปลกใหม่ไม่เหมือนที่ไหน
สุพรรณา แก้วเถื่อน ประธานวิสาหกิจชุมชนคนรักสิ่งแวดล้อมบ้านเขาทราย ระบุว่า แต่เดิมชาวบ้านกังวลว่าการไปนำเอาหางประทัดเหล่านี้หรือสิ่งที่ของเหลือใช้ในวัดมานอกวัด ไอ้ไข่จะหวงแต่มีผู้นำท้องถิ่น และวัดเจดีย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้นำองค์ความรู้วิธีคิดใหม่ๆ การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นกระเป๋าจากหางประทัดจึงเป็นสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจ สร้างคุณค่า สร้างความหมายจากที่มาได้อย่างน่าทึ่งและเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ไปครอบครอง
“กระเป๋า 1 ใบใช้หางประทัด 999 ชิ้น แต่ละชิ้นมีความสำเร็จมาแล้วทั้งหมด หากไม่สำเร็จไม่มีใครมาแก้บนแน่หากตีเป็นมูลค่าต่อชิ้น มีความสำเร็จในระดับหลักล้าน 999 ชิ้นมากกว่าพันล้านแน่ หรืออาจหลายพันหรือเป็นหมื่นล้านก็เป็นได้ ความหมายจากความสำเร็จเหล่านั้นมาเป็นกระเป๋าให้ทุกคนที่ครอบครองมีกำลังใจ”
ขณะที่รองศาสตราจารย์ปรัชญา กฤษณะพันธ์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ สาขาการออกแบบภายใน ม.วลัยลักษณ์ ระบุว่าการวิจัยการจัดการทุนทางวัฒนธรรม ได้รับการอุดหนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อนำไปสู่การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจของชุมชนผ่านความเชื่อ ความศรัทธา วัฒนธรรมของท้องถิ่น หางประทัดที่อยู่ในวัดแต่เดิมถูกทิ้ง เราจึงนำความสำเร็จของผู้คนมาสร้างมูลค่าเพิ่ม เราจึงเข้าทำการงานกับชุมชน แต่เดิมมีการใช้พลาสติก เราจึงเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนจึงกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ
“สิ่งแรกคือทำให้เห็นภาพให้เกิดขึ้นจริงการสร้างกระเป๋าไม่ได้มีมูลค่าอะไรจากหางประทัด หางประทัดที่ถูกจุดแล้วอาจมีค่าแค่กิโลกรัมละ 10 บาท แต่เมื่อมาสร้างเป็นมูลค่าตามความหมายแต่เดิมคือความสำเร็จแต่ละชิ้นมารวมกันเป็นพันล้านหมื่นล้าน หลายร้อยชิ้นมารวมเป็นกระเป๋า 1 ใบ ความหมายเหล่านั้นจึงเป็นส่วนส่งเสริมมูลค่าเดิมให้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวี แต่มีราคาซื้อขายจากฝีมือชาวบ้านแค่หลักพันบาท” ทีมนักวิจัยรายนี้กล่าว