ตรัง - รมช.คมนาคม ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง หลังถูกปล่อยทิ้งร้างมาหลายเดือน คาดจะสร้างเสร็จและเปิดใช้เป็นทางการ ต.ค.นี้
วันนี้ (7 มี.ค.) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ได้เดินทางมาท่าอากาศยานตรัง เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว หลังจากที่มีการทิ้งงานมานานหลายเดือน และมีการร้องเรียนไปยังหลายภาคส่วนให้เร่งรีบทำการแก้ไขปัญหา โดยมี ส.ส.ตรังร่วมให้การต้อนรับ เช่น น.ส.สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ นายกาญจน์ ตั้งปอง
ก่อนที่คณะจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือในเรื่องนี้ที่ท่าอากาศยานตรัง ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วเดินทางเดินทางไปสถานที่ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานนานาชาติตรังหลังใหม่ เพื่อตรวจสอบสภาพต่างๆ ล่าสุด โดยพบว่า โครงสร้างบางส่วนเริ่มเกิดการชำรุดเสียหายแล้ว เช่น มีฝ้าเพดานทรุดตัว มีต้นไม้ตาย
นางมนพร กล่าวว่า โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง ได้แล้วเสร็จไปประมาณ 98% แล้ว ก่อนที่จะเกิดปัญหาผู้รับเหมาทิ้งงาน ซึ่งล่าสุดได้ยกเลิกสัญญาเดิม และจะเร่งจัดหาผู้รับเหมารายใหม่ให้ได้ในเดือนมีนาคมนี้ เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารในส่วนที่เหลืออีกแค่ 2% ให้แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 ด้วยงบประมาณ 34 ล้านบาท
“คาดว่าจะเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ในส่วนของการให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศ ในเดือนพฤษภาคม 2568 และทุกอย่างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ทั้งส่วนให้บริการในประเทศ และระหว่างประเทศ ในเดือนตุลาคม 2568 ซึ่งขณะนี้ยังมีเงินประกันของผู้รับเหมารายเดิม 53 ล้านบาท ที่ได้ริบเอาไว้เพื่อใช้จ่ายในด้านต่างๆ อีก จึงมั่นใจว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้นด้วยดีตามกำหนด” รมช.คมนาคม กล่าว
ปัจจุบัน ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง มีผู้ใช้บริการประมาณวันละ 600 คน โดยมีเที่ยวบินเส้นทางภายในประเทศ (ดอนเมือง-ตรัง-ดอนเมือง) เปิดให้บริการ 3 สายการบิน ได้แก่ ไทยแอร์เอเชีย นกแอร์ และไทยไลอ้อนแอร์ รวม 10 เที่ยวบิน/วัน (ไปกลับ) คาดว่า หลังจากโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานนานาชาติตรัง แล้วเสร็จสมบูรณ์ จะมีผู้โดยสารเพิ่มเป็นวันละ 1,000 คน และในอนาคตคงจะมีสายการบิน หรือเที่ยวบินมาให้บริการเพิ่มขึ้นตามความเจริญเติบโต
ส่วนปัญหาเรื่องการเวนคืนพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานที่ยังเหลืออีกบางจุด อันเนื่องมาจากค่าที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้น เกินกว่างบประมาณที่เคยตั้งไว้และจ่ายไปแล้วคือ 800 กว่าล้านบาทนั้น กระทรวงคมนาคมได้ตั้งงบประมาณในปี 2569-2570 ไว้ 600 กว่าล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินการให้เรียบร้อยอีกเช่นกัน