ศูนย์ข่าวภูเก็ต - วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ภูเก็ต ร่วมมือกับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) จัดการแข่งขัน “Durian Hackathon 2025” เพื่อเสริมสร้างความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Computer Vision สำหรับการเกษตรในกลุ่ม Smart Farmer และ Young Smart Farmer
วันนี้ (15 ก.พ.) วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (BDI) จัดการแข่งขัน “Durian Hackathon 2025” ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ห้องประชุมเจ้าฟ้า ชั้น 5 อาคาร 7 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี ม.อ.ภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.อซีส นันทอมรพงศ์ คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ และ ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมธุรกิจและองค์ความรู้ กล่าวเกี่ยวกับสนับสนุนโครงการจากสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ ร่วมกล่าวต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแข่งขัน
การแข่งขันครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและเสริมสร้างความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Computer Vision สำหรับการเกษตร โดยเฉพาะในกลุ่ม Smart Farmer และ Young Smart Farmer ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีศักยภาพในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรม เทคโนโลยี AI และ Computer Vision สามารถช่วยพัฒนาการตรวจจับและแยกแยะวัตถุในภาพ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจที่แม่นยำ และการคาดการณ์โรคพืช นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ทำเกษตรเชิงอุตสาหกรรม
กิจกรรมในการแข่งขัน Durian Hackathon 2025 ครอบคลุมทั้งการอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ รวมถึงการแข่งขัน Hackathon ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ทดลองใช้เทคโนโลยีจริงภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 86 คน จากทั่วประเทศ แบ่งเป็น 21 ทีม ซึ่งประกอบด้วยผู้ที่สนใจในเทคโนโลยี AI และการประยุกต์ใช้ในภาคเกษตรกรรม
การแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรกรรมของไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้ในยุคดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการนำ AI มาต่อยอดในการบริหารจัดการภาคเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อซีส นันทอมรพงศ์ คณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ ม.อ.ภูเก็ต กล่าวว่า ภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายสำคัญจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรง ทั้งทั้งภัยแล้งและพายุฝนที่ไปตามฤดูกาล การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และการประมวลผลภาพมาประยุกต์ใช้จึงเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เกษตรกรไทย เทคโนโลยีเหล่านี้ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพในการยกระดับภาคเกษตรสู่ยุคดิจิทัล ผ่านการประยุกต์ใช้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบตรวจจับและจำแนกวัตถุ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ และการคาดการณ์โรคพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่พร้อมเรียนรู้และปรับตัวสู่การเกษตรสมัยใหม่
โครงการ Durian Hackathon 2025 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ จึงเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเกษตรรุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการและการแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ โดยมีผู้เข้าร่วมที่มีความมุ่งมั่นถึง 89 คน จาก 21 ทีม ความร่วมมือครั้งสำคัญนี้เกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนจากสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ในภาคการเกษตร การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ครั้งนี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรมไทยสู่ความยั่งยืน และเชื่อมั่นว่าการแข่งขันครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สู่ภาคเกษตรกรรมไทย และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในอนาคต
ขณะที่ ดร.สุนทรีย์ ส่งเสริม รองผู้อำนวยการสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมธุรกิจและองค์ความรู้ กล่าวว่า สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้าน ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคการเกษตร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย การนำเทคโนโลยี AI และ Computer Vision มาใช้ในภาคเกษตรจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน แก้ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมและโรคพืช รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกร
โครงการ Durian Hackathon 2025 เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้ Smart Farmer, Young Smart Farmer นักศึกษา และผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติ และพัฒนาโซลูชันนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ทาง BDI เล็งเห็นถึงศักยภาพของโครงการนี้ จึงได้ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณและทรัพยากร เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อภาคเกษตรกรรมไทยในอนาคต