xs
xsm
sm
md
lg

นักธรณีวิทยาทึ่ง! ขุดพบซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนา” ในถ้ำที่กระบี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระบี่ - ทึ่ง! นักธรณีวิทยาพบซากดึกดำบรรพ์ “ไฮยีนา” “อุรังอุตัง” “กวางป่า” และอื่นๆ อีกหลากหลายชนิดในถ้ำที่กระบี่ ซึ่งเคยเป็น “ทุ่งหญ้าสะวันนา” เก็บหลักฐานไปตรวจพิสูจน์หาค่าอายุที่แท้จริง เตรียมสำรวจวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ




เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทีมนักธรณีวิทยา ร่วมกับชมรมคนรักถ้ำกระบี่ ขุดค้นสำรวจภายในถ้ำโต๊ะช่อง บ้านช่องพลี ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่ ซึ่งเคยสำรวจพบมาก่อนหน้านี้ เพื่อสำรวจใหม่อีกครั้ง ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นพบซากดึกดำบรรพ์ ฟอสซิล ฟัน กราม กระดูก สัตว์หลายชนิดอยู่ตามผนังถ้ำ พื้นถ้ำ เช่น ไฮยีนา อุรังอุตัง กวางป่า กวาง เม่น หมู วัว เป็นจำนวนมากมาก และที่ยังไม่ชัดเจนต้องนำไปล้างทำความสะอาด ดูรายละเอียดว่าเป็นฟันอะไรอีกจำนวนหนึ่ง ในเบื้องต้นเก็บหลักฐานไปตรวจพิสูจน์หาค่าอายุที่แท้จริงต่อไป พร้อมทั้งเตรียมสำรวจวิจัยอย่างเต็มรูปแบบ


ผศ.ดร.กันตภณ เปิดเผยว่า จากการคาดคะเนอายุเบื้องต้น น่าจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ปลายของสมัยไพลสโตซีนตอนล่าง ไปจนถึงช่วงต้นของสมัยไพลสโตซีนตอนปลาย หรือ ประมาณสองแสนถึงแปดหมื่นปี ที่ผ่านมา การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไฮยีนาลายจุด ถือเป็นหลักฐานสำคัญของการกระจายตัวของไฮยีนาลายจุดลงมาทางตอนใต้สุดเท่าที่เคยพบมาในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการศึกษาสภาพแวดล้อมในอดีตจะช่วยให้เราเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและอนาคต เรียนรู้ข้อจำกัดของธรรมชาติซึ่งจะช่วยอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเข้าใจ


ที่ผ่านมา ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาไอโซโทปเสถียรของธาตุคาร์บอน และศึกษาไอโซโทป ของออกซิเจนจากเคลือบฟันของซากดึกดำบรรพ์ที่พบภายในถ้ำยายรวก อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ ผลการวิเคราะห์ไอโซโทป ยืนยันว่า พื้นที่กระบี่ในสมัยไพลสโตซีน หรือ เมื่อสองแสนปีที่แล้ว มีสภาพแวดล้อมเป็น “ทุ่งหญ้าสะวันนา” สลับป่าทึบเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับการย้ายถิ่นหรืออพยพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมไปยังหมู่เกาะต่างๆ


นอกจากนั้น ยังมีข้อสันนิษฐานว่า การกระจายตัวของไฮยีนาลงมาใต้สุดที่กระบี่นี้เป็นผลมาจากความไม่ต่อเนื่องของเส้นทางสะวันนา ที่ถูกคั่นด้วยป่าฝนในบริเวณซุนดาแลน ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นอยู่ทั่วไประหว่างคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย ในช่วงยุคน้ำแข็งในสมัยไพลสโตซีน ปัจจุบันพบไฮยีนาอาศัยอยู่บริเวณทุ่งหญ้าสะวันนาในทวีปแอฟริกาเท่านั้น
















กำลังโหลดความคิดเห็น