xs
xsm
sm
md
lg

สืบสานตำนาน “งานบุญทานไฟ” ชาวบ้านตรังร่วมบุญนับพันต่อเนื่องปีที่ 25

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - ชาวตำบลบ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง ร่วมสืบสานประเพณีโบราณ “งานบุญให้ทานไฟ” อย่างคึกคัก เพื่อสืบทอดประเพณีเก่าแก่ที่จัดต่อเนื่องมาถึง 25 ปีแล้ว และยังคงเหลือเพียงวัดเดียวในจังหวัด

วันนี้ (12 ก.พ.) เมื่อเวลา 04.00 น. ที่วัดควนนาแค หมู่ที่ 5 ต.บ้านควน อ.เมือง จ.ตรัง นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดงานบุญให้ทานไฟ ประจำปี 2568 โดยมีพระครูประยุตอัครธรรม เจ้าอาวาสวัดควนนาแค นายเอกพล ณ พัทลุง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านควน หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนจากตำบลบ้านควน รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่งจำนวนนับพันคน

จากนั้น พระประสิทธิโสภณ เจ้าอาวาสวัดประสิทธิชัย รองเจ้าคณะจังหวัดตรัง ประธานฝ่ายสงฆ์ ได้มารับภัตตาหารเช้า และแจกจ่ายขนมให้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมงาน หลังเสร็จพิธีพระภิกษุสงฆ์ได้สวดให้ศีลให้พรแก่ผู้ร่วมบุญ จากนั้นชาวบ้านได้ร่วมกันรับประทานอาหารในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสุข

นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวถึงความสำคัญของงานบุญให้ทานไฟว่า ถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า ซึ่งช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนมีโอกาสทำบุญร่วมกัน ซึ่งปีนี้คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา และยังช่วยเผยแพร่ขนมพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตรังให้คงอยู่สืบไป เพราะปัจจุบันประเพณีให้ทานไฟเริ่มลดน้อยลงและหาชมได้ยาก แต่วัดควนนาแคยังคงอนุรักษ์ไว้สืบต่อไป เพื่อให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้


สำหรับงานบุญดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่เวลา 03.30 น. ซึ่งชาวบ้านจะเดินทางมาร่วมกันจัดเตรียมอาหารสดใหม่ ทั้งคาวและหวาน โดยเฉพาะขนมพื้นบ้านที่หากินได้ยาก เช่น ขนมหม้อข้าวหม้อแกงลิง ขนมรู ขนมครก ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมโค ขนมพิมพ์ ขนมจาก ขนมจู่จุน ข้าวเหนียวกวนทอด ขนมกวนสาคู ขนมเทียน นอกจากนี้ ยังมีน้ำชา กาแฟ หมี่ผัด ข้าวต้ม ข้าวเหนียวหลาม ขนมปังปิ้ง และที่ขาดไม่ได้คือ “ขนมเบื้อง” หรือ “ขนมฝามี” ขนมโบราณอายุ 100 ปี ซึ่งต้องนำมาถวายพระตามความเชื่อแต่โบราณ

ทั้งนี้ วัดควนนาแค สภาวัฒนธรรมตำบลบ้านควน และ อบต.บ้านควน ได้ร่วมกันจัดงานนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 25 แล้ว เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมเก่าแก่ของชุมชน ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดเดียวในจังหวัดตรัง ที่ยังคงสืบทอดประเพณีให้ทานไฟ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ชาวบ้านได้ทำบุญเนื่องในวันมาฆบูชา พร้อมสร้างความรักและความสามัคคีในชุมชน

สืบเนื่องจากการให้ทานไฟ เป็นประเพณีโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยมีเรื่องเล่าว่า “โกสิยเศรษฐี” ผู้ตระหนี่แห่งเมืองราชคฤห์ ได้รับการโปรดจากพระมหาโมคคัลลานเถระ ทำให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา และถวายขนมเบื้อง (ขนมกุมมาส) แก่พระพุทธเจ้า และพระภิกษุ 500 รูป ต่อมาขนมเบื้องที่ถวายมีเหลือมาก จนต้องนำไปทิ้ง ณ ซุ้มประตูวัดเชตวัน สถานที่แห่งนี้จึงถูกเรียกว่า “เงื้อมขนมเบื้อง”

จากตำนานดังกล่าว พุทธศาสนิกชนจึงนิยมจัดพิธีให้ทานไฟ ในช่วงเดือนอ้ายหรือเดือนยี่ (ปลายเดือนธันวาคม-ต้นเดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวในภาคใต้ เพื่อถวายอาหารร้อนให้พระภิกษุสงฆ์คลายหนาว โดยก่อกองไฟในลานวัด และทำขนมถวายพระ








กำลังโหลดความคิดเห็น