คอลัมน์: จุดคบไฟใต้ โดย... ไชยยงค์ มณีพิลึก
ในที่สุด “ไฟใต้ระลอกใหม่” ที่เริ่มจากเหตุการณ์ปล้นปืนในกองพลพัฒนาที่ 5 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ก็ก้าวผ่านสู่ปีที่ 22 แล้ว ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาได้ “ทุ่มงบประมาณ” แก้ปัญหานี้รวมแล้ว 5.1 แสนล้านบาท แต่ไฟใต้ก็ยังคงโชนแสงต่อเนื่องไปแบบไม่เห็นแนวโน้มจะยุติลงได้
ปกติทุกปีช่วงครบรอบ “วันสัญลักษณ์ใหญ่” ที่ปืนในค่ายปิเหล็งถูกปล้นไปถึงกว่า 400 กระบอก แถมสังเวยชีวิตทหารไปด้วย 5 ศพนั้น มักต้องเหตุร้ายเกิดขึ้นเพื่อตอกย้ำให้สังคมได้รับรู้ เช่นเดียวกับ “วันเสียงปืนแตก” ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ที่เคยเกิดเหตุการณ์ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
แต่ช่วงครบรอบปี 2568 นี้อาจจะด้วยการป้องกันพื้นที่เป้าหมายได้อย่างรัดกุมของทั้งฝ่ายทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองและกองกำลังท้องถิ่น จึงทำให้กองกำลังติดอาวุธของบีอาร์เอ็นไม่สามารถทำให้ทั้งเสียงปืนและเสียงระเบิดดังสนั่นได้ แต่อย่างไรเสียก็ไม่ควรประมาท เพราะฝ่ายตรงข้ามเตรียมพร้อมตลอดเวลา
ทว่ายามใดที่เจ้าหน้าที่ไม่ว่าจะสังกัดหน่วยไหนตกอยู่ในอาการเหนื่อยล้า หรือย่ามใจจนประมาททำให้เกิดเปิดช่องโหว่เมื่อไหร่ เมื่อนั้นกองกำลังติดอาวุธบีอาร์เอ็นก็จะก่อเหตุในทันที อันเป็นไปตามแนวทาง “เป้าหมายชัด โอกาสมี ทางหนีพร้อม” ซึ่งประเมินว่าน่าจะได้เปรียบและไม่เกิดความสูญเสีย
ห้วง 2-3 เดือนมานี้หรือหลังจาก พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ เข้ารับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 พร้อมทำหน้าที่ ผอ.กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปรากฏว่า “งานการข่าว” ดีขึ้น ดูได้จากการปิดล้อมและจับกุมคนของขบวนการบีอาร์เอ็นที่กลับเข้าพื้นที่ไม่ว่าจะเยี่ยมบ้านหรือนัดแนวร่วมหารือเตรียมก่อเหตุได้มากขึ้น
ขณะเดียวกันก็พบว่า “แหล่งข่าว” ของเจ้าหน้าที่ได้ถูกปลิดชีพไปจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งเป็นเพราะฝ่ายบีอาร์เอ็นรู้ตัวคนชี้เบาะแส จึงเปิดปฏิบัติการตามแผน “ใบไม้ร่วง” เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ว่า หากเลือกที่จะยืนฝั่งตรงข้าม ส่งสัญญาณให้เจ้าหน้าที่ก็จะมีจุดจบเยี่ยงนั้น
ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่หน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องตระหนักและหาทางป้องกันเร่งด่วน ไม่อย่างนั้นจะกระทบงานการข่าวถึงขั้นหยุดชะงักได้ ซึ่งต่อไปยากจะหาผู้กล้าทำหน้าที่ปิดทองหลังพระ เมื่อขาดแหล่งข่าว ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็คงไม่ต่างจากคนตาบอดในทันที
มีอีกประเด็นสำคัญที่ควรแก่การให้ความสนใจคือ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและ รมว.กลาโหม ได้ให้ข่าวว่าจะรื้อ “นโยบายดับไฟใต้” เพราะใช้มาแล้ว 21 ปีทำไมไฟใต้จึงยังโชนแสงต่อเนื่องมา แถมยังไม่มีวี่แววว่าจะเห็นหนทางในการทำให้มอดดับลงได้ กลับมีแต่ยิ่งนานวันยิ่งลุกลาม
ประเด็นนี้สอดรับกับการที่ประชาชนในชายแดนใต้ต่างตั้งข้อสงสัยกันว่า เหตุที่ไฟใต้ยังโชนเปลวเป็นระยะๆ เป็นผลมาจาก “นโยบายเลี้ยงไข้” หรือเป็นแบบที่ในสภากาแฟของคนในพื้นที่ฉาวกันมานานนมแล้วว่า “หากแผ่นดินชายแดนใต้สงบ งบฯ ไม่มา” นั่นเอง
ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศจะรื้อนโยบายดับไฟใต้ของนายภูมิธรรมในครั้งนี้สอดรับกับความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร ผู้กุมบังเหียนรัฐบาลตัวจริง ที่เพิ่งดอดไปประชุมลับกับนายอันวา อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย บนเรือยอร์ชในน่านน้ำสากล ด้านทะเลอันดามันของ จ.สตูลมาหมาดๆ
ทั้งที่ก่อนหน้าไม่กี่วัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิ่งเดินทางกลับจากไปพบปะเจรจากับนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ซึ่งตอนนั้น นายภูมิธรรมยังสัมภาษณ์นักข่าวว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายดับไฟใต้ แต่จะเน้นด้านการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าเป็นหลัก
นอกจากนี้หลังดอดเจรจากันของนายทักษิณกับนายอันวาร์ ปรากฏว่า สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ส่งทีมไปยังรัฐกลันตันของมาเลเซีย เพื่อหารือกับแกนนำบีอาร์เอ็นว่าจะขับเคลื่อน “กระบวนการพูดคุยสันติสุข” กันต่อไปอย่างไร หลังต้องหยุดชะงักเพราะมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลไทยและโยกย้ายข้าราชการที่เกี่ยวข้อง
ทั้งหมดทั้งปวงจึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศรื้อโครงสร้างนโยบายดับไฟใต้อย่างปุบปับฉับพลันของรองนายกฯ และ รมว.กลาโหมดังกล่าวเป็นผลจากความต้องการและการสั่งการของนายทักษิณใช่หรือไม่
ความจริงแล้วการรื้อโครงสร้างนโยบายดับไฟใต้เสียใหม่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพียงแต่มีสิ่งที่ยังต้องเป็นห่วงกันอยู่คือ เป็นความต้องการและสั่งการของ “ท่านผู้นำที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล” อีกทั้ง “ท่านผู้นำเสือเหลือง” เองก็มีความโน้มเอียงไปในทางหนุน “กลุ่มยุวมุสลิม” ที่ให้การสนับสนุนขบวนการบีอาร์เอ็น
ว่ากันที่จริงนายกฯ มาเลเซียนับตั้งแต่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด เรื่อยมาทุกคน ต่างโน้มน้าวให้นายกฯ ไทยแก้ปัญหาด้วยการยอมให้ผืนแผ่นดินชายแดนใต้ได้เป็น “เขตปกครองตนเอง” ซึ่งผู้นำไทยทุกคนต่างรับฟัง แต่ไม่ใส่ใจแม้กระทั่งนำไปหารือหน่วยงานความมั่นคงแต่อย่างใด
ดังนั้นก็ต้องจับตากันต่อไปว่า การประกาศรื้อนโยบายดับไฟใต้ใหม่ของนายภูมิธรรม สุดท้ายแล้วจะเดินเข้าสู่ “กับดัก” ของบรรดาผู้นำมาเลเซียที่พยายามขุดบ่อล่อไว้หรือไม่ เพราะถ้ามีแนวโน้มโอนเอนไปในทางนั้น นั่นไม่เท่ากับว่าบีอาร์เอ็นได้กำชัยไปครึ่งแล้วล่ะหรือ?
และถ้าเป็นไปตามนั้นจริง นั่งย่อมแสดงว่าชัยชนะในส่วนที่เหลืออีกครึ่งนั้น บีอาร์เอ็นคงใช้เวลาอีกไม่นานก็น่าจะ “สถาปนารัฐใหม่” ตามความต้องการของทั้งฝ่ายมาเลเซีย รวมถึงองค์กรชาติตะวันตกต่างๆ ที่พยายามเข้ามาแทรกแซงให้การเกื้อหนุนอุ้มชูขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ของไทยมาตลอด
ดังนี้แล้ว “สังคมไทย” ต้องช่วยกันจับตามมองต่อไปว่า สมช.ที่จะรับหน้าเสื่อเป็นผู้ออกแบบนโยบายและโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อดับไฟใต้ใหม่ สิ่งนั้นจะเป็นไปตามความต้องการและคำสั่งของ “นักการเมือง” หรือไม่ อย่างไร
ที่สำคัญที่สุดคือนโยบายและโครงสร้างดับไฟใต้ใหม่ที่จะมีขึ้น สิ่งนั้นจะทำให้รัฐบาลเสียเปรียบ หรืออาจจะถึงขั้นสูญเสียแผ่นดินให้แก่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่ามาเลเซียกับบีอาร์เอ็นคือ “พวกเดียวกัน” นั่นเอง
ท้ายที่สุดก็ได้แต่หวังว่า หากมีการรื้อนโยบายและโครงสร้างมาตรการดับไฟใต้ครั้งใหม่จริง สิ่งนั้นคงไม่ทำให้ “ผืนแผ่นดินปลายด้ามขวาน” ตกเป็นของขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็นเร็วขึ้นกว่าเดิม