xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นลุกลาม! ตรังพบโรคปากเท้าเปื่อยระบาดในโคมานานร่วมเดือน แต่ไม่มีประกาศเขตภัยพิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรัง - พบโรคปากเท้าเปื่อยระบาดในโค ในพื้นที่ อ.มืองตรัง มานานร่วมเดือนแล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อควบคุมและป้องกันการเคลื่อนย้ายสัตว์ หวั่นทำให้ลุกลามไปอีกหลายอำเภอ

วันนี้ (17 ม.ค.) ที่หมู่ที่ 4 ต.นาท่ามใต้ อ.เมืองตรัง จ.ตรัง ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบหลังมีกระแสข่าวว่า มีโคหรือวัวของเกษตรกรติดเชื้อโรคระบาดปากเท้าเปื่อยมานานแล้ว ตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้นำวัคซีนไปแจกให้แก่ชาวบ้านนำไปฉีดวัวของตนเองเพื่อป้องกัน หลังจากมีการนำเสนอข่าวโคติดเชื้อในพื้นที่อำเภอห้วยยอด โดยบางคนนำไปฉีด บางคนฉีดไม่เป็น และบางคนไม่ได้ฉีด เพราะไม่มีประสบการณ์เกี่ยวกับโรคระบาด ส่วนยาแก้ไข้ ยาฆ่าเชื้อ และยาบำรุง เกษตรกรบางคนจ้างให้คนฉีดให้ จนต้องเสียเงินหลายบาท

แต่ที่สำคัญคือ ขณะนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรังยังไม่ได้มีการประกาศให้อำเภอเมืองตรัง เป็นเขตภัยพิบัติ เพื่อควบคุมพื้นที่การระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยในโคไม่ให้ขยายวงกว้าง และไม่ได้แจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด ซึ่งเสี่ยงว่าอาจจะมีวัวติดเชื้อเพิ่มอีกในพื้นที่อื่นๆ ตามมา เพราะการเคลื่อนย้ายสัตว์ และการไปมาหาสู่ของคนเลี้ยงวัวยังคงมีอยู่ รวมทั้งนกยังเป็นพาหะของโรคระบาดได้อีกด้วย โดยล่าสุดมีวัวตายไปแล้วรวมประมาณ 7-8 ตัว ทั้งแม่วัว ลูกวัว และวัวชน

นายจำนงค์ สีนา อายุ 69 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่ 4 ตำบลนาท่ามใต้ อำเภอเมืองตรัง บอกว่า ตนมีวัวทั้งหมด 21 ตัว ป่วยติดเชื้อทุกตัว และมีลูกวัวตายไปแล้ว 3 ตัว ทั้งที่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันไปก่อนแล้วนานเป็นเดือน แต่สงสัยว่าทำไมวัวถึงยังมาติดเชื้อ ภาพรวมในพื้นที่หมู่ที่ 4 มีวัวตายไปแล้วหลายตัว และติดเชื้ออีกจำนวนมาก บางตัวยังมีอาการเซื่องซึม ซูบผอม บางตัวป่วยเท้าเป็นแผลบวม เล็บหลุด ยังเดินไม่ได้ ต้องตัดหญ้าไปป้อนให้ และยังไม่ได้มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเชื้อโรคปากเท้าเปื่อยระบาดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยในโคของจังหวัดตรัง ขณะนี้พบเชื้อทั้งหมด 4 อำเภอ คือ อำเภอเมืองตรัง อำเภอวังวิเศษ อำเภอห้วยยอด และอำเภอรัษฎา แต่ยังมีการประกาศเขตภัยพิบัติโรคระบาดเพียงจุดเดียวคือ ที่หมู่ที่ 4 ตำบลห้วยนาง อำเภอห้วยยอด โดยล่าสุดทางกรมปศุสัตว์ได้ระดมเจ้าหน้าที่ลงมาร่วมควบคุมสถานการณ์แล้ว ในพื้นที่อำเภอห้วยยอด และอำเภอรัษฎา แต่บางพื้นที่ยังมีการปกปิดข้อมูล และไม่มีการควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ ทำให้เกษตรกรหวั่นเชื้อจะลุกลาม


กำลังโหลดความคิดเห็น